กลับสู่โลกความจริง

กลับสู่โลกความจริง

ตลาดหุ้นไทยทำสถิติสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 2 แสนล้านล้านบาท

ปริมาณการซื้อขายหุ้นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวันที่ 28 พ.ค.2562 ทำสถิติสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 2 แสนล้านล้านบาท โดยเป็นนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิไปกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท โดยเป็นผลจากการ 'Rebalance' หรือ การปรับพอร์ตการลงทุนของนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติประเภทสถาบันตามการปรับน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทยขึ้นโดย MSCI ทำให้กองทุนต่างชาติประเภท Passive fund จำเป็นต้องทำการ Rebalance พอร์ตการลงทุนใหม่ ผมเชื่อว่านักลงทุนหลายคนตื่นเต้นกับตัวเลขดังกล่าว และมีความหวังว่าเม็ดเงินลงทุนต่างชาติจะกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยแบบเต็มที่เสียที หลังจากที่ห่างเหินไปนาน 

อย่างไรก็ดีการ Rebalance พอร์ตของนักลงทุนต่างชาติได้ผ่านไปแล้ว และหลังจากนี้จะกลับเข้าสู่การพิจารณาปัจจัยพื้นฐานของตลาดหุ้นไทย ว่าจะสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติได้มากน้อยเพียงใด รวมถึง บรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญด้วย ที่จะกำหนดทิศทางเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ 

1) ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว Yield Curve ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ส่งสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวในอนาคต โดย ส่วนต่างของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี กับอายุ 3 เดือน หรือ 'Yield Spread' ลดต่ำลงทำจุดต่ำสุดใหม่ต่อเนื่อง ล่าสุดวันที่ 29 พ.ค. 2562 ลดต่ำลงจนติดลบ -0.124% เป็นสถานการณ์ที่เรียกว่า Inverted yield curve ซึ่งตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์นั้น เป็นสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยล่าสุดวันที่ 2 พ.ค.2562 Fed สาขานิวยอร์กใช้ส่วนต่างดังกล่าวประเมินความน่าจะเป็นที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ในอีก 12 เดือนข้างหน้าสูงถึง 27.49% สูงสุดตั้งแต่เกิดวิกฤติปี 2551 เป็นต้นมา ซึ่ง ณ วันที่ Fed สาขานิวยอร์กคำนวณความน่าจะเป็นดังกล่าว Yield Spread อยู่ที่ 0.10% สูงกว่าในปัจจุบันที่ติดลบแล้ว จึงอาจอนุมานได้ว่าความน่าจะเป็นที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้า ขณะนี้สูงกว่า 27.49% แล้ว (หากใช้โมเดลในการคำนวณเดียวกัน) 

2) เศรษฐกิจไทยชะลอตัว ผลกระทบจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศต่างๆ โดยเฉพาะจีนส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย จนกดดันอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ หรือ GDP ใน 1Q62 ให้ลดต่ำลงกว่า 3% และฝ่ายวิจัยฯประเมินว่ามีโอกาสที่ GDP ใน 2Q62 จะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 3% ต่อเนื่อง เพราะสถานการณ์ปัจจัยต่างๆจากต่างประเทศไม่ได้ดีขึ้นไปกว่าในช่วง 1Q62 ขณะเดียวกัน สุญญากาศ หรือ ช่วงรอยต่อ ที่เกิดขึ้นในช่วงการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆที่ควรจะออกมาในช่วงที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัว กลับต้องล่าช้าออกไป

3) Valuation ตลาดหุ้นไทย เริ่มน่ากังวล โดยหุ้นกลุ่มหลักอย่างหุ้นกลุ่มพลังงานที่คาดหวังว่าจะมีกำไรจากสต๊อกน้ำมันหลังจากที่ราคาน้ำมันดิบปรับสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้น 2Q62 เริ่มที่จะมีโอกาสถูกปรับลดประมาณการฯลง หลังราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเริ่มปรับลดลง จนล่าสุดต่ำกว่าระดับ ณ สิ้น 1Q62 ไปแล้ว ทำให้ความหวังเรื่องกำไรจากสต๊อกน้ำมันน่าจะลดลง นอกจากนี้สถานการณ์หุ้นกลุ่มส่งออกเองก็ยังมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวจากประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและประเทศต่างๆ โดยเฉพาะจีน และสถานการณ์หุ้นกลุ่มที่เชื่อมโยงกับการบริโภคในประเทศเองก็ยังมีความเสี่ยงเช่นกัน หากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้า ซึ่งจะกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค ซึ่งหากนักวิเคราะห์มีการปรับลดประมาณการฯหุ้นกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ลง ก็เท่ากับว่า Valuation ของตลาดหุ้นไทย หรือในมุมของ PE ratio นั้น จะปรับสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ แม้ว่าระดับของดัชนี SET index จะทรงตัวก็ตาม (โดยปัจจุบันประมาณการ EPS ของ SET index เฉลี่ยอยู่ที่ราว 108 บาท ซึ่งยังมีโอกาสปรับลดลงได้อีก) 

แม้การ Rebalance พอร์ตของนักลงทุนต่างชาติจะจบไปแล้ว แต่ผมยังมีมุมมองด้านดีว่าอย่างน้อยๆ ยังมีเม็ดเงินใหม่เข้ามาในตลาดหุ้นไทย โดยนักลงทุนไทย ทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยยังได้ทำการขายหุ้นให้ต่างชาติ เก็บเงินสดใส่กระเป๋าบ้าง เพื่อรอจังหวะในการกลับเข้าซื้อหุ้นอีกครั้งได้ และยังมีโอกาสที่รัฐบาลและธนาคารกลางประเทศต่างๆ จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา ทั้งมาตรการการคลังและการเงิน เพื่อประคับประคองให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่ทรงตัวต่อไปได้ ซึ่งจะยังเป็นผลบวกต่อภาวะการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้น

สุดท้ายแล้ว ปัจจัยพื้นฐานของประเทศไทยเองจะเป็นตัวแปรที่สำคัญต่อเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ ซึ่งคงต้องจับตาไปที่ การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของไทย ในช่วงเดือน มิ.ย.2562 นี้ ว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและมีการปรับนโยบายเศรษฐกิจเพื่อประคับประคองอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเองในช่วง 2H62 ได้ตามที่นักลงทุนคาดหวังหรือไม่ 

โดยผมเชื่อว่า สำหรับระยะสั้น สถานการณ์ที่การค้าโลกยังมีความเสี่ยง (หากสหรัฐฯ-จีน ยังไม่มีการเจรจาการค้าในเร็ววัน) รัฐบาลใหม่ของไทยจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และการลงทุนภาครัฐเพื่อประคองเศรษฐกิจไทยใน 2H62 ทำให้หุ้นกลุ่มที่น่าพิจารณาสำหรับการลงทุน (กรณีที่มีรัฐบาลใหม่ที่มีเสถียรภาพ) อาจจะได้แก่ หุ้นกลุ่มค้าปลีก และหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง