เปิดตัวเลขทางเศรษฐศาสตร์ ความคุ้มค่าของพื้นที่ป่าชายเลน

เปิดตัวเลขทางเศรษฐศาสตร์  ความคุ้มค่าของพื้นที่ป่าชายเลน

ป่าชายเลน เป็นแหล่งทรัพยากรที่มีคุณค่าจากความหลากหลายทางด้านชีวภาพสูง แม้จะทราบว่าป่าชายเลนมีประโยชน์ทั้งในการเป็นแหล่งอาหาร

แหล่งเพาะพันธุ์ อนุบาลสัตว์น้ำ แหล่งพลังงาน หรือช่วยลดความเสียหายเมื่อเกิดภัยทางธรรมชาติ แต่ที่ผ่านมายังขาดข้อมูลตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน ขณะที่ปัจจุบัน พื้นที่ป่าชายเลนมีอยู่ราว 1.5 ล้านไร่ ต้องเผชิญกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการทรัพยากร นโยบายการอนุรักษ์และการฟื้นฟู จึงเป็นที่มาของการศึกษา โครงการวิจัยมูลค่าเศรษฐกิจของระบบนิเวศป่าชายเลนในด้านต่างๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

คำถามที่ตามมาคือ เราจะใช้ที่ดินแบบไหนที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมมากที่สุด การศึกษานี้ จึงมีเป้าหมายเพื่อวิเคราะห์มูลค่าเศรษฐกิจของระบบนิเวศป่าชายเลนด้านต่างๆ เพื่อให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับมูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะสูญเสียไป หากมีการนำไปใช้ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ และเพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับประโยชน์ที่จะได้หากจะมีการลงุทนเพื่อการอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลน 

โครงการนี้ ได้ทบทวนงานวิจัยก่อนหน้านี้ และนำมาวิเคราะห์หรือประเมินมูลค่าเศรษฐกิจหลายๆ ด้าน ครอบคลุมพื้นที่ป่าชายเลนให้มากขึ้น ทั้งฝั่งอ่าวไทย - อันดามัน ใน 3 ส่วน คือ 1.มูลค่าจากการใช้ประโยชน์ด้านการประมง 2.มูลค่าจากการใช้ทางอ้อมในด้านประโยชน์ในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอน และ 3.มูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้

ดังนั้นเพื่อวิเคราะห์มูลค่าจากการใช้ทางตรง ด้านการประมง จึงมีการสัมภาษณ์ชาวประมงทั้งหมด 778 ราย จากพื้นที่ 42 หมู่บ้าน ใน จ.สมุทรสงคราม ตราด ระนอง สุราษฏร์ธานี และพังงา เพื่อเป็นตัวแทนของพื้นที่ชายฝั่งทะเลของแต่ละภาค พบว่า สัตว์น้ำที่ชาวประมงชายฝั่งจับได้ทั้งหมด 90 ชนิด มี กุ้ง 8 ชนิด ได้แก่ กุ้งกุลาดำ กุ้งขาว กุ้งแชบ๊วย กุ้งมังกร กุ้งลายเสือก กุ้งหัวมัน และกุ้งเรียว รวมถึงกั้งแก้ว ปู 8 ชนิด คือ ปูกะตอย ปูขาว ปูดาว ปูดำ ปูแดง ปูม้า ปูแสม และปูหิน หอย 7 ชนิด ได้แก่ หอยขาว หอยแครง หอยแฉลบ หอยตลับ หอยนางรม หอยแมลงภู่ หอยหลอด นอจากนี้ ยังมีหมึก แมงดา และปลิง ส่วนชนิดของปลาที่พบมีประมาณ 42 ชนิด ในจำนวนนี้มีทั้งที่จับในป่าชายเลน บริเวณหาดเลน และในบริเวณทะเลเปิด แต่ไม่ว่าจะจับได้ที่ใด ประมาณ 90% เป็นสัตว์น้ำที่ต้องอาศัยป่าชายเลน ที่แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่อาศัยป่าชายเลนตลอดวงจรชีวิต และกลุ่มที่อาศัยในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต และจากการคำนวณรายได้สุทธิ พบว่า มูลค่า(รายได้สุทธิ)จากป่าชายเลนในด้านการประมงพื้นที่ต่อไร่สูงสุด คือ อ.เมืองสมุทรสงคราม เท่ากับ 5,015 บาท รองลงมา อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี 1,766 บาท (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งพื้นที่ และประเภทสัตว์น้ำที่จับได้)

มูลค่าที่ได้มีความแตกต่างกันระหว่างพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งอ่าวไทย - อันดามัน และประโยชน์ในแง่การประมงนั้น มีมากกว่าที่เราคิดไว้เพราะไม่ใช่แค่สัตว์น้ำที่จับได้ในป่าชายเลน แต่รวมถึงสัตว์น้ำที่จับได้ทั้งในบริเวณปะการังและในบริเวณทะเลเปิด ที่อาศัยป่าชายเลนในช่วงใดช่วงหนึ่งของวงจรชีวิต ดังนั้น หากไม่มีพื้นที่ป่าชายเลน การประมงก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย” 

เปิดตัวเลขทางเศรษฐศาสตร์  ความคุ้มค่าของพื้นที่ป่าชายเลน

สำหรับการวิเคราะห์ มูลค่าจากการใช้ทางอ้อมในด้านการดูดซับและกักเก็บคาร์บอน ได้นำข้อมูลของราคาที่ดินในพื้นที่ชายฝั่งทะเล ใช้เป็นตัวแทนต้นทุนค่าเสียโอกาสของที่ดิน มาวิเคราะห์ร่วมกับปริมาณของคาร์บอนหรือสต๊อกคาร์บอนที่สะสมอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลน มูลค่าหรือราคาที่จำหน่ายในตลาดที่รับซื้อคาร์บอนเครดิด อาทิ ตลาดEuropean Union Emission Trading System (EU ETS)หรืออียู, ตลาดซื้อขายโดยสมัครใจ (Voluntary Carbon Market)และต้นทุนทางสังคมของคาร์บอน (ต้นทุนทางสังคมคาร์บอน: Social cost of Carbon หมายถึง คาร์บอนฯ 1 ตัน หากถูกปล่อยออกไปสู่ชั้นบรรยากาศจะก่อให้เกิดความเสียหายคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึงประมาณ 40 ดอลล่าร์ต่อ 1 ตันคาร์บอนฯ ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่สูงมาก)นั้น มีที่ไหนบ้าง

ผลการศึกษาพบว่า หากใช้ราคามูลค่าการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตของตลาดอียู(EU ETS)และตลาดซื้อขายโดยสมัครใจ จะมีพื้นที่ที่คุ้มทุนในการที่จะอนุรักษ์ป่าชายเลนไว้ในพื้นที่ 12 อำเภอ แต่ถ้าเปรียบเทียบต้นทุนทางสังคมของคาร์บอนแล้ว พบว่า อำเภอที่จะคุ้มทุนเพิ่มเป็น 16 อำเภอ ใน 8 จังหวัด (ปริมาณคาร์บอนต่อพื้นที่ป่าชายเลน 1 เฮกเตอร์ หรือ 1.25 ไร่) ได้แก่ อ"แหลมสิงห์ ขลุง และอ.นายายอาม จ.จันทรบุรี ,อ.ละแม และอ.สวี จ.ชุมพร อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ,อ.เมือง จ.พังงา,กิ่งอ.สุขสำราญ จ.ระนอง,อ.ท่าแพ และอ.ละงู จ.สตูล,อ.เมืองและอ.กาญจนดิษฐ์ ในจ.สุราษฎร์ธานี และที่อ.ปะเหลียน สิเกา กันตัง และกิ่งอ.หาดสำราญ จ.ตรัง

สิ่งที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นนี้ หากพื้นที่ไหนที่มีปริมาณการสะสมของคาร์บอน และมีค่าเสียโอกาสของที่ดินต่ำ(ราคาที่ดินถูก) การรักษาป่าชายเลนไว้เพื่อประโยชน์ดังกล่าวก็อาจคุ้มค่าที่จะอนุรักษ์ไว้ เพื่อให้ประเทศไทยมีรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งต่อไปในอนาคตจะเป็นที่ต้องการมากขึ้น เพราะผลจาก Climate Change ที่รุนแรงจะทำให้ราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย  ส่วนพื้นที่ใดที่ราคาที่ดินแพงก็ไม่คุ้มที่จะอนุรักษ์ไว้จากการเสียโอกาส 

ในทางเศรษฐศาสตร์ เราไม่ได้บอกว่าจะต้องรักษาป่าชายเลนไว้อย่างเดียว แต่จะต้องดูว่าพื้นที่ไหนที่มีต้นทุนต่ำและมีการดูดซับคาร์บอนอยู่มาก พื้นที่นั้นก็สมควรเก็บรักษาไว้ เพราะมีโอกาสที่จะคุ้มทุนมากกว่า 

ส่วน มูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้  หมายถึงคุณค่าที่ให้กับทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งที่เราไม่ได้ประโยชน์ไม่ว่าวันนี้หรือวันข้างหน้า หรือ non-use value หรือ มูลค่าความเต็มใจที่จะจ่าย เพื่อประโยชน์ในการลงทุนอนุรักษ์ป่าชายเลนไว้ ซึ่งมูลค่านี้ยังเป็นสิ่งที่เข้าใจยาก และการที่บอกว่าป่าชายเลนสำคัญควรที่จะอนุรักษ์หรือรักษาไว้ จึงต้องมีวิธีการสร้างตลาดสมมติ ซึ่งก็คือมาตรการต่างๆ ที่จะนำมาใช้เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน เพื่อตั้งคำถามว่าประชาชนทั่วไปจะเต็มใจจ่ายเพื่อสนับสนุนให้เกิดมาตรการเหล่านี้หรือไม่ การตัดสินใจจะจ่ายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกันจะให้ความสำคํญกับป่าชายเลนมากน้อยแค่ไหน และเต็มใจที่จะจัดสรรเงินส่วนหนึ่งมาสนับสนุนหรือไม่

จากผลการสัมภาษณ์ครัวเรือน ทั้งในพื้นที่กทม.และจังหวัดอื่น ที่มีตัวแปร คือ ความเต็มใจ - ราคาที่จะให้จ่าย (bid) - รายได้ (income) เบื้องต้นพบว่า มูลค่าความเต็มใจที่จะจ่ายต่อครัวเรือน สำหรับคนกทม. เท่ากับ 385 บาท ส่วนมูลค่าที่เต็มใจที่จะจ่ายของคนที่อยู่ในจังหวัดอื่นเท่ากับ 206 บาท เมื่อคูณกับจำนวนครัวเรือนทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น จะได้มูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ของคนทั้งประเทศเท่ากับ 4,895.76 ล้านบาท หารด้วยพื้นที่ป่าชายเลน 1.5 ล้านไร่ ก็จะได้มูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้เท่ากับ 3,199.85 บาทต่อไร่

ข้อค้นพบจากงานวิจัยนี้ จะเป็นหลักฐานยืนยันว่า ป่าชายเลนนั้นมีประโยชน์ในการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ หากพื้นที่ป่าชายเลนลดลงหรือเสื่อมสภาพ ย่อมส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจของประมงพื้นบ้านและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง และยังเป็นครั้งแรกของตัวเลขนี้ที่จะยืนยันชัดเจนเพื่อสนับสนุนในเชิงวิชาการ และในด้านนโยบายในการอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลนให้กับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย

โดย... รศ.ดร.อรพรรณ ณ บางช้าง-ศรีเสาวลักษณ์