กรุงเทพฯ จะจมบาดาลเร็วขึ้น

กรุงเทพฯ จะจมบาดาลเร็วขึ้น

เมื่อวันจันทร์ที่ 20 พ.ค. สำนักวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐ พิมพ์การคาดการณ์เกี่ยวกับระดับน้ำทะเลอันเกิดจากภาวะโลกร้อน

ที่มาจากการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศจำนวนหนึ่ง หลังจากองค์การสหประชาชาติพิมพ์รายงานเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนเมื่อปี 2556 ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ใช้ทั้งวิธีใหม่และข้อมูลใหม่ หลังจากพวกเขาเสนอผลการศึกษาในงานสัมมนาของนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐ และในสหราชอาณาจักร สำนักดังกล่าวจึงนำมาพิมพ์เผยแพร่

รายงานขององค์การสหประชาชาติคาดว่า ถ้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนยังเป็นไปตามแนวโน้มเดิม ระดับน้ำทะเลอาจจะสูงขึ้นเกือบ 1 เมตรเมื่อสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 หรืออีก 81 ปีข้างหน้า การสูงขึ้นนั้นเป็นผลของการละลายของแผ่นน้ำแข็งในย่านขั้วโลกเหนือเป็นหลัก ข้อสรุปนั้นเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางรวมทั้งในและนอกวงการของผู้เชี่ยวชาญในด้านที่เกี่ยวข้องโดยตรง

เมื่อผู้เชี่ยวชาญยังเห็นต่างกัน นักการเมืองย่อมฉวยโอกาสไม่ทำอะไรอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้หลายพื้นที่ของโลกเสี่ยงต่อความเสียหายร้ายแรงขึ้นจากการจมท้องทะเล กรุงเทพฯและปริมณฑล มีโอกาสจะได้รับความเสียหายร้ายแรงด้วยเพราะบางส่วนอยู่ปริ่มระดับน้ำทะเลมานานแล้ว

ผลการศึกษาที่พิมพ์ออกมาล่าสุดบ่งว่า ระดับน้ำทะเลอาจสูงขึ้นเกิน 2 เมตรตอนสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 เมื่อพิจารณารวมข้อมูลใหม่เข้าไปด้วย เช่น การละลายของธารน้ำแข็งและแผ่นน้ำแข็งทางขั้วโลกใต้และการขยายตัวของน้ำทะเลเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น นอกจากความเป็นไปได้นี้แล้ว ผู้เชี่ยวชาญมองกันว่ากาลข้างหน้ามีความไม่แน่นอนสูงขึ้นส่งผลให้ความเสี่ยงสูงขึ้นและการบริหารจัดการความเสี่ยงยากลำบากเพิ่มขึ้นด้วย

ผลการศึกษามาจากการคาดการณ์ของแบบจำลองต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญเป็นหลัก แบบจำลองเหล่านั้นมีความสลับซับซ้อนสูงซึ่งมิได้ถูกนำมาเสนอด้วย มันจะให้ความสำคัญแก่ 3 ปัจจัยต่อไปนี้มากน้อยเพียงไรไม่เป็นที่ปรากฏ ปัจจัยแรกได้แก่ท่าทีใหม่ของฝ่ายการเมืองในสหรัฐที่มีต่อฝ่ายวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม เป็นที่ประจักษ์อย่างแจ้งชัดว่า ตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามาบริหารประเทศเมื่อต้นปี 2560 นโยบายของเขาโน้มไปในทางต่อต้านนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมแบบเข้มข้น มีการลดมาตรฐานในการควบคุมความเสียหายโดยทั่วไป มีการการออกมาตรการใหม่ที่ให้อิสระในการตัดสินใจแก่นายทุนมากขึ้น และมีการเปิดพื้นที่ใหม่ให้นายทุนเข้าไปค้นหาทรัพยากรรวมทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เมื่อสหรัฐมีท่าทีเช่นนั้น หลายประเทศมักทำตาม

ปัจจัยที่สองได้แก่ผลกระทบอันเกิดจากเทคโนโลยีใหม่ในการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ใช้วิธีอัดฉีดส่วนผสมของน้ำ สารแคมีและทรายเข้าไปในชั้นหินดานที่มีน้ำมันและก๊าซแทรกอยู่ (fracking) วิธีนี้มีผลกระทบสูงต่อสิ่งแวดล้อมรวมทั้งการรั่วไหลออกไปสู่อากาศของก๊าซเรือนกระจก มันผลิตน้ำมันและก๊าซได้มากขึ้น ราคาน้ำมันและก๊าซที่ลดลงส่งผลให้ใช้กันมากขึ้นพร้อม ๆ กับผลิตก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น

ประการที่สาม หลายประเทศเริ่มดำเนินมาตรการจูงใจให้ประชาชนมีลูกเพิ่มขึ้น มาตรการนี้จะมีผลทำให้ประชากรโลกเพิ่มขึ้นสูงกว่าอัตราที่คาดกันไว้ยังผลให้ก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นด้วย

เนื่องจากการคาดการณ์ดังกล่าวเพิ่งพิมพ์ออกมา จึงยังไม่มีรายงานว่ามีนักวิชาการโต้แย้งมากหรือไม่ แต่อาจคาดเดาได้ว่าจะมีอยู่บ้าง การโต้แย้งแม้แต่เพียงโดยคนเดียวก็จะเป็นกระสุนให้ฝ่ายการเมืองที่มีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อฝ่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอยู่ก่อนแล้ว ด้วยเหตุนี้ อาจคาดได้ทันทีว่ารัฐบาลอเมริกันจะไม่ออกมาตรการใหม่เพื่อทำให้ก๊าซเรือนกระจกลดลง นั่นเท่ากับเป็นการบริหารความเสี่ยงแบบไปตายดาบหน้า อย่างไรก็ดี ในกรณีที่มหานครนิวยอร์กจมบาดาล รัฐบาลจะมีงบประมาณสำหรับมาตรการแก้ไข

รัฐบาลไทยก็คงไม่ทำอะไรเช่นกัน จะไม่มีมาตรการลดความแออัดของกรุงเทพฯ ลงโดยการสร้างเมืองใหม่และย้ายสำนักงานราชการส่วนกลางไปไว้ที่นั่นดังที่คอลัมน์นี้อ้างถึงข้อเสนอหลายครั้ง ด้วยเหตุนี้ มีโอกาสสูงที่หลายส่วนของกรุงเทพฯ จะถูกน้ำท่วมขังอย่างถาวรโดยไม่ต้องรอถึง 80 ปีแต่ภาครัฐจะไม่มีงบประมาณแก้ไขได้ในแนวเดียวกับสหรัฐ ฉะนั้น ผู้ที่มีทรัพย์จำพวกบ้านที่หวังจะยกให้ลูกหลานต่อไปควรพิจารณาหาทางหนีทีไล่ หรือบริหารความเสี่ยงไว้ให้เหมาะสมเสียตั้งแต่บัดนี้