ปัญหาที่เครื่องแบบ หรือ “ทัศนคติ” ที่มีต่อเครื่องแบบ?

ปัญหาที่เครื่องแบบ หรือ “ทัศนคติ” ที่มีต่อเครื่องแบบ?

เป็นข่าวร้อนแรงในช่วงนี้ ตั้งแต่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนให้ใส่ชุดไปรเวทไปเรียนได้

มีคำวิจารณ์ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทำให้เกิดประเด็นต่างๆตามมาหลายประเด็นมีการหยิบยกข้อดี ข้อเสีย มาหักล้างจนดูเสมือนยากแก่การหาข้อยุติทั้งประโยชน์ในต่อการเรียนของนักเรียน โรงเรียนเองและประโยชน์ทางสังคม

ถ้าจะมองประเด็นทางความคิดในเรื่องนี้ที่ได้พูดคุยกันในสังคม ที่มีประเด็นเด่นๆได้แก่

ประเด็นที่หนึ่ง จะใส่เครื่องแบบไปทำไม ใส่ไปก็ไม่ทำให้เรียนหนังสือเก่งขึ้น ดังนั้นถ้าในทางกลับกัน การใส่เครื่องแบบก็ไม่ทำให้เรียนหนังสือแย่ลง ดังนั้นถ้าใส่เครื่องแบบต่อก็ไม่เสียหายเช่นกัน ดังนั้น คำพูดที่อ้างเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการใส่เครื่องแบบกับการเรียนไม่ควรเอามาอ้างสนับสนุนหรือขัดแย้งไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม ประเด็นนี้จึงไม่ใช่ประเด็นที่จะเอามาพูดเพื่อสร้างความชอบธรรมในการใส่หรือไม่ใส่เครื่องแบบได้เลย

ประเด็นที่สอง ในความหมายทางการตลาด เครื่องแบบถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเอกลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Identity) และอยู่ในส่วนที่เรียกว่า Visual Identity เอกลักษณ์ของแบรนด์ทางสายตา ซึ่งไม่ได้มีแค่เรื่องของเครื่องแบบเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของเสียง สี โลโก้ กลิ่นอื่นๆอีกมากมายที่ต้องนำเสนออย่างสอดคล้องกัน

ประเด็นที่สาม เหตุผลของทั้งสองฝ่ายทั้งการสนับสนุนการใส่หรือไม่ใส่ ควรเป็นประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่ส่วนตัวเหตุผลของการไม่ใส่เพราะขี้เกียจรีดเสื้อผ้า ง่ายดี สะดวก หรือควรใส่เครื่องแบบเพราะสะดวกดีขี้เกียจเลือกเสื้อผ้าในตอนเช้า ล้วนแต่เป็นเหตุผลส่วนตนทั้งนั้น ถ้าโลกเรามีแต่คนคิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตนเอง แล้วเหตุผลของส่วนรวมที่หลายคนต้องมาอยู่รวมกันจะอยู่ได้อย่างไร

การคำนึงถึงผู้อื่นทั้งตัวนักเรียนส่วนใหญ่ ผู้ปกครองและภาพลักษณ์ของสถาบันที่ได้รับผลกระทบจากการใส่เครื่องแบบหรือไม่ใส่เครื่องแบบ ควรได้นำมาพิจารณาให้รอบด้าน (Holistic views)

จากการถามนักเรียนส่วนใหญ่ในประเด็นนี้คงคาดเดาได้ไม่ยากว่าส่วนใหญ่ต้องการไม่ใส่เครื่องแบบ ปมปัญหาจึงอยู่ที่ที่มาของสาเหตุว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น คือ ทัศนคติที่มีต่อเครื่องแบบนั้นถูกนำไปเชื่อมโยงกับคำว่าเสรีภาพ ให้มีความสัมพันธ์กัน แต่ถ้าแยกพิจารณา ความหมายตรงตัวของคำว่า “เสรีภาพ” ที่หมายถึง อำนาจตัดสินใจด้วยตนเองของ โดยไม่มีบุคคลอื่นใดอ้างหรือใช้อำนาจแทรกแซงเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ

เสรีภาพจึงเป็นเรื่องที่สามารถทำอะไรก็ได้ ดังนั้น ถ้าอยู่ที่ห้องนอน ในบ้าน อยากทำอะไร หรือไม่มีผู้อื่นมาอยู่ด้วย ก็คงทำได้ แต่ปัญหาก็คือว่าเมื่อออกมาอยู่ในสังคม เสรีภาพของแต่ละคน กิจกรรมหรือการอยากทำอะไรก็ได้ของแต่ละคน ย่อมไม่เหมือนกันและบ่อยครั้งที่กระทบซึ่งกันและกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และย่อมกระทบคนอื่นแน่นอน

ดังนั้นจึงต้องมีข้อตกลงกันให้เสรีภาพของแต่ละคนไม่มาริดรอนกัน จึงต้องมีการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน การสร้างให้คนเรามีทัศนคติที่ดีต่อโลกและสังคมที่เราอาศัยอยู่ จะเป็นการหัวใจในการสร้างความเข้าใจเรื่องความต้องการไม่เหมือนกันและอยู่ด้วยกันอย่างผาสุข

ความสุขทางจิตใจของคนเราจึงไม่ได้เกิดจากวัตถุที่เราเห็น แต่เกิดจากการเลือกทางจิตใจให้ตนเองมีทัศนคติที่ดี ทัศนคติที่รักสถาบัน รักอาจารย์ รักเพื่อน ไม่ใช่แค่รักตนเองจะทำให้พฤติกรรมทำตามได้โดยง่าย ในชีวิตจริงของคนเรามีเรื่องราวอีกมากมายที่ไม่สามารถทำได้ดั่งใจ แต่การปรับเปลี่ยนทัศนคติจะทำให้ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข สังคมไม่มาวุ่นวายกับพฤติกรรมของเรา

ทัศนคติที่ดีในการอยู่ร่วมกันในวันนี้จึงไม่ใช่แค่เป็น เสรีภาพทุกตารางนิ้ว แต่บริบทสุดท้ายก็คือ “สันติภาพทุกตารางนิ้ว”

ทัศนคติที่มองไม่เหมือนกันทำให้เกิดพฤติกรรมที่ขัดแย้งกัน การแก้ข้อขัดแย้งเริ่มต้นจากที่ว่าเครื่องแบบไม่ได้เป็นข้อบังคับแต่เป็นข้อตกลง และข้อตกลงในบางองค์กรไม่ได้อยู่ที่พวกมากลากไป แต่เกิดการปฏิบัติตามแนวคิดของผู้นำขององค์กร

The problem is not the problem, the problem is your attitude about the problem, Do you understand? (Jack Sparrow, Pirates of the Caribbean)