กลยุทธ์การสร้างความเข้มแข็งในระบบนิเวศน์ของ Apple

กลยุทธ์การสร้างความเข้มแข็งในระบบนิเวศน์ของ Apple

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ข่าวดังระดับโลกข่าวหนึ่งคือการเปิดตัวบริการใหม่ๆ ของ Apple ผู้ที่ต่อต้าน Apple ก็จะเริ่มออกมาแสดงความเห็นกันแล้วว่า

 Apple หมดมุขในการเติบโตแล้ว ทำให้ต้องขยายเข้าสู่บริการใหม่ๆ และบริการที่ขยายเข้าไปสู่นั้นก็มีเจ้าตลาดเดิมอยู่แล้ว ขณะเดียวกันบรรดาสาวก Apple ก็มองกลับกันว่าจริงๆ แล้ว Apple ไม่ได้เข้าสู่ตาจนแบบที่หลายๆ คนเข้าใจ แต่เป็นการออกบริการเพื่อเสริมสร้างระบบของนิเวศน์ (Ecosystems) ของ Apple ให้เข้มแข็งขึ้น

ในงานประกาศตัวของ Apple เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น Apple ได้เปิดตัวบริการหลายอย่าง ทั้ง Apple News+, Apple Card, Apple Arcade, Apple TV+ ซึ่งในรายละเอียดของแต่ละผลิตภัณฑ์นั้นมีอยู่ในกระแสข่าวทั่วไปแล้ว แต่จะลองมาวิเคราะห์ในเชิงกลยุทธ์ดูว่าสิ่งที่ Apple กำลังพยายามทำอยู่นั้นคืออะไร

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ารายได้ของ Apple หลักๆ นั้นมาจากการขาย iPhone แต่ในช่วงปีที่ผ่านมายอดขาย iPhone ได้ตกลงเนื่องจากพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป (การเปลี่ยนเครื่องที่ไม่บ่อยเหมือนในอดีต) และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ซึ่งการที่ธุรกิจหลัก (Core Business) เผชิญกับภาวะการไม่เติบโตนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นกับ Apple เจ้าเดียว ทำให้ช่วงหลังเราจะเห็นบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีจะต้องหาทางขยับขยายการเติบโตสู่ธุรกิจอื่นๆ นอกธุรกิจหลัก

ตั้งแต่ช่วง 2-3 ปีที่แล้วเราจะเห็นว่า Apple ได้มีความพยายามในการขยายเข้าสู่ธุรกิจบริการมากขึ้น และยิ่งมาเด่นชัดจากงานเปิดตัวบริการใหม่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีบริการใหม่ๆ ที่เพิ่งเปิดตัวของ Apple ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น จะพบว่าไม่ใช่เป็นการเปิดตัวแบบบริการปกติ แต่มีความพยายามทั้งในการเปลี่ยน Business model ของตนเอง และทำให้ Ecosystems ของตนเองเข้มแข็งยิ่งขึ้น

ตัวอย่างเช่น Apple Card ซึ่งเป็นบัตรเครดิตที่ Apple ออกผ่านทาง MasterCard และร่วมกับ Goldman Sachs ที่มีแรงจูงใจสำคัญในการใช้ไม่ว่าการไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี หรือ การคืนเงิน (Cashback) 3% ของทุกยอดการใช้ หรือ การวิเคราะห์และพยากรณ์ด้านการเงิน หรือ การไม่เก็บข้อมูลลูกค้าไปใช้ประโยชน์ ฯลฯ ดูเผินๆ สิ่งที่ Apple ออกมาคือบัตรเครดิต แต่จริงๆ แล้ว Apple Card นั้นออกมาเพื่อให้คนใช้ Apple Pay มากขึ้น (Apple Pay เป็นบริการการชำระเงินผ่านทางระบบออนไลน์) เนื่องจากตัว Apple Card นั้นก็จะฝังอยู่ในระบบ Apple Pay ที่อยู่ในเครื่อง iPhone ดังนั้นความสะดวกที่ลูกค้าจะได้รับคือเมื่อใช้ Apple Card ผ่าน Apple Pay ในการชำระทุกอย่างออนไลน์ ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ของบัตรเครดิต ทุกประการ ดังนั้น Apple จึงหวังว่าผู้บริโภคจะใช้ Apply Pay กันมากขึ้น และในประเทศที่ไม่รับ Apple Pay นั้น Apple ก็มีตัวบัตรแข็งให้ใช้แทนได้เช่นกัน

กรณีของ Apple News+ ซึ่งผู้บริโภคสามารถเข้าไปอ่านนิตยสารต่างๆ ได้มากกว่า 100 วารสารผ่านทาง iPhone หรือ iPad ก็เป็นอีกหนึ่งบริการที่เหมาะสำหรับนักอ่านที่จะได้เข้าไปอ่านนิตยสารที่มีการจัดรูปเล่มอย่างสวยงาม หรือ กรณีของ Apple Arcade ก็เป็นการเข้าสู่ระบบสมาชิก (Subscription model) สำหรับการเล่นเกมของ Apple ผ่านทางอุปกรณ์ของ Apple

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในบริการเกือบทั้งหมดที่ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นบริการที่อำนวยความสะดวกและอาจจะดึงดูดใจผู้บริโภค แต่สำคัญคือจะต้องเล่นหรือใช้ผ่านทางอุปกรณ์ของ Apple ไม่ว่า iPhone หรือ iPad สิ่งที่ Apple พยายามทำคือ ทั้งรักษาลูกค้าเก่าไว้ให้ซื้อ iPhone รุ่นใหม่ต่อไปเรื่อยๆ ด้วยบริการใหม่ๆ และ ดึงดูดลูกค้าใหม่ๆ ที่อยากจะใช้บริการเก๋ๆ เหล่านี้ ให้เข้ามาซื้อ iPhone มากขึ้น ซึ่งทั้งหมดคือความพยายามในการทำให้ระบบนิเวศน์ (Ecosystems) ของตนเองเข้มแข็งขึ้น ส่วนจะทำได้เพียงใดนั้น คงต้องรอดูต่อไป