มาตรการกฎหมาย แก้ PM2.5 “ไทย-เกาหลี”

มาตรการกฎหมาย แก้ PM2.5 “ไทย-เกาหลี”

ฝุ่นละออง PM 2.5 (particle matter smaller than 2.5 micron) คือฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กมาก ไม่เกิน 2.5 ไมครอน เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

เพราะความที่ฝุ่นมีขนาดเล็กมาก ฝุ่นจึงแขวนลอยอยู่ในอากาศนาน และอาจผ่านทางเดินหายใจเข้าสู่ปอดซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจได้

แหล่งกำเนิดของการเกิดฝุ่นPM 2.5 ในเขตเมืองส่วนมากเกิดจากการกระทำของมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญ อาทิ จากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซลที่สะสมมานาน และการก่อสร้างได้แก่การก่อสร้างอาคารสูง และก่อสร้างทางรถไฟฟ้า เป็นด้านหลัก ทั้งสองปัจจัยนี้มีความเชื่อมโยงกันคือยิ่งมีการก่อสร้างมากเท่าไร ยิ่งทำให้การจราจรติดขัด เป็นผลให้มีการเผาไหม้เครื่องยนต์บนท้องถนนนานขึ้น และเกิดจากปัจจัยภายนอกประกอบกันคือ เมื่อใดก็ตามพื้นที่มีสภาพอากาศปิด ฝุ่นละอองเกิดการสะสมและนิ่งไม่ลอยไปไหนเป็นเวลานานหลายวัน สามารถมองเห็นฝุ่นที่สะสมในอากาศลักษณะคล้ายหมอกควันได้ โดยสภาพอากาศจะเป็นช่วงที่ความกดอากาศจากประเทศจีนลงมาสู่ประเทศไทย ปัจจัยภายนอกนี้เป็นเรื่องของธรรมชาติซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุม แต่ปัจจัยที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ย่อมสามารถควบคุมได้ด้วยการใช้มาตรการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

มาตรการระยะสั้น

การบังคับใช้กฎหมายหลายฉบับที่มีในปัจจุบัน จำเป็นต้องตรวจสอบและรวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้อย่างจริงจัง เช่น พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มีบทบัญญัติเฉพาะเกี่ยวกับการควบคุมมลพิษโดยห้ามมิให้นำยานพาหนะที่ก่อให้เกิดมลพิษเกินกว่ามาตรฐานมาใช้ และมีบทบัญญัติให้มีการประกาศกำหนดให้โครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ เช่นโครงการก่อสร้างระบบขนส่งที่ใช้ราง หรือก่อสร้างอาคารสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ(แต่ปัจจุบันมีการออกกฎหมายยกเว้นบางโครงการที่ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม)

โดยในรายงานต้องมีมาตรการป้องกันและมาตรการติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อม เช่นการป้องกันฝุ่นละออง ผู้จัดทำรายงานจะระบุมาตรการป้องกันด้วยการจัดทำรั้วทึบรอบพื้นที่ก่อสร้าง ติดตั้งตาข่ายหรือผ้าใบกันฝุ่น (Mesh Sheet) ตั้งแต่ชั้นล่างจนถึงชั้นสูงสุดโดยรอบอาคารเพื่อป้องกันฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย ใช้ผ้าใบคลุมรถที่ใช้ขนส่งวัสดุ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบให้มีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดก็จะมีผลลดฝุ่นละอองในอากาศเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ยังมีกฎหมายควบคุมและป้องกันการฟุ้งกระจายฝุ่นควันจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ที่พอจะรวบรวมได้ดังนี้คือ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522, พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535, พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522, พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535, พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ.2535, พ.ร.บ.บัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 และพ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522

มาตรการระยะยาว

1.มาตรการด้านรถยนต์ ด้วยการปรับเปลี่ยนมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงและเครื่องยนต์เป็นยูโร 5 และยูโร 6 ส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B 20 ในรถยนต์ดีเซล ส่งเสริมและจูงใจการลงทุนผลิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ไฟฟ้า สนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้การขนส่งสาธารณะโดยลดราคาค่าโดยสาร แทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว

  1. มาตรการด้านการผังเมือง ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง ส่งเสริมการปลูกต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะ ส่วนอาคารสูงควบคุมการขยายตัวของอาคารให้มีช่องทางลมพัดผ่านได้
  2. ตรากฎหมายเกี่ยวกับการควบคุม ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่มีการบังคับใช้อยู่หลากหลายฉบับในปัจจุบัน และมีหลายหน่วยงานเป็นผู้รักษาการกฎหมายเหล่านี้ ให้รวมอยู่ในลักษณะประมวลกฎหมายเช่นเดียวกับการจัดทำประมวลกฎหมายยาเสพติดที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ และให้มีความทันสมัยและก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน

สาธารณรัฐเกาหลี

รัฐบาลได้ออกพ.ร.บ.พิเศษเกี่ยวกับการลดและการจัดการฝุ่นละอองขนาดเล็ก (The Special Act on the Reduction and Management of Fine Dust) มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 วัตถุประสงค์หลักของกฎหมายฉบับนี้ คือการป้องกันอันตรายจากฝุ่น pm 2.5 ที่มีผลต่อสุขภาพของประชาชน โดยมีสาระสำคัญ คือการให้อำนาจรัฐบาลและรัฐบาลท้องถิ่นในการกำหนดและดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อลดฝุ่นละออง เช่น จำกัดเวลาปฏิบัติงานของโรงงาน สถานที่ก่อสร้าง และโรงงานถ่านหิน ผู้ฝ่าฝืนมาตรการข้างต้นจะถูกปรับไม่เกิน 2,000,000 วอน

นอกจากมาตรการทางกฎหมายแล้ว ได้มีการลงทุนปลูกต้นไม้ตั้งแต่ช่วงปี 2014 ถึงปัจจุบัน กรุงโซลมีโครงการปลูกต้นไม้ 15 ล้านต้น และล่าสุดมีแผนปลูกต้นไม้เพิ่มอีก 15 ล้านต้น คาดว่าต้นไม้จำนวน 30 ล้านต้นจะช่วยลดฝุ่นมลพิษที่เกิดจากควันไอเสียรถยนต์ดีเซลรุ่นเก่าได้ถึง 64,000 คันต่อปี และผลิตออกซิเจนเป็นปริมาตรเทียบเท่ากับที่ประชาชน 21 ล้านคนใช้หายใจในช่วงเวลาหนึ่งปี และจะมีการปลูกต้นไม้ 2.1 ล้านต้นตามแนวทางหลวงสายสำคัญ และอีก 1.15 ล้านต้นตามแนวแม่น้ำ เพื่อให้เกิดการฟอกอากาศอีกด้วย

เมื่อพิจารณามาตรการทางกฎหมายในการจัดการฝุ่น pm 2.5 ของทั้งสองประเทศก็พบว่า มาตรการทางกฎหมายของประเทศไทยกระจายอยู่ในพ.ร.บ.หลายฉบับ ซึ่งแต่ละฉบับก็มีวัตถุประสงค์ของกฎหมายแตกต่างกันออกไปเพื่อจัดการกับกิจการเฉพาะด้าน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการจัดการฝุ่น pm 2.5 โดยเฉพาะเจาะจง จึงทำให้ไม่สามารถนำมาตรการกฎหมายมาใช้เพื่อการจัดการฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในขณะที่มาตรการทางกฎหมายที่ใช้จัดการกับฝุ่น pm 2.5 ของเกาหลีใต้ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับเดียว ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลัก คือ การลดฝุ่น มีเนื้อหาครอบคลุมถึงแหล่งที่มาของฝุ่น มีมาตรการที่หลากหลายกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย.

โดย... 

ชญานี ศรีกระจ่าง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์