นักเรียนไทยสะพายกระเป๋าหนักไปไหม

นักเรียนไทยสะพายกระเป๋าหนักไปไหม

เป้นักเรียนทั่วโลกนับวันมีขนาดใหญ่ขึ้น น้ำหนักมากขึ้น กระทบสุขภาพ

ช่วงนี้หลายโรงเรียนเปิดเทอม ลูกผมก็เช่นกัน เห็นเด็กๆ สะพายกระเป๋านักเรียนขึ้นหลังแล้ว มีข้อสงสัยว่ากระเป๋าหนักไปไหม วันนี้จะนำงานวิจัยเกี่ยวกับกระเป๋านักเรียนและผลกระทบต่อสุขภาพมาเล่าสู่กันฟังครับ

เริ่มที่บทความในนิตยสาร Time ชื่อ 'Your Kid's Gigantic Backpack Is a Health Risk' ที่พูดถึงผลกระทบของเป้สะพายหลังต่อสุขภาพนักเรียน โดยสรุปพบว่า เป้นักเรียนทั่วโลกนับวันมีขนาดใหญ่ขึ้น น้ำหนักมากขึ้น กระทบสุขภาพนักเรียนถ้วนหน้า พร้อมยกตัวอย่างงานวิจัยหลายชิ้น เช่น

'The effect of backpacks on the lumbar spine in children: a standing magnetic resonance imaging study' (ปี 2010) ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก ที่พบว่าเป้สะพายหลังที่หนักไป ส่งผลให้เด็กมีอาการปวดหลังอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังกระทบต่อความสูงและความสมดุลของโครงสร้างร่างกายเด็ก

'School children's backpacks, back pain and back pathologies' (ปี 2012) ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร Archives of Disease in Childhood กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนในประเทศสเปนอายุ 12-17 ปีจำนวน 1,403 คน พบว่า 61.4% ของนักเรียนใช้เป้สะพายหลังที่มีน้ำหนักเกิน 10% ของน้ำหนักตัว และนักเรียนที่แบกเป้หนักมากๆ ก็มีความเสี่ยงเจ็บหลังสูงกว่าคนอื่นถึง 50% โดยเพศหญิงมีความเสี่ยงปวดหลังมากกว่าเพศชาย

อีกงานศึกษาชื่อ 'School backpacks: It's more than just a weight problem' (ปี 2009) สำรวจผลกระทบของกระเป๋าเป้ในเด็กอายุ 10-18 ปี จำนวน 871 คน พบว่า ครึ่งหนึ่งของนักเรียนตอบว่า รู้สึกเป้ตัวเองหนักกกก และ 33.5% ของนักเรียนมีอาการเจ็บหลัง ปัจจัยที่มีผลต่ออาการเจ็บหลังได้แก่ น้ำหนักกระเป๋า ระยะเวลาที่สะพายกระเป๋า ท่าที่ใช้สะพาย ส่วนบทความชื่อ 'Association of relative backpack weight with reported pain, pain sites, medical utilization, and lost school time in children and adolescents' (ปี 2007) ตีพิมพ์ในนิตยสาร Journal of School Health สรุปว่า น้ำหนักเป้สะพายหลังที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 10% ของน้ำหนักตัวนักเรียน โดยน้ำหนักเป้สะพายหลังที่มากขึ้นเพิ่มความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บบริเวณหลังช่วงบนและหลังช่วงกลาง ผลกระทบนี้ยังส่งผลต่อการขาดเรียนและความสามารถในการเล่นกีฬาด้วย

อีกบทความชื่อ 'Correlation between backpack weight and way of carrying, sagittal and frontal spinal curvatures, athletic activity, and dorsal and low back pain in schoolchildren and adolescents' (ปี 2004) ตีพิมพ์ในนิตยสาร Journal of Spinal Disorders and Techniques ผู้วิจัยสำรวจข้อมูลจากนักเรียนอายุ 9-15 ปี จำนวนมากถึง 3,441 คนที่ใช้เป้สะพายหลังไปโรงเรียน พบว่า ในเด็กอายุเท่ากัน เด็กที่มีความสูงน้อยกว่าได้รับผลกระทบจากเป้สะพายหลังมากกว่า

นายแพทย์ Rob Danoff แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและกล้ามเนื้อ แกนนำรณรงค์เรื่องการใช้เป้สะพายหลังของเด็กให้เหมาะสม ชี้ว่ากระดูกสันหลังทำหน้าที่พยุงร่างกายให้ตั้งตรงและเป็นรูปเป็นร่าง การใส่น้ำหนักที่มากเกินไปบนร่างกายส่งผลต่อสรีระ การวางท่าทาง รูปร่างกระดูกสันหลัง และการเจริญเติบโตของเด็ก ทั้งปัญหาเหล่านี้สามารถสั่งสมไป จนกระทบต่อเด็กเมื่อมีอายุมากขึ้น

แล้วกระเป๋าควรหนักเท่าไร?

งานวิจัยชี้ว่า เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ปวดหลังหรือบาดเจ็บ ถ้าเอาแบบปลอดภัยๆ กระเป๋าไม่ควรหนักเกิน 10% ของน้ำหนักตัวเด็ก
ซึ่งจะเห็นว่าน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับที่ลูกเราแบกกัน

ทั้งนี้ มีเคล็ดลับมากมาย ที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ

1. พวกเราพ่อแม่ ควรตรวจของที่อยู่ในกระเป๋าว่าเป็นสิ่งจำเป็นจริงหรือไม่ ผลสำรวจพบว่า กระเป๋าส่วนใหญ่ใส่ของมากไปและไม่จำเป็น ซึ่งเป็นตัวการสำคัญสุดที่ทำให้กระเป๋าหนักเกินไป

2. การจัดวางสิ่งของในกระเป๋าก็ช่วยบรรเทาผลกระทบได้ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้วางสิ่งของที่หนักไว้ตรงกึ่งกลางกระเป๋าและชิดกับส่วนหลังของเด็ก

3. เพื่อความสมดุล ควรสะพายกระเป๋าโดยคาดบนไหล่ทั้งสองข้าง ไม่สะพายเพียงข้างใดข้างหนึ่ง

4. กระเป๋าควรได้สัดส่วนกับขนาดตัวของเด็ก ส่วนก้นกระเป๋าควรพอดีกับเอว สายสะพายของกระเป๋าควรกว้างพอสมควรเพื่อกระจายน้ำหนักบนบ่าและคอ ป้องกันการกดทับบริเวณหนึ่งมากเกินไป กระเป๋าควรมีแผ่นรองบริเวณหลังและบริเวณก้นเพื่อช่วยให้การกระจายน้ำหนักดีขึ้น

ทุกท่านครับ หลังอ่านบทความพวกนี้ สารภาพว่าเดี๋ยวนี้ผมขยันดูกระเป๋าลูกมากขึ้น พยายามเอาของที่ไม่จำเป็นออก จัดของหนักๆ ชิดด้านในติดบริเวณหลังลูก และก็ปรับกระเป๋าให้ส่วนก้นกระเป๋าอยู่ที่บริเวณเอว

ชวนทุกคนไปสำรวจกระเป๋านักเรียนลูกกันครับ