โลกาภิวัตน์ วิถีทุน โครงสร้างโลกสมัยใหม่ (ตอนที่ 1)

โลกาภิวัตน์ วิถีทุน โครงสร้างโลกสมัยใหม่ (ตอนที่ 1)

เส้นทางสายไหมจากยุคโบราณและยุคกลาง

ในบรรดาทวีปต่างๆ บนโลกใบนี้ ยูเรเซีย(Eurasia) ซึ่งคลุมเอเชีย ยุโรปและเมดิเตอร์เรเนียนนั้น จัดว่าเป็นแผ่นดินใหญ่ที่มีลักษณะเด่นมาก แผ่นดินนี้แต่ไหนแต่ไรมาเป็นเขตที่มีประชากรรวมกันสูงสุดของโลกมาตลอด ศาสนา อารยธรรมใหญ่ๆ ทั้งหลายเกิดที่นี่ ก่อนปีค.ศ.1600 จีนอินเดีย และอิสลาม เป็นศูนย์กลางของโลกในแทบทุกด้าน ถ้าวัดความเจริญ ความก้าวหน้าของมนุษย์หรือ Sapiens ที่ต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอดและเติบโต เปลี่ยนการยังชีพจากการร่อนเร่ ล่าสัตว์ ตัดไม้ มาเป็นการตั้งถิ่นฐาน ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ จนทำให้เกิดปฏิวัติทางเศรษฐกิจเป็นครั้งแรกประมาณหมื่นปีที่ผ่านมา Eurasia เมื่อเทียบกับผืนแผ่นดินใหญ่อื่นๆ ของโลก โดยเฉพาะทางเหนือและใต้แล้ว นอกเหนือจากทางด้านอารยธรรม Eurasia เป็นแหล่งแรกๆ ของความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของมนุษย์ ภูมิภาคนี้เป็นแหล่งอ้างอิงต้นฉบับของหลายภาษา เช่น จีน บาลี ละติน อารบิก กรีก เปอร์เซีย อาร์เมเนียน ซอกเดียน(Sogdian)ทมิฬ ภาษาท้องถิ่นอีกมากมาย เช่นของภาษาอิตาลี นี่เป็นเพียงตัวอย่างของบางภาษาที่พ่อค้าในย่านถนนในเอเชียใช้พูดกันในสมัยโบราณและยุคกลาง

การศึกษาเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของ Eurasia ในมิติต่างๆ ทำกันในโลกตะวันตก ส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องของอคติที่มองความเจริญของโลกยุค 1800 เป็นต้นมา โดยยึดยุโรปเป็นศูนย์กลาง(Eurocentric) จุดศูนย์กลางและความสนใจอยู่ที่ยุโรปและโลกตะวันตก สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะมันง่ายกว่าการใช้ภาษาที่ไม่ใช่ภาษาตะวันตก หรือการตั้งโจทย์ ตั้งคำถามก็มุ่งความสนใจมาที่รากเหง้าของทุนนิยมที่ก่อตัวในยุโรป เช่น อาจจะให้ความสำคัญกับเมืองศูนย์กลางการค้าต่างๆของอิตาลี ในศตวรรษที่13 หรืออำนาจทางทะเลของยุโรปในศตวรรษที่ 16 และ17 ถ้าเป็นเรื่องการค้าก็อาจจะดูการค้าของเอเชียกับโรมัน เวนิส เจนัว การศึกษาจึงมีลักษณะเป็น perspective ของยุโรป

ตัวอย่างเช่น การค้าของเมือง Samarkand ในเอเชียกลาง(ปัจจุบันอยู่ใน Ubekistan) นั้น เอกสารโลกตะวันตกแทบจะไม่มี จะไม่เห็นภาพความเชื่อมโยงใดๆ กับความเจริญของโลกตะวันตก ถูกมองข้ามเวลาศึกษาที่มาของทุนนิยมยุโรป

การให้ความสนใจยูเรเซียในยุคโบราณประมาณพันปีก่อนคริสตกาลมาจนถึงยุคกลาง หรือถึงพันปีเศษๆ ช่วงคริสตกาล ในขณะที่ยุโรปยังล้าหลัง ยากจน เมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศในเขตยูเรเซีย ขณะเดียวกันให้ยูเรเซียเป็นศูนย์กลางน่าจะทำให้เราเข้าใจการเปลี่ยนแปลงและปฏิสัมพันธ์ของภูมิภาคนี้กับส่วนอื่นๆของโลก

ในปัจจุบัน เราให้ความสำคัญกับเส้นทางสายไหมกันมากขึ้น โดยเฉพาะทางด้านประวัติศาสตร์ ส่วนสำคัญแน่นอนเพราะโครงการ Belt and Road ที่มีจีนเป็นหัวเรือใหญ่ แต่โดยตัวมันเองในส่วนที่เป็นมิติทางประวัติศาสตร์ของเส้นทางหรือระบอบการค้าทั้งทางบกและทางทะเล ตั้งแต่สมัยโบราณ โดยตั้งคำถามสำคัญๆ ที่ดูแปลกก็คือ คำว่าถนนสายไหมนี้เพิ่งเกิดขึ้นในปีค.ศ.1887เท่านั้นเอง ถนนหรือเส้นทางสายไหมเป็นระบบเส้นทางทางการค้าทางพื้นดินและทะเลที่เชื่อมโยงคนในแถบยูเรเซีย แม้ว่าความสำคัญจะกระจุกอยู่ที่จีนและแผ่นดินเมดิเตอร์เรเนียน ถนนสายไหมผงาดหรือเติบโตเร็วขึ้น เมื่อจีนมองมาทางตะวันตก ขณะที่โรมมองมาทางตะวันออก” เนื่องจากมีประวัติที่มายาวนาน บทบาทของถนนสายไหมในแต่ละช่วง แต่ละเวลา แต่ละสถานที่จึงมีความแตกต่างกันมาก นอกจากนั้น ในหลายๆเรื่องที่มาของข้อมูลมีจำกัด รวมทั้งความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตามหลักฐานทางโบราณคดีที่พบมีประโยชน์ค่อนข้างมาก 

ด้วยเหตุนี้ เมื่อเรามองหรือวิเคราะห์เส้นทางสายไหม เราจะพบว่า ความเชื่อหรือมายาคติมีอยู่มากและหนาแน่นซึ่งตรงข้ามกับความจริงหรือข้อเท็จจริง ประเด็นสำคัญที่ต้องระลึกอยู่เสมอก็คือ การค้าข้ามทวีปนี้มันไม่เคยมีความต่อเนื่องจนถึงศตวรรษที่ 11 มีขึ้นมีลง บางช่วงหายไป โดยเฉพาะการค้าขายไหมเป็นร้อยๆปีสาเหตุมาจากหลากหลายปัจจัย เช่น ปัญหาการเมืองและสงคราม การเปลี่ยนของศูนย์อำนาจ ทางเลือกของโหมดการเดินทางและการขนส่ง นอกจากนี้ ปริมาณธุรกรรมการค้าอาจจะไม่มากอย่างที่เคยคิดและขอบเขตก็มีค่อนข้างจำกัด ถนนสายไหมไม่ใช่แนวคิดเชิงวิทยาศาสตร์ มันเป็นเพียงภาพพจน์เพิ่งเรียกกันในปลายศตวรรษที่ 19 นอกจากนี้ ความเชื่อมโยงระหว่างตะวันออกกับตะวันตกนั้นมันมีมานานแล้ว ทั้งทางบกและทางทะเล การค้าทางทะเลในช่วงเวลาต่างๆจึงเป็น mode ทางเลือกที่แข่งกับเส้นทางบก ก่อนคริสตกาล เมดิเตอร์เรเนียน พ่อค้ายุโรป อาหรับ กรีก เปอร์เซีย เดินทางโดยทางเรือโดยเส้นทางทะเลแดง อ่าวเปอร์เซีย มายังฝั่งตะวันตกและตะวันออกของอินเดีย มาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาที่ชายฝั่งและท่าเรือของจีนแถบทะเลจีนใต้ เป็นต้น เพราะฉะนั้น ความเชื่อมโยงระหว่างตะวันออก ตะวันตก โดยเส้นทางสายไหมจึงไม่ใช่เป็นความเชื่อมโยงที่ถาวรเหมือนที่ทำให้คนทั่วไปเชื่อกัน

พัฒนาการของถนนหรือเส้นทางสายไหมมีอดีตซึ่งยาวไกล เริ่มจากการมีสินค้าหลักที่สำคัญ คือ ไหม โดยเฉพาะจากจีนนั้น มีปรากฏหลักฐานให้เห็นในช่วง 600 ปีก่อนคริสตกาล โดยเฉพาะการค้าไหมที่คึกคัก มีการนำเข้าไหมจากจีนมาที่โรมในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากระบอบสาธารณรัฐโรมันเป็นจักรวรรดิโรมันในช่วง 300 ปี (200 B.C. – 100 C.E.) ไหมจีนน่าจะเดินทางข้ามยูเรเซียในช่วงศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล เนื่องจากมีการพบไหมในหลุมฝังศพของยุโรปและเอเชียในสมัยโบราณตามเมืองต่างๆ เช่น Athens Hallstadtแต่เมื่อเทียบกับสินค้าอื่นๆเมื่อหลายพันปีก่อนคริสตกาล ในขณะนั้นไหมอาจจะมีบทบาทน้อยในเศรษฐกิจของสังคมโบราณ และในแง่สถานภาพทางสังคมยังมีสินค้าอื่นๆ เช่น อัญมณีและหินมีค่า

กิจกรรมการค้าในเส้นทางสายไหมหยุดหายไปเกือบสองร้อยปีระหว่างศตวรรษที่ 3-5 บทบาทของพ่อค้าในแต่ละยุคสมัยซึ่งเป็นตัวละครสำคัญ รวมทั้งอำนาจของจักรวรรดิผู้ปกครองเปลี่ยนตลอด ตั้งแต่ศตวรรษที่ 3 จนถึงการล่มสลายของจักรวรรดิมองโกลในกลางศตวรรษที่ 14