การหลับลึกเพื่อ (ชำระ) ล้างสมอง

การหลับลึกเพื่อ (ชำระ) ล้างสมอง

เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้มีการรายงานผลวิจัย ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances โดยมหาวิทยาลัย Rochester และมหาวิทยาลัย Copenhagen

ซึ่งค้นพบหลักฐานว่า การนอนหลับลึกแบบไม่ฝัน (deep non-REM sleep) เป็นภาวะของร่างกายที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อกระบวนการชำระล้างสมองคือ glymphatic system กล่าวคือ “the slow and steady brain and cardiopulmonary activity associated with deep non-REM sleep are optimal for the function of the glymphatic system, the brain’s unique process of removing waste”

กระบวนการชำระล้างสมองให้คืนสภาพเป็นปกตินั้น ถูกค้นพบโดย ศาสตราจารย์ Maiken Nedergaard ผู้ที่นำการวิจัยที่กล่าวถึงข้างต้นเมื่อปี 2012 นี้เอง (7 ปีที่ผ่านมา) ก่อนหน้านี้ไม่มีใครทราบว่าสมองมีระบบชำระล้างตัวเองอย่างไร (ส่วนอื่นๆ ของร่างการนั้น ตับ/ไต ทำหน้าที่ชำระล้างส่วนที่เป็นพิษให้ออกไปจากร่างกาย) แต่มาวันนี้ทราบแล้วว่ากระบวนของสมองในการดูแลตัวเองนั้นคล้ายคลึงกับเมืองใหญ่ๆ คือในระหว่างวันก็จะมีการทำกิจกรรมมากมาย ทำให้เกิดขยะมูลฝอยมากมายที่วนเวียนอยู่ในสมอง แต่พอถึงเวลากลางคืนแล้วร่างกายนอนหลับก็จะเป็นหน้าที่ของ glymphatic system ที่จะเข้าไปชำระล้างและนำเอาขยะมูลฝอยต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างวันออกไปจากสมองให้หมดสิ้น กล่าวคือ

  1. สมองจะอาศัยเส้นเลือด (blood vessels) ดึงเอาน้ำที่หลั่งออกมาจากกระดูกสันหลังหรือ cerebral spinal fluid (CSF) เข้าไปชำระล้างขยะมูลฝอยในสมองออกไปให้หมด เสมือนกับการฉีดน้ำแรงๆ เพื่อล้างรถยนต์
  2. การดำเนินการดังกล่าวต้องทำในช่วงที่นอนหลับและจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดในช่วงของการนอนหลับลึก (deep non-REM sleep) เพราะในช่วงดังกล่าวเซลล์ในสมองจะหดตัวลงไป 60% ทำให้เกิดช่องว่างเพื่อให้การชำระล้างโดยระบบ glymphatic system ทำได้อย่างหมดจดและทั่วถึง โดยน้ำ CSF จะชำระล้างสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสมองคือ หินปูนประเภท beta amyloid plaque และ tau protein ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการนำไปสู่การเป็นโรคสมองเสื่อมโดยเฉพาะ Alzheimer’s นั่นเอง
  3. งานวิจัยอื่นๆ สรุปว่ามนุษย์ควรจะนอนหลับคืนละประมาณ 7-8 ชั่วโมงและควรจะหลับลึกคืนละ 1 ชั่วโมงกับ 45 นาทีและการนอนหลับฝันอีก 1 ชั่วโมงกับ 45 นาที (ประโยชน์ของการนอนหลับฝันและรายละเอียดอื่นๆ ผมได้เขียนลงในประชาชาติธุรกิจ 2 ตอนในเดือนก.พ.และมี.ค.ตามลำดับ) ดังนั้นงานวิจัยที่กล่าวถึงข้างต้นของ Prof Nedergaard จึงเป็นการตอกย้ำความสำคัญของการนอนหลับลึกเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาสมองเสื่อมในอนาคต

Prof Nedergaard ใช้หนูทดลอง โดยแบ่งเป็น 6 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะถูกฉีกยาสลบ (anesthetic) ประเภทต่างๆ ซึ่งพบว่าหนูที่ถูกฉีดด้วยยา Ketamine และ Xylazine ที่ทำให้สมองเข้าสู่สภาวะคล้ายคลึงกับการนอนหลับลึก (deep sleep) มากที่สุด จะทำให้ระบบ glymphatic system ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการชำระล้างและกำจัดสิ่งที่เป็นขยะมูลฝอยออกจากสมองหนู นอกจากนั้นยังพบว่าหนูที่ถูกใช้ยาสลบประเภทอื่นๆ รวมทั้งประเภทที่ใช้กับมนุษย์เพื่อทำการผ่าตัดนั้น ได้ส่งผลกระทบในเชิงลบ เพราะทำให้ประสิทธิภาพของ glymphatic system เสื่อมถอยลง ดังที่ทราบกันดีว่าในบางกรณี ผู้ที่ต้องรับยาสลบเพื่อทำการผ่าตัดจะประสบปัญหาทางสมองหรือ cognitive impairment ในลักษณะต่างๆ ได้

ข้อสรุปที่สำคัญคือระบบ glymphatic system นั้นจะทำงานอย่างเต็มที่ในช่วงของการนอนหลับเท่านั้น และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในช่วงที่มีการหลับลึก แต่แทบจะไม่ทำงานเลยในช่วงเวลาที่ตื่นนอน ดังนั้นจึงเปรียบเทียบได้ว่าช่วงของการนอนหลับนั้น ไม่ใช่ช่วงที่สมองหยุดทำงานเพื่อพักผ่อน แต่เป็นช่วงที่สมองมีระบบปัดกวาดทำความสะอาดและบูรณะตัวเองให้คงสภาพความสมบูรณ์เอาไว้และหากไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ ปัญหาสมองเสื่อมก็น่าจะตามมาอย่างแน่นอน เพราะน้ำ CSF นั้นมีหน้าที่ชำระล้างสารพิษต่างๆ ให้ออกไปจากสมองให้หมดทุกคืนอย่างสม่ำเสมอ

ถามว่าจะทำอย่างไรจึงจะนอนหลับลึกให้เพียงพอหรือจะบำรุงระบบ glymphatic system ได้หรือไม่ ก็ต้องตอบว่ายังมีข้อมูลตรงนี้น้อยมาก แต่อาจมีประเด็นน่าสนใจอยู่ 3 ประการครับ

  1. กระบวนการต่างๆ ของเซลล์ทุกเซลล์ โดยเฉพาะเซลล์สมองต้องใช้พลังงานมาก ซึ่งได้มาจาก mitochondria ดังนั้นการดูแลให้ mitochondria แข็งแรงและสมบูรณ์เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการสุขภาพที่ดีโดยรวม ซึ่ง mitochondria นี้เราได้เคยต้องท่องจำมาแล้วสมัยเรียนมัธยม ซึ่งผมจะขอเขียนถึงอย่างละเอียดในครั้งต่อไปครับ
  2. มีงานวิจัยพบว่า หากนอนตะแคงข้างได้ข้างหนึ่งจะช่วยให้ glymphatic system ทำงานได้ดีกว่าการนอนหงายหรือนอนคว่ำ
  3. งานวิจัยโดยมหาวิทยาลัยมาเก๊า (Macau) ของจีนเมื่อเดือนต.ค.2016 พบว่าหนูที่ได้รับโอเมก้า 3 จำนวนมาก จะมี glymphatic system ที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าหนูปกติ