การปิดตัวของมหาวิทยาลัยอเมริกัน

การปิดตัวของมหาวิทยาลัยอเมริกัน

เรื่องมหาวิทยาลัยไทยอาจต้องปิดกิจการในอนาคต มีคนพูดกันมานาน มีการอ้างตัวเลขที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ

 โดยเฉพาะสหรัฐกันพอควร วันนี้ขอเอาเรื่องราวและตัวเลขของสหรัฐมาพูดให้ชัดเจนสักที

Concordia College ในรัฐAlabama ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่คนผิวสีอาฟริกันเรียนกันมาเกือบครบ 100 ปี ต้องปิดตัวลงเมื่อไม่นานมานี้ จำนวนนักศึกษาหดตัวลง 43% ระหว่างปี 2005 และปี 2018 จนกระทั่งเหลืออยู่เพียง 400 คน และมีหนี้สินสะสมอยู่ 8 ล้านเหรียญ ชะตากรรมของ Concordia เป็นตัวอย่างของอีกหลายมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดเล็กในสหรัฐในอนาคตอันใกล้

College กับ University ในสหรัฐนั้น มีความหมายเหมือนกัน วลี “go to college” หมายถึงเรียนต่อมหาวิทยาลัย ประเด็นอยู่ที่ว่าเป็น 2 ปีหรือ 4 ปี บางสถาบันก็เรียน 4 ปี แต่ชื่อเป็น college เช่น Dartmouth บางสถาบันเรียน 2 ปีและเรียกว่า college ก็มีมากเช่นพวก community colleges ทั้งหลาย ในที่นี้จะเรียกรวมหมดว่า มหาวิทยาลัย

เมื่อมีคนถามว่าสหรัฐ มีมหาวิทยาลัยกี่แห่ง จึงมีหลายคำตอบจนน่าปวดหัว เพราะได้คำตอบที่ไม่ตรงกัน ถ้านับเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาที่ให้ปริญญาจะมีจำนวน 4,298 แห่ง ในปี2018 โดยแยกเป็นของรัฐ 1,626 แห่ง ของเอกชน 2,672 (ไม่มุ่งกำไร 1,687 แห่ง มุ่งกำไร 985 แห่ง)

ในจำนวนเอกชน 2,672 แห่ง มี 1,800 แห่ง ที่เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนเรียน 4 ปี ซึ่งได้แก่ Harvard/ Stanford / MIT / Duke / Cornell ฯลฯ รวมไปถึงมหาวิทยาลัยเล็กๆ เช่น Concordia (ส่วนใหญ่เป็นขนาดเล็ก)หลายแห่งมีอายุยาวนานแต่ปัจจุบันกำลังจะต้องปิดตัวลงเพราะมีนักศึกษาน้อยลงทุกที

ในทศวรรษที่ผ่านมา มีการพูดกันมากว่า “ฟองสบู่มหาวิทยาลัย” ใกล้แตก แต่หลายคนก็ไม่เชื่อ บ้างก็บอกว่ามองโลกร้ายเกินไป บ้างบอกเป็นเรื่องการเมืองเพราะ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยขยับกันไปทางซ้าย(เชื่อในการมีบทบาทของภาครัฐในเศรษฐกิจและสังคม)มากขึ้น จึงเอามาอ้างเพื่อให้เห็นว่า การเมืองฝ่ายซ้ายกำลังอ่อนลง อย่างไรก็ดี ในที่สุดก็เป็นความจริง หลายมหาวิทยาลัยกำลังปิดตัวลง ไม่ใช่เพราะค่าเล่าเรียน ไม่ใช่เพราะเหตุผลทางการเมือง แต่เป็นเพราะอัตราการเกิด

คงจำกันได้ถึงวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐอันเนื่องมาจากวิกฤตการเงินและการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี2008 ไม่น่าเชื่อว่าความเครียดที่เกิดขึ้นทำให้อัตราการเกิดลดลงเกือบ13% ระหว่างปี 2007-2012 ซึ่งจะมีผลทำให้นักศึกษาวัยเข้ามหาวิทยาลัยในอนาคตอันใกล้คือทศวรรษ2020ลดลงไปประมาณ450,000คน

กลุ่มสถาบันที่จะถูกกระทบมากที่สุดคือ บริเวณที่มหาวิทยาลัยเอกชนอยู่หนาแน่นคือ New York /Pennsylvania /แถบNew England เช่น Massachusetts / Maine / New Hampshireและแถบ Great Lakes เช่น Michigan / Wisconsin / Indiana และ Ohio

อย่างไรก็ดี มหาวิทยาลัยเอกชนในบริเวณเหล่านี้มีฐานะแตกต่างกันมากเช่น Harvard มีนักศึกษา 23,000 คน มีเงินกองทุน 39,000 ล้านเหรียญ ในขณะที่ Franklin & Marshall College ในPennsylvania มีนักศึกษาเพียง 2,200 คน มีเงินทุนเพียง 391 ล้านเหรียญหรือRosemont College ในชานเมือง Philadelphia มีนักศึกษา 635 คนและมีเงินกองทุน 17.2 ล้านเหรียญ พวกเอกชน เล็กๆ เหล่านี้แหละที่กำลังแย่

ในรอบ 3 เดือนแรกของปี2019 Green Mountain / NewburyและMount Ida College ใน New England ประกาศแล้วว่าจะปิดกิจการ ในขณะที่Southern Vermont กำลังใกล้จะปิด เฉพาะในรัฐ Massachusetts เอง 17 มหาวิทยาลัยเอกชนปิดกิจการไปแล้วในรอบ6เดือนที่ผ่านมา

มหาวิทยาลัยเอกชนเล็กๆ เหล่านี้ เป็นของมูลนิธิ กลุ่มศาสนา กลุ่มสมาคม ฯลฯมาเก่าแก่ ส่วนหนึ่งและเพิ่มขึ้นเป็นดอกเห็ดตั้งแต่ทศวรรษ1980เ ป็นต้นมา เมื่อมีคนในวัยเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น พ่อแม่บางกลุ่มปรารถนาให้ลูกเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดเล็กๆ ที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแนวการศึกษาแบบศาสนาหรือ Liberal Arts ที่สร้างให้คนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และในราคาที่ถูกกว่ามหาวิทยาลัยใหญ่ไกลบ้าน

สิ่งที่ทำให้กิจการสะดุดก็คือ อัตราการเกิดของประชากรเปลี่ยนแปลงไปโดยเริ่มสังเกตุเห็นในปี 2017 เด็กเกิดมีประมาณ 3.85 ล้านคนซึ่งเป็นจำนวนต่ำสุดนับตั้งแต่ปี1987 เป็นต้นมา ในปี 2017 Total Fertility RateหรือTFR (จำนวนเด็กเฉลี่ยที่หญิงให้กำเนิดในชีวิตของเธอ)อยู่ในระดับ1,765ของการเกิดต่อหญิง1,000คน ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถรักษาจำนวนประชากรไว้ให้คงที่ได้ (จำนวนที่จะช่วยให้รักษาไว้ได้คือ2,100การเกิด กล่าวคือทดแทนพ่อและแม่และเผื่อการตายของเด็กที่เกิดบางส่วนด้วย)

มองไปทั่วสหรัฐ TFR ต่ำกว่า 2,100 เกือบทั้งประเทศ ที่ต่ำสุดคือบริเวณ New England / New York / Pennsylvania และบริเวณGreat Lakes และเมื่อมหาวิทยาลัยเอกชนมีอยู่หนาแน่นในบริเวณนั้น กิจการจึงถูกกระทบอย่างแรง

เมื่อจำนวนเกิดมีน้อยและถูกดูดไปโดยมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนมีชื่อในบริเวณนั้น จึงทำให้จำนวนนักเรียนที่มีเหลือสำหรับมหาวิทยาลัยเอกชนเหล่านี้ลดลงไปมาก ครั้นจะหาเพิ่มจากต่างประเทศก็ได้ทำมานานแล้วและไม่สามารถสู้กับมหาวิทยาลัยใหญ่ ทั้งของรัฐและเอกชนที่มีวิชาให้เลือกเรียนมากมาย ความหลากหลายของวิชาที่มีให้เรียนกลายเป็นจุดแข็งที่สำคัญในปัจจุบัน

นักวิเคราะห์บางคนไปไกลกว่านั้นด้วยซ้ำเช่น Clayton Christensen แห่ง Harvard Business School ระบุว่าครึ่งหนึ่งของมหาวิทยาลัยทั้งหมดของสหรัฐ (ไม่จำกัดเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนเท่านั้น)จะต้องปิดกิจการลงภายในทศวรรษหน้า เพราะปัญหาทางการเงินอันเนื่องมาจากขาดผู้เรียน คำพยากรณ์นี้อาจดูเลวร้ายไปสักหน่อย Moody’sทำนายว่ามหาวิทยาลัยเอกชนจะปิดตัวลงเฉลี่ยปีละ15 แห่ง จนก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจแก่ท้องถิ่น

เรื่องราวของมหาวิทยาลัยเอกชนในสหรัฐอเมริกาฟังดูแล้วน่าหวาดหวั่น ถ้าหันมาดูสถานการณ์ของบ้านเราแล้วก็จะเห็นภาพที่ไม่ต่างกันนัก เพียงแต่การปิดของต่างประเทศนั้นคือ“ปิด” ไปเลย แต่บ้านเรานั้นการ“ปิด”มีความอ้อยอิ่งต่างกันอย่างน่าปวดหัว