พลังผู้หญิงเปลี่ยนโลก

พลังผู้หญิงเปลี่ยนโลก

การมีผู้หญิงเข้าสู่การเมืองมากขึ้น เชื่อว่าทำให้การตัดสินใจในเรื่องนโยบายและกฎหมายต่างๆ มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสตรีทั่วโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จาก 11.8% ในปี 1998 เป็น 17.8% ในปี 2008 และ 23.5% ในปี 2018 หลายภูมิภาคสัดส่วนผู้แทนฯ หญิงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในบางภูมิภาคสัดส่วนผู้แทนฯ หญิงก็ยังต่ำมาก เช่นในรัฐอิสลามหลายๆ ประเทศ ตัวอย่างประเทศที่ผู้หญิงเข้าสู่การเมืองมากขึ้น เช่น ในสหรัฐอเมริกา มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิงที่ 19.3% จากสมาชิกสภาฯ ทั้งหมด โดยปัจจุบันรวันดาเป็นประเทศที่มีผู้แทนฯ สตรีสูงเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วนถึง 61.3% ขณะที่ประเทศไทย จากผลการเลือกตั้งปี 2557 มีผู้แทนราษฎรหญิงเข้าสภาเพียง 13 คนคิดเป็น 5.4%

งานวิจัยจำนวนมากชี้ว่า ภาวะผู้นำหรือวิธีแก้ความขัดแย้งแบบผู้หญิงไปได้ดีกับประชาธิปไตย เวลาทำงาน ผู้หญิงมักยึดติดกับลำดับขั้นน้อยกว่า สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมได้มากกว่า แสวงหาความร่วมมือได้ดีกว่า ผู้หญิงมักแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีมากกว่าผู้ชาย และเมื่อได้รับเลือกตั้ง ผู้หญิงมักทำงานหนักกว่าผู้ชาย เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าเพศไม่ใช่ข้อจำกัดในการทำงานการเมือง

นอกจากนี้ การมีรัฐมนตรีหญิงร่วมรัฐบาลมักลดปัญหาคอรัปชั่นได้มากกว่า นโยบายมีความหลากหลายกว่า การมีผู้หญิงเข้าสู่การเมืองมากขึ้น เชื่อว่าทำให้การตัดสินใจในเรื่องนโยบายและกฎหมายต่างๆ ทั้งในกระบวนการบริหารหรือนิติบัญญัติมีคุณภาพและประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น งานศึกษาบางชิ้นยังพบว่า ข้อตกลงหรือสัญญาสันติภาพที่ประสบความสำเร็จในระยะยาวมักเกิดจากการมีส่วนร่วมของผู้หญิง โดยเฉพาะเมื่อมีส่วนร่วมตั้งแต่ช่วงต้นของการเจราจา

นายอมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ชี้ว่า การมีส่วนร่วมของผู้หญิงไม่ว่าจะในมิติสังคม เศรษฐกิจ หรือการเมือง เป็นแรงขับเคลื่อนการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพที่สุด

ประเทศที่มีผู้หญิงเป็นผู้นำภาคการเมือง การพัฒนาด้านการศึกษาและสาธารณสุขมักมีความก้าวหน้า งานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งศึกษาในประเทศสมาชิก OECD 19 ประเทศ พบว่า จำนวนผู้แทนราษฏรหญิงที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้งบประมาณด้านการศึกษาสูงขึ้น

มีงานวิจัยในอินเดีย พบว่า รัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดียซึ่งมีผู้แทนฯ หญิงจำนวนมาก จัดสรรงบประมาณในการผลิตน้ำดื่มสูงกว่าเท่าตัว เมื่อเทียบกับรัฐอื่นที่มีผู้แทนฯ เพศหญิงจำนวนน้อยกว่า เช่นเดียวกับการปรับปรุงคุณภาพถนน รัฐที่มีผู้แทนฯ หญิงจำนวนมากกว่า คุณภาพถนนโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับสูงกว่า ขณะเดียวกันรัฐที่มีผู้หญิงเป็นผู้นำ ยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเพศในการเข้าเรียนลงได้ถึง 13%
ในสวีเดน ผู้แทนหญิงมีบทบาทสำคัญในประเด็นสวัสดิการเด็กและผู้สูงอายุ พื้นที่ที่มีผู้หญิงเป็นผู้แทนจำนวนมากกว่า มีการจัดสรรงบประมาณเกี่ยวกับเด็กและผู้สูงอายุสูงกว่า

นอกจากนี้ยังพบอีกว่า นักการเมืองหญิงมักสนับสนุนนักการเมืองหญิงด้วยกัน พยายามเพิ่มพื้นที่หรือโอกาสให้ผู้หญิงด้วยกันบนเวทีการเมืองมากขึ้น และมักใส่ใจนโยบายด้านสวัสดิการของสตรีในสังคม สนับสนุนกฎหมายที่ดูแลสิทธิประโยชน์ของสตรี

งานวิจัยอีกชิ้นซึ่งสำรวจผลกระทบของความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศชายและหญิงในเวทีการเมืองต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ใช้ข้อมูลจากประเทศในเอเชีย 30 ประเทศ ระหว่างปี 1990-2013 โดยใช้สัดส่วนของจำนวนผู้แทนหญิงต่อจำนวนผู้แทนทั้งหมดในรัฐสภาแต่ละประเทศแทนการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในเวทีการเมือง ผลการศึกษาพบว่า การมีส่วนร่วมของผู้หญิงในเวทีการเมืองที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตดีขึ้น

ผู้หญิงจะเข้าสู่การเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้หญิงทั่วโลกเผชิญอุปสรรคหลายอย่างในการเข้าสู่การเมือง บางประเทศด้วยข้อจำกัดทางกฎหมาย หลายประเทศด้วยทัศนคติของสังคม บางสังคมมองว่า งานการเมืองเหมาะกับผู้ชายมากกว่า ผู้ชายมีความสามารถ การศึกษา ทักษะต่างๆ เหมาะแก่การทำงานการเมืองหรือเป็นผู้นำมากกว่า

ทุกสังคมควรเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงทำงานการเมืองมากขึ้น เพราะด้วยประสบการณ์ที่แตกต่างระหว่างชายและหญิง ผู้หญิงมักมีประสบการณ์และบทบาทในการดูแลครอบครัว ดูแลเด็กมากกว่า จึงมีมุมมองต่อเรื่องต่างๆ แตกต่างจากผู้ชาย ช่วยให้กระบวนการตัดสินใจในนโยบายสาธารณะมีความรัดกุม รอบด้านมากขึ้น

เรามาช่วยกันเพิ่มพื้นที่ทางการเมืองให้แก่ผู้หญิงกันครับ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ดังคำกล่าวของนายโคฟี่ อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติที่ว่า ไม่มีเครื่องมือในการพัฒนาใด มีประสิทธิภาพเท่ากับการเพิ่มพลังหรือบทบาทของผู้หญิงในสังคม