การปันผลทางประชากรระยะ 3: สู่สังคมสูงวัยระดับสูงสุดของไทย

การปันผลทางประชากรระยะ 3: สู่สังคมสูงวัยระดับสูงสุดของไทย

การปันผลทางประชากร (Demographic Dividend) เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ในทางทฤษฎีนั้น ประเทศหนึ่งๆ

อาจมีโอกาสด้านการปันผลทางประชากรได้ 3 ระยะ โดยการปันผลทางประชากรระยะที่ 1 เกิดขึ้นเมื่อประชากรวัยแรงงานมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นเป็นกลุ่มประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ อัตราการพึ่งพิงอยู่ในระดับต่ำ การปันผลทางประชากรระยะที่ 2 อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงที่ประชากรสูงวัยมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น โดยมีการสั่งสมความมั่งคั่งต่อหัว จากผลิตภาพของกำลังแรงงานตั้งแต่ในช่วงที่มีการปันผลทางประชากรระยะที่ 1 ส่วนการปันผลทางประชากรระยะที่ 3 เป็นแนวคิดที่องค์การอนามัยโลก เพิ่งพัฒนาขึ้นมาเป็นการขยายโอกาสเพิ่มขึ้นจากการปันผลทางประชากรระยะที่ 2 จากทุนทางสังคมในสังคมสูงวัย นอกเหนือจากทุนทางเศรษฐกิจ โดยการปันผลทางประชากรระยะที่ 3 นี้มีเงื่อนไขสำคัญอยู่ที่การเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ ให้ประชากรมีชีวิตยืนยาวขึ้นอย่างมีสุขภาพดีที่ดีขึ้นโดยถ้วนหน้า บทความนี้วิเคราะห์ให้เห็นว่า การปันผลทางประชากรระยะที่ 3 เป็นเรื่องที่เป็นไปได้หากมีนโยบายที่เหมาะสม โดยเสนอว่า สังคมอายุวัฒน์อย่างมั่งคั่งและมีสุขภาวะ คือ ทางออกของประเทศไทยในการบรรลุทั้งการปันผลทางประชากรระยะที่ 2 และ 3 ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังก้าวย่างสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ และเป็นสังคมสูงวัยในระดับสูงสุดต่อไปในเวลาอีกไม่นานนี้

การปันผลทางประชากร: โอกาส 3 ระยะ

การปันผลทางประชากร (Demographic Dividend) เป็นปรากฏการณ์ที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้เรียกโอกาสทางเศรษฐกิจ ที่ส่งผลมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร (Demographic transition) หรือที่ผู้เขียนขอเรียกเป็นภาษาง่ายๆ ธรรมดาๆ ว่า “ช่วงโอกาสทองทางเศรษฐกิจจากการเปลี่ยนแปลงทางประชากร” ซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นแนวคิดเชิงทฤษฏีที่ว่า ประเทศหนึ่งๆ มีโอกาสทางเศรษฐกิจเพียงครั้งเดียวจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากร (Bloom et al. 2002) ต่อมาเมื่อมีการพิจารณาให้ลึกซึ้งมากขึ้น มีการปรับมุมมองถึงโอกาสใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อีก ในปัจจุบัน จึงมีการจำแนกโอกาสทางเศรษฐกิจจากการเปลี่ยนแปลงทางทางประชากรเป็น 3 ระยะ ได้แก่ การปันผลทางประชากรระยะที่ 1 (1st Demographic Dividend) การปันผลทางประชากรระยะที่ 2 (2nd Demographic Dividend) และการปันผลทางประชากรระยะที่ 3 (3rd Demographic Dividend)

กรณีศึกษาของหลายประเทศ  ชี้ให้เห็นว่า การปันผลทางประชากรระยะที่ 1 นั้น ต้องอาศัยเงื่อนไขสำคัญ 4 ประเภท คือ เงื่อนไขด้านตัวแปรทางประชากร เงื่อนไขด้านเงื่อนเวลา เงื่อนไขด้านคุณภาพประชากร และเงื่อนไขด้านนโยบายรัฐ  ดังสรุปไว้ใน ตารางที่ 1

การปันผลทางประชากรระยะ 3: สู่สังคมสูงวัยระดับสูงสุดของไทย

ภาพที่ 1 แสดงให้เห็นว่า โอกาสทองทางเศรษฐกิจด้านการปันผลทางประชากรระยะที่ 1 หรือระยะแรกของไทยกำลังเลือนจางลงหลังจากปี พ.ศ. 2554 และจะยังคงลดลงต่อไป จากการที่ประชากรวัยแรงงาน (อายุ 15-59 ปี) ซึ่งเป็นวัยที่กำลังทำงาน (Stock of labor) ได้เพิ่มสัดส่วนเพียงเล็กน้อยจากร้อยละ 66 ในปี พ.ศ. 2543 เป็น ร้อยละ 67 ในปี พ.ศ. 2553 แล้วเปลี่ยนทิศทางสู่แนวโน้มของการลดสัดส่วนลงอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีสัดส่วนเหลือเพียงร้อยละ 58.6 และร้อยละ 55.1 ในปี พ.ศ. 2573 และ พ.ศ. 2583 ตามลำดับ โดยสัดส่วนของประชากรวัยเด็ก (อายุต่ำกว่า 15 ปี)  ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่จะกลายเป็นกำลังแรงงานต่อไปในอนาคต (Flow of labor) ของไทย มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องหลังจากก่อนหน้าแล้ว จากร้อยละ 29.2 ในปี พ.ศ. 2533 เหลือร้อยละ 14.8 และร้อยละ 12.8 ในปี พ.ศ. 2573 และพ.ศ. 2583 ตามลำดับ ในขณะที่ประชากรวัยสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) กำลังเพิ่มสัดส่วนอย่างรวดเร็ว จากร้อยละ 7.4 ในปี พ.ศ. 2533 เป็นร้อยละ 26.6 และร้อยละ 32.1 ในปี พ.ศ. 2573 และ พ.ศ. 2583 ตามลำดับ

การปันผลทางประชากรระยะ 3: สู่สังคมสูงวัยระดับสูงสุดของไทย

ที่มา : ปี 2513, 2533, 2543 จากข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะ, สำนักงานสถิติแห่งชาติ; ปี 2553-2583 จากการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2583, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

การปันผลทางประชากรระยะที่ 2 เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงที่โครงสร้างทางประชากรเปลี่ยนแปลงไปลักษณะที่ประชากรสูงวัยมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น โดย Mason and Lee (2004) ผู้บุกเบิกแนวคิดว่าด้วยการปันผลทางประชากรระยะที่ 2 นั้น ชี้ให้เห็นว่า การปันผลทางประชากรระยะที่ 2 เกิดจากการสั่งสมความมั่งคั่ง ซึ่งความมั่งคั่งต่อหัว (Wealth per Capita) สามารถเพิ่มขึ้นได้เมื่อประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น ทั้งนี้ การที่ประเทศหนึ่งจะมีการปันผลทางประชากรระยะที่ 2 ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอไป หากแต่จะต้องมีการเตรียมตัวอย่างเหมาะสมตั้งแต่ในช่วงที่มีการปันผลทางประชากรระยะที่ 1 มาก่อนในมิติเชิงคุณภาพของประชากรมาอย่างยาวนานพอสมควรโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านผลิตภาพ (Productivity) ของกำลังแรงงาน

ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากรในลักษณะที่แสดงไว้ในภาพที่ 1 เห็นได้ว่า ช่วงของโอกาสแห่งการรับการปันผลทางประชากรระยะที่ 1 ของไทยเป็นช่วงเวลาที่ไม่ยาวนานนัก  ในขณะที่ผลิตภาพกำลังแรงงานของไทยอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก กล่าวคือ ในช่วงทศวรรษก่อนซึ่งประชากรวัยแรงงานยังคงเพิ่มขึ้นทั้งในด้านจำนวนและสัดส่วน โดยอัตราการพึ่งพิงยังคงต่ำอยู่นั้น ถึงแม้ว่าผลิตภาพแรงงานของไทยยังคงสูงกว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในอาเซียน แต่ก็นับว่าต่ำกว่าผลิตภาพแรงงานของสิงคโปร์และมาเลเซีย ทั้งๆ ที่จำนวนประชากรวัยแรงงานของไทยได้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2 ระหว่างปี พ.ศ. 2503-2553 ซึ่งมากกว่าสิงคโปร์  ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2553 ไทยมีระดับผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยต่อแรงงานอยู่ที่ 6.4 เหรียญสหรัฐอเมริกา ซึ่งต่ำกว่าของสิงคโปร์ บรูไน ดารุสซาลาม และมาเลเซียถึง 9.4, 6.8 และ2.5 เท่า ตามลำดับ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในอาเซียน ผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยนต่อแรงงานของไทยสูงกว่าของอินโดนีเซียเพียง 1.4 เท่า และสูงกว่าของฟิลิปปินส์เพียง 1.6 เท่า เป็นต้น

 

งานศึกษาที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า ผลิตภาพแรงงานของไทยมีการขยายตัวในระดับค่อนข้างต่ำ คือ เพียงประมาณร้อยละ 2.6 และด้วยแนวโน้มที่ลดลงระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2545-2553 โดยผลิตภาพแรงงานที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นในส่วนของภาคการผลิตส่วนใหญ่ (ร้อยละ 4.9) ในขณะที่ภาคการเกษตรมีผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.6 ส่วนภาคการก่อสร้าง การค้า อสังหาริมทรัพย์ การบริหารราชการแผ่นดิน การบริการสุขภาพและสังคมสงเคราะห์มีผลิตภาพแรงงานลดต่ำลง ทั้งๆ ที่มีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น  นอกจากนี้ ข้อมูลเมื่อปี พ.ศ. 2550 ชี้ว่าประเทศไทยมีครัวเรือนที่เป็นหนี้ถึงร้อยละ 63.3 ของครัวเรือนทั้งหมด และถึงแม้ว่าสัดส่วนดังกล่าวได้ลดลงเหลือร้อยละ 49.1 ในปี 2558 แต่หนี้สินของครัวเรือนที่เป็นหนี้กลับเพิ่มขึ้นจาก 184,342 บาท/ครัวเรือน/เดือน ในปี พ.ศ. 2550 เป็น 319,326 บาท/ครัวเรือน/เดือนในปี 2558

จึงกล่าวได้ว่า การปันผลทางประชากรระยะที่ 1 ของไทยในช่วงที่ผ่านมานั้นมีไม่มากนัก ซึ่งมีนัยสำคัญต่อว่า โอกาสที่ไทยจะได้รับการปันผลทางประชากรระยะที่ 2 จะมีหรือไม่ และหากมี อาจไม่มากนั้น หากปราศจากการปรับตัวในเชิงนโยบายที่เหมาะสมก่อนที่โอกาสแห่งการปันผลทางประชากรระยะที่ 1 จะสิ้นสุดลง

การปันผลทางประชากรระยะที่ 3 เป็นแนวคิดที่องค์การอนามัยโลก (2015) เพิ่งพัฒนาขึ้นมา ถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากต้นทุนทางสังคมของประชากรสูงวัยต่อประชากรรุ่นบุตรหลาน เมื่อประชากรสูงวัยมีชีวิตยืนยาวขึ้นอย่างมีสุขภาพที่ดี เป็นการขยายโอกาสเพิ่มขึ้นจากการปันผลทางประชากรระยะที่ 2 จากการที่ประชากรสูงวัยได้สั่งสมความมั่งคั่งไว้ โดยการปันผลทางประชากรระยะที่ 3 นี้มีเงื่อนไขสำคัญอยู่ที่การเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ ให้ประชากรมีชีวิตยืนยาวขึ้นอย่างมีสุขภาพดีที่ดีขึ้นโดยถ้วนหน้า เห็นได้จากที่กล่าวไว้ในรายงานระดับโลกว่าด้วยการสูงวัยและสุขภาพ (World Report on Ageing) ว่า หากสามารถทำให้คนมีสุขภาพดีไปตลอดจนถึงช่วงวัยที่แก่ที่สุดได้ จะเป็นพื้นฐานต่อการที่ประเทศหนึ่งๆ จะได้รับการปันผลทางประชากรระยะที่ 3  การผสานโอกาสจากการปันผลทางประชากรระยะที่ 2 ให้สามารถต่อไปยังโอกาสของการปันผลทางประชากรระยะที่ 3 จะช่วยให้สังคมแข็งแกร่งขึ้นและร่ำรวยขึ้น ช่วยให้เยาวชน หรือ กลุ่มประชากรที่จะกลายเป็นกำลังแรงงานต่อไปในอนาคตดังที่กล่าวไว้ข้างต้น สามารถก้าวสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่มากขึ้น อีกทั้งช่วยยกระดับความสามารถในการที่สังคมจะให้การสนับสนุนด้านมนุษยธรรมที่จำเป็นในยามบั้นปลายของชีวิตของคนในสังคมเอง ซึ่งนับเป็นการปันผลทางประชากรที่ส่งผลอย่างยืนยาวตราบนานเท่านาน เป็นที่ทราบกันว่า การป้องกันโรค เป็นเรื่องที่ทำได้กับคนทุกวัย แม้ในยามที่คนเราอยู่ในวัยที่เรียกว่า แก่ที่สุดก็ตาม การปันผลทางประชากรระยะที่ 3 นี้จึงถือว่า การป้องกันโรคและการส่งเสริมสุขภาพเป็นการลงทุนที่สำคัญ

การอำนวยให้ประชากรสูงวัยมีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จของประชากรรุ่นหลังๆ ซึ่งรวมไปถึงรุ่นหลาน รุ่นเหลนได้นั้น

จำเป็นต้องอาศัยบทบาทในเชิงสถาบัน ทั้งในการทำให้ประโยชน์ทางสังคมเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจริงจัง และในการสร้างเสริมสุขภาพให้ดียิ่งขึ้นยามสูงวัย ทั้งนี้ การสร้างวิสัยทัศน์ใหม่ด้านโอกาสนานัปการจากการสูงวัย นับเป็นย่างก้าวแรกที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการได้รับประโยชน์จากการที่คนเรามีชีวิตยืนยาวและทำให้การปันผลทางประชากรระยะที่ 3 เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน

ดังนั้น การสร้างโอกาสแห่งการปันผลทางประชากรระยะที่ 3 จึงจำเป็นที่จะต้องมีการจัดกระบวนความคิดกันใหม่

เกี่ยวกับการกำหนดเป้าหมายที่เราจะก้าวไปด้วยกันให้บรรลุได้ ด้วยการกำหนดเป้าหมายในการเป็นสังคมสูงวัยอย่างประสบความสำเร็จ ซึ่งต้องมีการลงทุนในสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง 3 ด้าน คือ

1) ด้านการศึกษา

2) ด้านการป้องกันโรคและการส่งเสริมสุขภาพ เพื่อให้คนในสังคมมีสุขภาพทีดีแม้เมื่อสูงวัย ให้คนในสังคมมีชีวิตอยู่อย่างแข็งแรงยืนยาวมากขึ้น

3) ด้านสถาบันทางสังคมแนวใหม่ซึ่งมีบทบาทให้ประชากรสูงวัยมีงานทำโดยได้รับค่าตอบแทนอย่างมีศักดิ์ศรีในลักษณะที่อำนวยให้ประชากรสูงวัยสามารถอำนวยประโยชน์ต่อโอกาสของคนรุ่นหลังๆ ได้มากยิ่งขึ้น สร้างทุนทางสังคมให้เกิดมากขึ้นจากรุ่นหนึ่งไปถึงรุ่นต่อๆ ไปอย่างต่อเนื่อง ในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความจำเป็นที่ไม่ได้รับการตอบสนองทั้งหลายที่สำคัญๆ ตลอดจนการสร้างเสริมสุขภาวะแก่ประชากรสูงวัยในการอำนวยให้ประชากรสูงวัยนั้นสามารถทำและมีบทบาทดังกล่าวได้สำเร็จ

บทความนี้ สรุปมาจากบทที่ 6 ของหนังสือ “ประเทศไทย ในความคิดของเมธีวิจัยอาวุโส]

โดย... 

ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน

นักวิจัยอาวุโส

สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย       

ศ.ดร.พัชราวลัย วงศ์บุญสิน

วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย