ทางสองแพร่งซีพี “เลิก-จำใจเดินต่อ”รถไฟความเร็วสูง

ทางสองแพร่งซีพี “เลิก-จำใจเดินต่อ”รถไฟความเร็วสูง

ต้องชื่นชมกรรมการพิจราณาข้อเสนอรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)ทั้ง 7 คน อันประกอบด้วย

วรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่า รฟท. (ประธาน),ภูษิต ชัยฤทธิ์พงศ์ ผู้แทนคมนาคม,ธาริศร์ อิสระยั่งยืน ผู้แทนอีอีซี,วิเชียร สุดรุ่ง ผู้แทนอัยการสูงสุด,กนกรัตน์ ขุนทอง ผู้แทนสำนักงบประมาณ,พิมเพ็ญ ลัดพลี ผู้แทน สบน.และสุจิตต์ เชาวน์ศิริกุล ผู้แทน รฟท. กรรมการและเลขานุการ ที่ยึดมั่นในหลักเกณฑ์ (TOR) ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท) ประกาศเป็นเงื่อนไขในการให้เอกชนยื่นข้อเสนอ

กลุ่ม CP ซึ่งได้รับการคัดเลือกด้วยข้อเสนอที่ดีที่สุด สำหรับรัฐ เมื่อ 12 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ด้วยการเสนอให้รัฐสนับสนุนต่ำที่สุดที่ 117,227 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางที่กำหนดไว้ 119,425 ล้านบาท (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561) แต่ตลอดระยะเวลากว่า 2 เดือนที่ผ่านมา กลุ่ม CP ได้เสนอเงื่อนไขเพิ่มเติมถึง 11 ข้อ และเป็นเงื่อนไขที่เกิน TOR จนถูกสังคมและสื่อมวลชนตั้งข้อสังเกต มาตลอด และการตั้งข้อสังเกตนั้นมีน้ำหนักกว่า พลังพิเศษ ที่จะช่วยผลักดันให้คณะกรรมการพิจารณาข้อเสนอโอนอ่อนผ่อนตาม

ขณะนี้จึงเหลือเพียง 2 ทางเลือกที่กลุ่ม CP พึงต้องเดิน นั่นคือ ทางเลือกแรกจำใจต้อง กลืนเลือด ดำเนินการตามข้อเสนอ ที่คนในวงการรับเหมาเชื่อว่า ข้อเสนอของ CP มีโอกาส ”ไม่คุ้มทุน” สูง ยกเว้น กลุ่ม CP จะไปได้กำไรจากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งมักกะสันและฉะเชิงเทรา หรือตลอดแนวรถไฟความเร็วสูงผ่าน

ทางที่ 2 คือ ถอย ไม่ยอมเข้าทำสัญญากับการ รฟท.ในโครงการนี้ ซึ่งหากเลือกทางนี้ในฐานะผู้ได้รับการคัดเลือกและถอย จะถูกริบหลักประกันมูลค่า 2 พันล้านบาท ที่ใช้วางขณะยื่นข้อเสนอ เพราะถือว่าทำรัฐเสียหายและเสียเวลากับการพิจารณาและเจรจาข้อเสนอ

ดังนั้นเวลาที่รัฐบาลขีดเส้นให้ภายในเดือนกุมภาพัน ธ์หรืออย่างมากไม่เกินกลางเดือนมีนาคม กลุ่ม CP ต้องตัดสินใจว่าจะเดินอย่างไร บางทีการยอมขาดทุนจากข้อเสนอของตัวเองอาจดีกว่า “ถอย” แล้วถูกขึ้นบัญชีดำ ห้ามเข้าประมูลงานของรัฐอีกตลอดไป

โดย... ฅนไท