เมื่อผู้ถือหุ้นต้องร่วมรับผิดกับบริษัท

เมื่อผู้ถือหุ้นต้องร่วมรับผิดกับบริษัท

รูปแบบองค์กรธุรกิจที่ยังคงเป็นที่นิยมใช้ในการประกอบธุรกิจ ก็คงหนีไม่พ้นการจัดตั้งนิติบุคคลในรูปแบบบริษัทจำกัด

ซึ่งมีลักษณะที่สำคัญประการหนึ่งคือ เมื่อจัดตั้งบริษัทขึ้นมาแล้ว บริษัทจะมีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้ก่อตั้งบริษัท (ซึ่งต่อมาจะกลายมาเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท) ทำให้บริษัทสามารถเป็นเจ้าของทรัพย์สิน เข้าทำสัญญา มีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดได้คล้ายกับบุคคลธรรมดา โดยขอบเขตความรับผิดของบริษัทจะจำกัดอยู่เพียงทรัพย์สินที่บริษัทเป็นเจ้าของ ผู้ถือหุ้นจะร่วมรับผิดเพียงเท่าจำนวนเงินที่ตนลงทุนเท่านั้น 

อย่างไรก็ดี ปรากฏว่าในบางครั้งผู้ถือหุ้นกลับใช้ประโยชน์จากการจำกัดความรับผิดส่วนตนดังกล่าวโดยไม่สุจริต เช่น จัดตั้งบริษัทมาเพื่อฉ้อโกงผู้อื่น หรือใช้ในการประกอบธุรกิจอย่างไม่มีความรับผิดชอบต่อลูกค้า หรือผู้บริโภค เป็นต้น เพื่อขจัดปัญหานี้ศาลในกลุ่มประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์จึงได้พัฒนาหลักการการไม่คำนึงถึงความเป็นนิติบุคคลของบริษัท (Piercing Corporate Veil Doctrine) ขึ้นมาเพื่อให้ผู้ถือหุ้นต้องมีความรับผิดร่วมกันกับบริษัทอย่างไม่จำกัดด้วยในกรณีที่ปรากฏว่าการจัดตั้งบริษัทนั้นมีวัตถุประสงค์ที่ไม่สุจริต

สำหรับประเทศไทยนั้น เดิมทีกฎหมายไทยไม่ได้มีการบัญญัติหลักการการไม่คำนึงถึงความเป็นนิติบุคคลเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรโดยชัดเจน แต่อาจมีกฎหมายบางฉบับที่สะท้อนหลักการนี้อยู่บ้าง เช่น ประมวลกฎหมายที่ดินที่ให้ถือว่าบริษัทจำกัดที่มีคนต่างด้าวถือหุ้นกว่า 49% ของทุนจดทะเบียน หรือผู้ถือหุ้นเป็นต่างด้าวเกินกว่ากึ่งจำนวนผู้ถือหุ้นนั้นมีสถานะเป็นคนต่างด้าว ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากฎหมายไม่ได้สนใจว่านิติบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินจะจัดตั้งในไทย หรือมีสถานะเป็นไทย แต่มองผ่านไปถึงผู้ได้รับประโยชน์ในที่ดินนั้นจริงๆ ซึ่งก็คือคนต่างด้าว หรือในคำพิพากษาบางเรื่องที่ศาลนำเอาหลักสุจริตมาใช้เพื่อให้ผู้ถือหุ้นที่กระทำการโดยไม่สุจริตมาร่วมรับผิดกับบริษัทด้วย (คำพิพากษาฎีกาที่ 3119/2526, 174/2528 และ 3969/2529) เป็นต้น

ต่อมาหลักการนี้ได้รับการยอมรับในกฎหมายไทยอย่างชัดเจนมากขึ้นเมื่อพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาผู้บริโภค พ.ศ. 2551ได้นำมาบัญญัติไว้ในมาตรา 44 ซึ่งมีใจความสำคัญว่า ศาลมีอำนาจเรียกให้ผู้ถือหุ้น หรือบุคคลที่มีอำนาจควบคุมการดำเนินงานของนิติบุคคลมาร่วมรับผิดกับนิติบุคคลในกรณีที่นิติบุคคลดังกล่าวถูกจัดตั้งขึ้นหรือดำเนินการโดยไม่สุจริต หรือมีพฤติการณ์ฉ้อฉลต่อผู้บริโภค และผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นนิติบุคคลดังกล่าวมีทรัพย์สินไม่พอชำระหนี้ต่อผู้บริโภค (เว้นแต่ผู้นั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนรู้เห็นในการกระทำดังกล่าว หรือในกรณีของผู้รับมอบทรัพย์สินนั้นจากนิติบุคคลจะต้องพิสูจน์ได้ว่า ตนได้รับทรัพย์สินมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน) และเมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีคำวินิจฉัยยืนยันว่า มาตรา 44 นี้ใช้บังคับได้ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญในเรื่องที่คุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล ไม่มีลักษณะเป็นการล่วงละเมิดขอบเขตแห่งสิทธิหรือจำกัดสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล ไม่เป็นการจำกัดอำนาจ หรือกีดกั้นขัดขวาง หรือปฏิเสธอำนาจในการถือครองหุ้นของบุคคล ประกอบกับเมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างการประกันสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้กับประโยชน์ส่วนรวมของสังคมซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการคุ้มครองผู้บริโภค จึงไม่เป็นการจำกัดสิทธิโดยเกินจำเป็น

ผลของคำพิพากษานี้และผลของการที่ศาลมีแนวโน้มที่จะคำนึงถึงความเป็นนิติบุคคลที่แยกต่างหากจากผู้ถือหุ้นน้อยลง ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่ในอนาคตศาลไทยจะใช้หลักการไม่คำนึงถึงความเป็นนิติบุคคลมากขึ้น และให้ผู้ถือหุ้นหรือกรรมการมีความรับผิดร่วมกับบริษัทด้วย

แล้วพบกันใหม่โอกาสหน้า สวัสดีค่ะ

โดย... 

ภูริตา ธนโชคโสภณ

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด

[email protected]