เมืองหางโจว … เมืองทองของ Fintech

เมืองหางโจว … เมืองทองของ Fintech

เมืองหางโจวถือเป็นหนึ่งในเมืองหลักในเชิงเศรษกิจของจีนมายาวนาน

ในครั้งก่อนผมได้เล่าถึงประเทศจีนในฐานะการเป็น Global Fintech Hub ไปแล้ว วันนี้ผมจะขอเล่าต่อเกี่ยวกับเมืองหางโจว (Hangzhou) ในแง่มุมการเป็นเมืองอันดับหนึ่งของโลกด้านการเข้าถึง Fintech ของประชาชน ซึ่งวัดจากสัดส่วนประชากรที่ใช้งานบริการด้าน Fintech ต่อจำนวนประชากรทั้งหมด โดยที่ผมและคณะจากสมาคมฟินเทคประเทศไทย ได้ไปเปิดหูเปิดตาสัมผัสกับความก้าวหน้าของเมืองหางโจวมาด้วยกันในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

เมืองหางโจวถือเป็นหนึ่งในเมืองหลักในเชิงเศรษกิจของจีนมายาวนาน เนื่องจากเคยเป็นเมืองหลวงอยู่ประมาณร้อยกว่าปีในช่วงหนึ่งของสมัยราชวงศ์ซ่ง ในปัจจุบันมีประชากรอาศัยอยู่ราว 20 ล้านคน โดยในการเดินทางครั้งนี้ ผมได้มีโอกาพูดคุยกับคณบดีจากมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับ Fintech ในไทยและจีน และค้นพบสาเหตุเบื้องหลังความสำเร็จของเมืองหางโจวในการเป็นผู้นำด้าน Fintech คือหางโจวเป็นเมืองแห่งผู้ประกอบการ นักศึกษาที่จบใหม่ส่วนมากจะทำธุรกิจของตัวเอง ทั้งในรูปแบบของ SME หรือ Start-up ซึ่งต่างจากปักกิ่งที่นักศึกษาจบใหม่จะเน้นทำงานราชการ และต่างจากเซี่ยงไฮ้ที่คนนิยมทำงานบริษัทหลังจากเรียนจบ

ผมขอพูดถึงบริษัท Fintech ที่น่าสนใจในเมืองหางโจว ซึ่งผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมและพูดคุยกับผู้บริหารที่นั่น โดยเริ่มจาก Ant Financial ซึ่งถือเป็นยักษ์ใหญ่ด้าน Fintech ของโลก มีมูลค่ากิจการหรือ Valuation ประมาณ 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีบริการด้าน Payment ที่โด่งดังภายใต้ชื่อ Alipay ที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วเพื่อรองรับการเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ E-Commerce ในประเทศจีนภายใต้ Alibaba Platform ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา Alipay ได้รับความนิยมมากขึ้นและถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในประเทศจีน ไม่ได้จำกัดแค่การใช้งานใน Alibaba Platform และในปัจจุบัน Alipay ก็เป็นที่ยอมรับมากขึ้นในต่างประเทศตามการขยายตัวของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งรวมถึงการใช้งานในประเทศไทยด้วย นอกจากนี้ Ant Financial ยังได้ขยายกิจการไปในหลายประเทศในทวีปเอเชียผ่านการร่วมลงทุนในบริษัทของประเทศนั้น ๆ โดยได้ร่วมลงทุนกับ Ascend ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ True Corporation

ในประเทศจีนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองหางโจวนี้ การใช้ E-Wallet เป็นที่นิยมอย่างมาก โดยประชากรกว่า 90% ในเมืองนี้มีการเข้าถึงบริการดังกล่าว ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันง่ายขึ้นมาก และเป็นการก้าวสู่ Cashless Society อย่างแท้จริง สังเกตได้จากการไม่มี E-Wallet ของผมในครั้งนี้ทำให้ชีวิตของคนที่โน่นยากลำบากมากขึ้น เนื่องจากพนักงานร้านค้าต่าง ๆ จะงงและไม่คุ้นเคยกับการรับเงินสด นอกจากนี้ ร้านค้าส่วนมากจะไม่รับ VISA/Master Credit Card อีกด้วย

จากฐานผู้ใช้งานที่โตขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้ Ant Financial พัฒนาบริการที่เกี่ยวข้องกับการเงินการลงทุน และการใช้ชีวิตประจำวัน ออกมาอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่นการนำเงินที่ค้างไว้ใน E-Wallet ไปลงทุนใน Money Market Fund ภายใต้ชื่อ Yu’e Bao ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ใช้งานได้รับผลตอบแทนที่ค่อนข้างสม่ำเสมอคล้ายกับการฝากเงินในธนาคาร (แต่การลงทุนใน Money Market Fund จะมีความเสี่ยงสูงกว่า) จนทำให้ Yu’e Bao เป็น Money Market Fund ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเวลานี้ โดยมีขนาดกองทุนเกินกว่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว

เรื่องราวของ Ant Financial และ Fintech ในประเทศจีนยังมีอีกมาก โดยในครั้งถัดไปผมจะขอเล่าถึงบริการด้านสินเชื่อส่วนบุคคลและบริการด้านอื่น ๆ ที่น่าสนใจนะครับ แล้วเจอกันครับ