เบรกซิท: จบแต่เจ็บ ไหม? (2)

เบรกซิท: จบแต่เจ็บ ไหม? (2)

เมื่อไปต่อในทางตรงไม่ได้ ก็จำเป็นหันไปในทางอ้อมดีกว่า.. นี่คือสิ่งที่นางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กำลังเปลี่ยนเส้นทางการดำเนินการ

นำอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปให้มีแรงกระเพื่อมต่อประเทศอังกฤษให้น้อยที่สุด คำถามคือจะสายเกินไปไหม เมื่อนางเมย์ใช้เวลาถึง 2 ปีในการร่างแผน Brexit และนำไปให้ทางยูโรทำการลงมติรับรอง แล้วเมื่อเหลือเวลาอีกเพียง 2 เดือน จึงตัดสินใจเปลี่ยนใจว่าจะขอเปิดเวทีกลับมาเจรจากับทางยูโรใหม่ เพื่อจะได้นำแผน Brexit ที่เปลี่ยนไปจากเดิมเพื่อกลับไปให้สภาของอังกฤษลงมติรับรองอีกครั้ง 

บทความนี้ จะขอเล่าถึงเส้นทางที่เปลี่ยนไปของ Brexit ในอีก 2 เดือนข้างหน้า ผ่านโอกาสของแต่ละแนวทางในการจบ Brexit ต่อจากนี้

โดยหัวข้อที่สภา Commons ของอังกฤษ ได้มีมติรับรอง 317-301 เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ให้มีการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งที่โดดเด่นคือ มติที่ต้องการให้ยกเลิก Irish Backstop ที่ผมได้กล่าวไว้ในบทความ ‘Brexit: จบแต่เจ็บไหม?’ ทั้งนี้ ขั้นตอนต่อจากนี้ คือการทำให้สภาอังกฤษกลับมาลงมติยอมรับ Artcle50 ที่แก้ไขใหม่หลังจากคณะกรรมการสหภาพยุโรปยอมรับในข้อเปลี่ยนแปลงดังกล่าวให้ได้ ซึ่งหากสามารถทำได้ อังกฤษยังมีเวลาเหลืออีก 21 เดือนหลังวันที่ 29 มีนาคมนี้หรือจนถึง 31 ธันวาคม 2020 ในการ work out ให้กระบวนการนี้เสร็จสมบูรณ์ในทางปฏิบัติ

หากจะถามถึงโอกาสว่าในอีก 2 เดือนข้างหน้า Brexit จะจบอย่างไร ผมยังมองว่าโอกาสมีอยู่ 3 แนวทางด้วยโอกาสที่ใกล้เคียงกัน หากประเมินในวันนี้ ได้แก่

หนึ่ง ‘จบแบบสวย โดยนิยามการจบสวยของผม หมายถึง การที่นางเมย์สามารถกลับไปคุยกับทางสหภาพยุโรป แล้วทางนั้น ก็เปิดให้ต่อรอง Article 50 ในประเด็น Backstop ของชายแดนไอร์แลนด์ จนได้ข้อสรุปใหม่ที่ยูโรลงมติรับรอง จากนั้น ก็กลับมาให้ทางสภาของอังกฤษลงมติรับรองร่าง Brexit ที่ปรับปรุงนี้ได้ทันในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งท้ายสุด ยุโรปก็รับรองการออกจาก Brexit ของอังกฤษอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 มี.ค.นี้ ได้ทันการณ์ 

สอง จบแบบสาย หากทางสหภาพยุโรปยังยืนกรานที่จะไม่ขอเปิดเวทีเจรจากับนางเมย์อีกรอบสำหรับข้อตกลงการออกจากยุโรปของอังกฤษตามท่าทีในเบื้องต้น ณ นาทีนี้ แล้วเมื่อ ส.ส.ในสภาอังกฤษ หลายท่านเริ่มลงความเห็นว่า การจบแบบสยอง หรือ No Deal นั่นคือการออกจากยุโรปแบบไม่มีอะไรรองรับสถานภาพทางเศรษฐกิจของอังกฤษเลยในเวทีโลก ซึ่งเท่ากับเป็นการสูญเสียผลประโยชน์ทางการเงินและการค้าของอังกฤษ โดยในเบื้องต้น ธนาคารกลางอังกฤษคาดไว้ที่ราว9.5% ของจีดีพีอังกฤษ ซึ่งหลายฝ่ายประเมินไว้ที่ราว 7% ของจีดีพีอังกฤษ จึงตัดสินใจโหวตให้เกิดการลงประชามติในประเด็น Brexit เป็นครั้งที่ 2 หรือ Second Referendum 

ซึ่งใน Article50 เวอร์ชั่นที่นางเมย์ไปตกลงกับยูโร เปิดโอกาสให้อังกฤษยังสามารถอยู่ในสหภาพยุโรปได้ ตราบเท่าที่อังกฤษต้องการ ซึ่งสมาชิกในสภาอังกฤษต้องโหวตให้ Option เกิดขึ้นจนกระทั่งผลของ Second Referendum จะออกมาในท้ายที่สุดว่า ในระยะยาวอังกฤษจะจบในประเด็น Brexit อย่างไร ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ต้องใช้เวลาทอดยาวไปอีกอย่างน้อยจนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อให้ทุกอย่างลงตัว

ท้ายสุด ‘จบแบบสยอง นั่นคือการที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปแบบเคว้ง หรือ No Deal โดยแบงก์ชาติอังกฤษประเมินว่าจุดที่เป็นความเสียหายของอังกฤษในแนวทางนี้ ได้แก่ การที่ต้องเสียเวลาในจุดผ่านแดนเพื่อตรวจตราสินค้าและบริการที่ทำการซื้อขายกัน โดยประเมินไว้ว่าเสียหายถึง 2-3% ของจีดีพีในความไม่สะดวกนี้

สำหรับโอกาสที่ผมมองว่าทั้ง 3 แนวทางน่าจะไล่เลี่ยกัน เนื่องจากนางเมย์เมื่อกลางสัปดาห์ได้เกริ่นว่า ทางเจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูโร ซึ่งผมมองว่าน่าจะมาจากฝั่งเยอรมัน ได้มากระซิบกับเธอว่าก็ต้องการเจรจาใหม่หากอังกฤษต้อง ‘จบแบบสยอง’ จริงๆ ซึ่งค้านกับทั้งโดนัลด์ ทัสก์ และ ชอง คลอด์ จังเกอร์ ประธานคณะกรรมการสหภาพยุโรป ที่ให้ความเห็นว่าจะไม่เปิดให้อังกฤษต่อรอง Article50 ใหม่ ทำให้โอกาสการ ‘จบแบบสวย’ และ ‘จบแบบสยอง’ น่าจะใกล้เคียงกัน โดยต้องไปวัดกันว่าสายเยอรมันกับสายของนายจังเกอร์ ใครจะแข็งกว่ากัน

ส่วนการ ‘จบแบบสาย’ นั้น หากนาทีสุดท้ายอังกฤษจะต้องเห็น No Deal จริงๆ ช่วงกลางเดือน มี.ค. อาจได้เห็นการดำเนินการของสภาอังกฤษในการทำ Second Referendum อย่างที่กล่าวไว้ ซึ่งผมว่าโอกาสที่จะเกิดขึ้นใกล้เคียงกับการ‘จบแบบสวย’ และ ‘จบแบบสยอง’ เช่นกันครับ