ปัญหา ทางออกของเศรษฐกิจไทย

ปัญหา ทางออกของเศรษฐกิจไทย

ปาฐกถาของผู้ว่าการธนาคารชาติ “เศรษฐกิจไทยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง” กล่าวถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไทย 3 ข้อ คือ

  1. ผลิตภาพ (Productivity) ต่ำ 2. การกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่เป็นธรรม 3. ภูมิต้านทานของระบบเศรษฐกิจยังเปราะบาง

คำว่าผลิตภาพนั้น คำที่เข้าใจง่ายอีกคำคือ ประสิทธิภาพ วัดจากปริมาณ/มูลค่าผลผลิตที่ได้จากการใช้ปัจจัยการผลิต เช่น แรงงาน ตัวอย่างคือ เอามูลค่าสินค้าเกษตรมาหารด้วยแรงงานเกษตร แล้วคิดเฉลี่ยออกมาต่อหัว แล้วไปเทียบกันกับประเทศต่างๆ คุณวีรไทมองว่าแรงงานไทยส่วนใหญ่มีผลิตภาพต่ำ และไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปสู่ภาคการผลิตที่มีผลิตภาพสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะแรงงานภาคเกษตรซึ่งมีถึง 1 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมด มีผลิตภาพต่ำที่สุด ข้อนี้จริงมองในแง่เปรียบเทียบผลผลิตต่อไร่ของข้าวและอื่นๆ ของไทย ที่โดยเฉลี่ยยังต่ำกว่าบางประเทศ และเรายังสามารถลงทุนด้านแหล่งน้ำ ปุ๋ย ฯลฯ พัฒนาการเกษตรของไทยให้มีผลิตภาพสูงขึ้นกว่าปัจจุบันได้ แต่การมองว่าแรงงานภาคเกษตรที่มากเกินไปนี้ควรย้ายไปอยู่ภาคการผลิตที่มีผลิตภาพสูงกว่า เช่น อุตสาหกรรมนั้น เป็นการมองแบบเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมกระแสหลักมากเกินไป

ถ้ามองผลิตภาพในแง่นี้ การให้บริษัทยักษ์ใหญ่และนายทุน การเกษตร ใช้เครื่องทุ่นแรงมาทำการเกษตรแทนเกษตรกรขนาดเล็ก ก็จะทำให้ผลิตภาพเกษตรกรไทยสูงขึ้น แต่การโยกย้ายเกษตรกรไปสู่ภาคอุตสาหกรรมไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้โดยไม่มีปัญหาอื่น และก็ไม่ได้แปลว่าจะทำให้เกษตรกรที่ไปเป็นคนงานมีผลิตภาพสูงขึ้น มีรายได้สูงขึ้นเสมอไป ที่ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไทยมีผลิตภาพต่อหัวแรงงานสูงกว่าภาคเกษตรนั้นเพระโรงงานใช้ทุน เทคโนโลยีช่วยมาก และการกดค่าจ้างก็ยังคงดำรงอยู่ ถ้าเกษตรกรอยู่ไม่ได้ต้องตกงานไปหางานภาคอุตสาหกรรมกันมากขึ้น พวกเขาก็ยิ่งจะถูกกดค่าแรง

เรื่องผลิตภาพ/ประสิทธิภาพ การเกษตร สามารถเพิ่มได้ด้วยการช่วยให้เกษตรกรขนาดเล็กมีความรู้ มีการจัดการเป็น ทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดสาร ไร่นาส่วนผสม ฯลฯ ที่มีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตและรายได้ราคาขึ้น น่าจะดีกว่าการมองแบบประเทศทุนนิยมพัฒนาอุตสาหกรรม ที่ใช้แรงงานเกษตรเพียง 5-10% นายทุนการเกษตรจำนวนน้อยก็สามารถผลิตได้มากมาย แต่มีปัญหาการว่างงานและความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางทรัพย์สินและรายได้มากขึ้น

ปัญหาผลิตภาพการผลิตที่ต่ำของไทยรวมในภาคบริการและอุตสาหกรรมด้วยมาจาก 1. ปัญหาเรื่องการจัดการศึกษาและการฝึกอบรมแรงงานที่คุณภาพ/ประสิทธิภาพต่ำ 2การลงทุนที่แท้จริง โดยเฉพาะภาคเอกชนในอุตสาหกรรมยังต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตปี 2540 และต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย และยังเป็นการลงทุนเพื่อทดแทนเครื่องจักรเก่าที่เสื่อมลง ไม่ได้สร้างผลิตภาพเพิ่ม 3. กฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการลงทุนและการทำธุรกิจมีจำนวนมากและล้าสมัย ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเปลี่ยนแปลงปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ทั้ง 3 ข้อนี้ ผมเห็นด้วย แต่ผมอยากเสนอเพิ่มเติมว่าส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลไทยชอบคิดแบบง่ายๆ ว่าอยากให้ต่างประเทศมาลงทุนเยอะๆ และให้สิทธิพิเศษต่างๆ ง่ายๆ เกินไป คนจึงมาลงทุนแบบหากำไรระยะสั้น รัฐบาลไม่ได้พยายามนำทางให้แรงจูงใจนักลงทุนให้ต้องลงทุนสร้างโรงงานที่มีนวัตกรรม มีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมในระยะยาว

ปัญหาเชิงโครงสร้างข้อที่ 2 เรื่อง ความเหลื่อมล้ำของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนที่มีรายได้สูง สินทรัพย์สูง เจ้าของทุนขนาดใหญ่ คุณวีรไทมองว่าส่วนหนึ่งมาจากภาครัฐขาดประสิทธิภาพและความสามารถที่จะทำหน้าที่จัดสรรอย่างเป็นธรรม อีกส่วนหนึ่งมาจากความเหลื่อมล้ำทางโอกาสที่ฝังตัวอยู่ในทุกระดับในภาคธุรกิจ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ได้เปรียบธุรกิจขนาดเล็ก (เช่น SME ในเมืองรอง) เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ข้อนี้ผมเห็นด้วย และยินดีที่นักเศรษฐศาสตร์ภาครัฐมองเห็น ยอมรับปัญหานี้ เพียงแต่คุณวีรไทเสนอแต่ปัญหา ไม่ได้เสนอทางออกมากนัก เรื่องนี้พวกนักเศรษฐศาสตร์การเมือง นักเศรษฐศาสตร์ทางเลือกเสนอทางออกในเชิงปฏิบัติโครงสร้างการถือครองทรัพย์สินและระบบภาษีที่ก้าวหน้าที่เอาจริงเอาจังมากกว่า ผมเองก็เขียนบทความเสนอทางออกเรื่องนี้ไว้หลายครั้งแล้ว

ปัญหาเชิงโครงสร้างข้อที่ 3 ที่ผู้ว่าธนาคารชาติเสนอคือ ภูมิต้านทานของเศรษฐกิจไทยในระดับครัวเรือนถือว่าเปราะบางมาก หนี้ครัวเรือนมีปัญหาทั้งปริมาณและคุณภาพ ระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 77.8 สูงเมื่อเทียบกับประเทศที่รายได้ใกล้เคียงกับไทย สัดส่วนหนี้เสียก็อยู่ระดับสูง และยอดหนี้ของคนไทยจำนวนมากไม่ได้ลดลง แม้ว่าจะอายุมากขึ้น “ประเทศไทยอาจจะเป็นประเทศแรกในโลกที่คนส่วนใหญ่จะแก่ก่อนรวย” ประโยคหลังนี้เป็นข้อสังเกตที่เด็ดมาก และนี่คือปัญหาใหญ่มากที่คุณวีรไทโยงว่าในสภาพที่รัฐจะต้องรับภาระทั้งเรื่องคนจน คนสูงอายุที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งนโยบายประชานิยมเพื่อหวังผลการเมืองระยะสั้น รัฐบาลต้องทำงบประมาณขาดดุลต่อไปอีกราว 12 ปี ภูมิต้านทานด้านการคลังของไทยจะต่ำลง ต้องให้ความสำคัญต่อประสิทธิภาพการใช้จ่ายของภาครัฐและการลดขนาดของภาครัฐ

เรื่องนี้โยงกับปัญหาข้อ 2 และเป็นเรื่องที่นักวิชาการควรจะวิเคราะห์ วิจัย อภิปรายกันให้มากกว่านี้ เพราะพรรคการเมืองส่วนใหญ่ยังเน้นเรื่องประชานิยมที่ไม่ใช่การปฏิรูปเชิงโครงสร้าง

ในส่วนท้ายผู้ว่าธนาคารชาติเสนอว่า คนไทยต้องร่วมกันมองให้ไกลและคิดร่วมกันอย่างจริงจังเพื่อเตรียมประเทศไทยให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ทั้งในเรื่อง ๑เทคโนโลยีสารสนเทศที่จะทำให้การแข่งขันมาจากทั่วโลกและรุนแรงขึ้น ๒การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อนที่จะมีผลกระทบต่อภาคเกษตรกรและภาคอื่นๆ มาก ๓ความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจ กลุ่มเศรษฐกิจต่างๆ ที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทย โดยคุณวีรไทเน้นว่าเราต้องเน้นการเพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของภาคเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคเกษตรและ SMEs (ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม) อย่างจริงจัง เพื่อทำให้รายได้คนไทยสูงขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผมเห็นว่าเขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่ก้าวหน้ากว่าเพื่อนตรงที่เขาเสนอว่าควรเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ

ผู้ว่าธนาคารชาติจบปาฐกถาด้วยข้อเสนอที่มองการณ์ไกลว่า สังคมที่คนระแวงแคลงใจกัน ไม่ไว้วางใจกัน ยากที่คนจะร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศได้ดี ดังนั้นเราจึงต้องพยายามสร้างสังคมที่ส่งเสริมให้คนไว้วางใจกันและกันมากขึ้น นี่คือข้อเสนอที่ดีมาก แต่โจทย์ใหญ่คือจะทำได้อย่างไร ผมคิดว่าต้องปฏิรูปทั้งเรื่องการเมือง การศึกษา ทำให้คนไทยมีความรู้ จิตสำนึกคิดอย่างใจกว้างและฉลาด มองการณ์ไกลเพื่อส่วนรวมมากกว่าขัดแย้งกัน 2 ขั้วอย่างสุดโต่ง ขณะเดียวกันก็ต้องปฏิรูปเศรษฐกิจแบบกระจายทรัพย์สินและรายได้ การศึกษาและโอกาสการมีงานที่ดี ให้เป็นธรรมอย่างแท้จริง จึงจะสร้างความไว้วางใจและทำให้ประเทศไทยเดินหน้าอย่างเข้มแข็งพอที่จะแข่งขันกับคนอื่นได้