มองภาพใหญ่ ปรับพอร์ตรับปี 2562

มองภาพใหญ่ ปรับพอร์ตรับปี 2562

หลังจากแทบทุก Asset Classes ปรับตัวลงในปี 2561 คล้ายกับปีวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ 2552

ทั้งที่ยังไม่มีวิกฤติและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.)ก็ยังเติบโตดี ทำให้พอเปิดปีใหม่มาได้ไม่ถึงเดือนตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นทั่วหน้าทั้ง  S&P500 +6.5%, EU Stoxx50 +4.4%, NIKKEI +3.7%, HANG SENG +5.2%, Shanghai Comp +4.9%, และ SET Index +1.7%

เราลองมาดูภาพใหญ่กันอีกครั้งเพื่อให้เห็นว่าการลงทุนในปีนี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

1.การชะลอของเศรษฐกิจลงจากจุดสูงสุด (peak) อาจเป็นเรื่องดี ไม่ใช่วิกฤติ เศรษฐกิจโลกและไทยกำลังเข้าสู่วงจรเศรษฐกิจเติบโตช่วงท้าย (late expansion cycle) ซึ่งมองในแง่ดี การชะลอบ้างจะทำให้ช่วงท้ายยืดยาวออกไป ซึ่งดีกว่าโตแบบฟองสบู่แล้วกลายเป็นวิกฤติ

 ผลกระทบคือ ธรรมชาติการเติบโตที่ชะลอในช่วงปลายวัฏจักรมักมาพร้อมความผันผวน โดยเฉพาะจากภายนอก เช่น การลดภาษีของสหรัฐฯ เริ่มหมดแรงส่ง, ปัญหา Brexit ขาดความชัดเจน ภาคธุรกิจไม่กล้าลงทุน, การประท้วงในฝรั่งเศส, การขึ้นภาษีในญี่ปุ่น, การชะลอของจีนจากสงครามการค้า การลงทุนจึงต้องระมัดระวัง แต่ตราบที่เศรษฐกิจและผลประกอบการยังขยายตัว ตลาดหุ้นก็ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นตามกำไรของ บจ.

2.ธนาคารกลางไหวตัวเร็ว เริ่มเปลี่ยนไปหานโยบายที่กระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น Fed เริ่มส่งสัญญาณหยุดขึ้นดอกเบี้ยหลังขึ้นต่อเนื่อง 4 ครั้งเมื่อปีก่อน ตลาดคาดว่ามีโอกาสเกิน 50% ที่ Fed อาจไม่ขึ้นดอกเบี้ยเลยในปีนี้ ส่วนธนาคารกลางจีนก็กลับลำ 180 องศา ด้วยการเพิ่มสภาพคล่อง ลดดอกเบี้ย ลดอัตราการกันสำรองธนาคาร (เร่งการปล่อยกู้) กระตุ้นเศรษฐกิจเต็มที่ ขณะที่ ECB ยุโรปส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้นแต่ไม่รีบ อาจเลื่อนไปปีหน้าถ้าจำเป็น

ผลต่อการลงทุนคือ ความกังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องตึงตัว น่าจะบรรเทาลง วัฏจักรเศรษฐกิจน่าจะยืดออกไปได้ (ในอดีตเศรษฐกิจฟุบเพราะขึ้นดอกเบี้ยเร็วไป) ส่งผลดีต่อตลาดหุ้น โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ (EM) ปัญหาดอลลาร์แข็งและเงินไหลออกจาก EM ผ่อนคลายลง การชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ยังดีต่อตราสารหนี้ (ราคาขึ้น) และหุ้นกลุ่มปันผล รวมถึงกองทุนอสังหาฯ REIT และโครงสร้างพื้นฐาน

3.การสิ้นสุดลงของหลายๆ ความเสี่ยง นอกจากเรื่องนโยบายการเงินของ Fed ที่ผ่อนคลายขึ้น เรื่องสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ผ่านจุดเลวร้ายไปแล้ว ท่าทีสองฝ่ายอ่อนข้อลง ส่วน Brexit น่าจะได้ข้อสรุปไม่ช้าก็เร็ว (ความไม่แน่นอนจะจบลง) ความกังวลเรื่องน้ำมันล้นตลาดก็ลดลงเพราะ OPEC-Russia เริ่มทำตามข้อตกลงที่จะลดกำลังผลิต 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันใน 6 เดือนแรกของปีนี้ โดย OPEC เริ่มลดแล้วตั้งแต่ ธ.ค. 2561

ผลดีต่อตลาดคือ ความไม่แน่นอนลดลง ตลาดหุ้นที่ร่วงเพราะความเชื่อมั่นก็จะฟื้นเพราะความเชื่อมั่นเช่นกัน นอกจากนี้ราคาน้ำมันที่ฟื้นตัวอาจกลับไปเฉลี่ย 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีนี้ ดีต่อกลุ่มพลังงาน ดีต่อแนวโน้มเงินเฟ้อ และสอดคล้องกับมุมมองดอกเบี้ยของ ธปท. ที่เป็นขาขึ้นดีต่อกลุ่มธนาคา

4.เศรษฐกิจไทยชะลอจากภายนอก แต่เร่งตัวจากภายใน การชะลอของเศรษฐกิจโลก แม้กระทบการส่งออกและ GDP แต่ก็มีสัญญาณดีขึ้นจากการเจรจาของสหรัฐฯ-จีน (อาจมีเซอร์ไพรส์ด้านบวก) ส่วนเศรษฐกิจในประเทศมีสัญญาณดีขึ้น ทั้งการบริโภคที่หนุนโดยการอัดฉีดรากหญ้าผ่านบัตรประชารัฐ (คาดมีอีกมากหลังเลือกตั้ง) ส่วนการลงทุน หนุนโดยโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแถบ EEC มูลค่า 6.5 แสนล้าน รวมถึงการลงทุนเอกชนที่รับแรงส่งจากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่สูง และเงินลงทุนโดยตรง (FDI) เสริมด้วยอานิสงส์เงินไหลเข้าจากบริษัทในจีนกระจายความเสี่ยงด้านการผลิตออกมาลงทุนในอาเซียน

 ผลกระทบต่อการลงทุนคือ เราควรปรับกลยุทธ์การลงทุนเน้นเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ EIC  มอง GDP 2562 โต 3.8% (ไม่เลวร้าย เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยตามศักยภาพของประเทศที่ราว 3.5%) ขับเคลื่อนโดยการบริโภคและลงทุนในประเทศ ซึ่งมักส่งผลดีต่อตลาดหุ้นมากกว่าการส่งออก

 โดยสรุป ปีนี้สินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นน่าจะให้ผลตอบแทนที่ดี เพียงแต่อาจมีความผันผวนเพิ่มขึ้น (ตามปกติของช่วงปลายวัฏจักร) ระดับดัชนี 1500 กว่าจุดไม่ใช่จุดที่ควรขายภายใต้มุมมองเศรษฐกิจและผลประกอบการบริษัทที่ยังขยายตัวแม้อาจไม่หรูหราเหมือนเมื่อก่อน ควรระวังหุ้น valuation แพงเช่น PE สูงผิดปกติ (ราคาสะท้อนความหวังการเติบโตในระดับสูง ซึ่งมีความเสี่ยงผิดหวังในช่วงปลายวัฏจักรเศรษฐกิจ) ควรเพิ่มน้ำหนัก REITS และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ที่สำคัญ และควรเพิ่มการลงทุนในน้ำมันรับการฟื้นตัวในปีนี้ ส่วนทองคำอาจมีติดพอร์ตบ้างเพื่อลดความผันผวนในภาพรวม