กม.เครื่องดื่มมอลต์สกัด ไร้แอลกอฮอล์ “ควบคุม -ลิดรอน"?

กม.เครื่องดื่มมอลต์สกัด ไร้แอลกอฮอล์   “ควบคุม -ลิดรอน"?

ที่ผ่านมา เราคงได้รู้จักการทำการตลาดของเครื่องดื่มชนิดหนึ่งที่ใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ว่า “Heineken 0.0” โดยเป็นที่กล่าวถึงในสังคมนักดื่ม

รวมไปถึงวงนักวิชาการทางกฎหมายว่า คำว่า เบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ มันส่งผลอะไรต่อความเข้าใจของนักดื่มหน้าใหม่ หรือมุมมองทางกฎหมายที่ส่งผลเป็นการควบคุมโดยนัยแห่งการคุ้มครองสังคมให้ลดความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจแฝงมากับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งสามารถหาคำตอบในประเด็นเหล่านี้ได้จากพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 โดยเบื้องต้นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “เบียร์” คืออะไร และ “การควบคุมเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร”

พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ได้บัญญัติว่า เครื่องดื่มใดๆ ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เกิน 0.5 ดีกรีไม่ถือว่า เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงมีผลให้เครื่องดื่มดังกล่าวไม่ถูกควบคุมฉลาก การโฆษณา และมาตรการอื่นๆ ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ประเด็นที่จะต้องทำความเข้าใจคือ กฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เกิน 0.5 ดีกรี ของประเทศไทย มีผลผูกมัดควบคุมผู้ผลิตสินค้าไว้มากน้อยเพียงใด และการบังคับใช้โดยการตีความกฎหมายแบบใดถึงจะไม่เป็นการกระทบผู้บริโภคอันมีสิทธิขั้นพื้นฐานในการบริโภคสินค้าเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ได้ใช้นิยามเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ฉบับใหม่ ซึ่งเป็นการรวม พ.ร.บ.อื่นๆ ที่มีเรื่องสรรพสามิตเข้าไว้ด้วยกัน ได้แก่ สุรา ยาสูบ ไพ่ น้ำหอม ของฟุ่มเฟือย ซึ่งเป็นการยกเลิกพ.ร.บ.เฉพาะเดิมๆ ที่มีความทับซ้อนในความเข้าใจด้านการบังคับใช้ทิ้งไป และแก้ไขนิยามคำว่าสุราใหม่ โดยให้หมายความรวมไปถึง วัตถุทั้งหลาย หรือของผสมที่มีแอลกอฮอล์ซึ่งสามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับน้ำสุราหรือซึ่งดื่มกินไม่ได้แต่เมื่อได้ผสมกับน้ำหรือของเหลวอย่างอื่นแล้วสามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับน้ำสุรา แต่ไม่รวมถึงเครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เกิน 0.5 ดีกรี

จากนิยามดังกล่าวทำให้เครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เกิน 0.5 ดีกรี ย่อมไม่ใช่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และมีผลให้เครื่องดื่มดังกล่าวจะไม่ถูกควบคุมภายใต้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น การกำหนดข้อความบนฉลาก และการห้ามโฆษณา รวมไปถึงการจำกัดเวลาขายในร้านสะดวกซื้อ จากประเด็นนี้ ย่อมส่งผลกระทบเป็น 2 ส่วน คือ “ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการขาย” และ “ผู้บริโภค” กล่าวคือ

  1. ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการขายในส่วนนี้จะเห็นได้ว่า เมื่อเครื่องดื่ม “Heineken 0.0” เป็นเพียง “เครื่องดื่มมอลต์ที่สกัดแอลกอฮอล์ออก” ย่อมไม่ใช่เบียร์และเครื่องดื่มประเภทสุราตามที่ได้กล่าวไป เช่นนี้ การทำสื่อโฆษณาจึงไม่สามารถใช้ถ้อยคำว่า “เบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์” ได้ โดยทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ออกมาชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่า “การโฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่สกัดแอลกอฮอล์ออกหรือลดปริมาณแอลกอฮอล์ที่เป็นการโฆษณาสรรพคุณ คุณประโยชน์ต้องขออนุญาตโฆษณากับ “อย.” ก่อน จึงจะสามารถเผยแพร่ได้ โดยการโฆษณาแจกแจงคุณประโยชน์ของสารอาหารที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อาหารจะสามารถกระทำได้ต่อเมื่อมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่ามีคุณประโยชน์ตามที่กล่าวอ้างจริงและต้องแสดงข้อมูลบนฉลากโภชนาการเพื่อให้ผู้บริโภคทราบด้วย และการโฆษณาดังกล่าวต้องไม่สื่อในทำนองที่ทำให้เกิดความเชื่อมโยงถึงเบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่น ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม พร้อมแสดงข้อความ “เครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์หรือสกัดแอลกอฮอล์ออก” ปรากฏคู่กับการแสดงภาพเครื่องดื่มดังกล่าวทุกครั้ง” ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญของผลิตภัณฑ์ และควบคุมไม่ให้มีการโฆษณาแฝงเชื่อมโยงกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อันเป็นการชักจูงให้ผู้บริโภคดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ประกอบกับเมื่อเป็นเครื่องดื่มโดยทั่วไปจึงต้องมีการแสดงคุณภาพ สรรพคุณ คุณประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ทำให้เข้าใจว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อยู่บนฉลากเสมอ เห็นได้ว่า ความแตกต่างแห่งกรอบของกฎหมายที่กล่าวมา ย่อมส่งผลถึงวัตถุประสงค์แห่งการควบคุมสังคมที่แฝงมาในกฎหมายที่ชัดเจนเสมอ เช่นนี้ “ผู้ผลิต” “ผู้ประกอบการ” ซึ่งปัจจุบันรวมไปถึง “ผู้รับรีวิวขายสินค้า” ย่อมต้องตระหนักถึงหลักการเหล่านี้เสมอ มิฉะนั้นย่อมมีความผิดตามกฎหมาย

  1. ผู้บริโภคในบริบทของบุคคลกลุ่มนี้ ผู้อ่านหลายท่านอ่านเข้าใจว่าคงไม่มีนัยอื่นใดนอกเหนือจากที่ผู้เขียนได้กล่าวไป คือ ย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายไม่ให้ถูกโฆษณาแฝง อันเป็นการจะถูกชักนำเข้าไปเป็นนักดื่มหน้าใหม่ได้โดยง่าย หรือคุ้มครองความเสี่ยงจากการใช้ชีวิตในสังคมจากการที่อาจได้รับความเสียหายจากผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น การเมาแล้วขับ หรือการกระทำความผิดจากอาการมึนเมา ตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งเห็นได้ชัดจากการห้ามขายเครื่องดื่มดังกล่าวตามเวลาที่กฎหมายกำหนด

แต่ในทางกลับกัน เมื่อเครื่องดื่ม “Heineken 0.0” เป็นเพียงเครื่องดื่มมอลต์ที่สกัดแอลกอฮอล์ออก คำถามคือ ทำไมการขายเครื่องดื่มประเภทนี้จึงถูกจัดวางอยู่บนเชลฟ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านสะดวกซื้อ และถูกควบคุมการขายตามเวลาเฉกเช่นเดียวกับ “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วไป” นั่นหมายความว่า “ผู้บริโภคถูกจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานในการบริโภคอาหารหรือไม่?”

ประเด็นนี้ผู้ผลิตมองว่า แม้ตัวผลิตภัณฑ์ได้จดทะเบียนอย่างถูกต้องในแง่ของการเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มมอลต์สกัดแอลกอฮอล์ออกสามารถวางขายได้เฉกเช่นเครื่องดื่มอื่นๆ นอกเชลฟ์แอลกอฮอล์ แต่ Heineken 0.0 กลับเลือกวางขายอยู่บนเชลฟ์เดียวกับเบียร์ในร้านสะดวกซื้อ ทั้งยังจำกัดเวลาขายเหมือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปกติทั่วไป รวมไปถึงจำกัดอายุผู้ซื้อที่จะต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป ด้วยเหตุผลที่ไม่ต้องการสนับสนุนให้เยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะลิ้มลองรสชาติของผลิตภัณฑ์ก่อนวัยอันควร เกิดเป็นภาพที่ไม่ดีงาม เนื่องด้วยชื่อแบรนด์ที่ยังคงสื่อสารถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่

ในฐานะของผู้บริโภค เหตุผลเช่นนี้สมควรหรือไม่กับการจำกัดสิทธิของคนส่วนใหญ่? หรือมีเหตุผลใดแอบแฝงมาด้วยหรือไม่ในการวางขายบนเชลฟ์เดียวกับเครื่องดื่มเบียร์ประเภทอื่น ๆ ? คำถามนี้คงต้องให้ผู้อ่านทุกท่านช่วยกันหาคำตอบ รวมไปถึงเป็นการบ้านไปยังผู้บังคับใช้กฎหมายด้วยว่า สุดท้ายแล้ววัตถุประสงค์ของกฎหมายที่สร้างมาเพื่อบังคับใช้กับเรื่องดังกล่าวนั้นต้องการอะไร มิฉะนั้นแล้วกฎหมายก็อาจจะเป็นเพียงเครื่องมือในทางการค้าของผู้ผลิตอันส่งผลเสียต่อสิทธิของผู้บริโภคเท่านั้น.