โลกาภิวัฒน์ วิถีทุน โลกสมัยใหม่: ตะวันออก ตะวันตก (ตอนที่ 3)

โลกาภิวัฒน์ วิถีทุน โลกสมัยใหม่: ตะวันออก ตะวันตก (ตอนที่ 3)

ในแวดวงวิชาการตะวันตกที่สนใจระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ส่วนใหญ่แทบทั้งหมดจะไม่คิดว่าเศรษฐกิจยุคโบราณ 2-3 พันปีมาแล้ว จะมีอะไรที่วิเคราะห์

โดยใช้กรอบของทุนนิยมสมัยใหม่ได้ คือคิดว่ามันคงประยุกต์ใช้ไม่ได้ ไม่น่าสนใจและคงไม่สมจริง ส่วนใหญ่คิดว่าถ้าจะให้สมจริงสำหรับยุโรปน่าจะเป็นทุนนิยมแรก ๆ ทางการค้าในยุคกลาง ตั้งแต่คริสตวรรษที่ 11 เรื่อยมา เช่น กรณี เวนิส หรือ เจนัว ในคาบสมุทรอิตาลี ต่อมาก็คงเป็นฮอลแลนด์และอังกฤษตามลำดับ แต่มีนักคิดสำนักหนึ่งของเยอรมันที่เรียกว่า Historical School ถกเถียงและอภิปรายให้ความสนใจค่อนข้างมากกับเศรษฐกิจยุคโบราณในราว ๆ ต้นศตวรรษที่ 20 สาเหตุเพราะเศรษฐกิจเยอรมันประสบความสำเร็จมีการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง ในช่วงเกือบร้อยปีระหว่าง ค.ศ. 1830-1910 จึงสนใจที่จะมองย้อนกลับไปที่ยุคโบราณ

สำนักหนึ่งนำโดย Karl Bucher มีความเชื่อว่าเศรษฐกิจโบราณนั้น โบราณและล้าหลังเป็นอะไรที่ห่างไกลกับทุนนิยมสมัยใหม่ที่เรารู้จักกัน ลักษณะเศรษฐกิจยุคโบราณนี้มักจะเน้นการดำรงชีวิตและเศรษฐกิจเพียงแค่พอยังชีพการค้าและบทบาทตลาดถ้าจะมีก็ไม่มีความสำคัญ ระบบเศรษฐกิจขาดการเชื่อมโยงกันเป็นตลาดระดับชาติ เศรษฐกิจสมัยโบราณจึงเหมือนเป็นเศรษฐกิจที่ต่อต้านรูปแบบทุนนิยมสำหรับ Bucher ระบบทุนนิยมต้องการทุนที่มีลักษณะเป็นนามธรรม เช่น ในรูปของสินเชื่อ พันธบัตร หุ้น หรือเครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ โดยที่การเงินเป็นตัวเชื่อมระหว่างส่วนต่าง ๆ ของระบบเศรษฐกิจ เงินทำหน้าที่จัดหาทำให้เกิดทุนประเภทต่าง ๆ เช่น เครื่องจักร วัตถุดิบ ที่ดิน และอาคาร แต่ครัวเรือนในเศรษฐกิจสังคมโบราณไม่ได้ทำหน้าที่นี้ การผลิตส่วนใหญ่เน้นเพื่อการบริโภคสำหรับตนเองในสังคมที่เป็นชนบทและทำการเกษตร รัฐหรือรัฐบาลเองก็มีแนวคิดหรือทัศนคติเหมือนชาวบ้านทั่ว ๆ ไป และระบบทุนนิยมสมัยใหม่เศรษฐกิจต้องเป็นเศรษฐกิจเมือง

นักคิดที่เห็นตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงอีกสำนักหนึ่งคือนักประวัติศาสตร์เยอรมันที่ชื่อ Eduard Meyer และ Karl Beloch เขาทั้ง 2 เห็นมิติการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ในโลกสังคมโบราณ แม้ย้อนไป 3-4 พันปี มีชุมชนเมืองเกิดขึ้นมากมายทั้งในเอเชียและยุโรป มีการใช้เงินเหรียญเป็นสื่อกลางและสะสมค่า เกิดการค้าภายในประเทศ ภายในอาณาจักรหรือภายในจักรวรรดิและระหว่างประเทศ ระหว่างภูมิภาคหรือเป็นการค้าทางไกล แน่นอนว่าสมัยก่อนเราคงไม่ได้เห็นบริษัทขนาดใหญ่ ๆ เหมือนที่เราเห็นในระบบทุนนิยมสมัยใหม่ แต่ไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีการแข่งขันกันในการผลิตและขายสินค้าแข่งกันระหว่างเมืองเพื่อตอบสนองตลาดต่างประเทศหรือไม่ได้หมายความว่า มันไม่มี workshop หรือโรงเรือนขนาดใหญ่ที่ทำสินค้าหัตถกรรมใช้คนงานระดับร้อยคน ดังที่พบในศตวรรษที่ 4 สำหรับกรุงเอเธนส์ของกรีก เศรษฐกิจโบราณอาจจะยังไม่มีบริษัทที่จำกัดหนี้ของผู้ลงทุนหรือยังไม่ใช้ระบบบัญชีคู่เหมือนที่ใช้ในอิตาลีกว่าพันปีต่อมา แต่ไม่ได้หมายความว่าระบบการเงินไม่มีการบูรณาการ มีการใช้เงินทุนประเภทต่าง ๆ ดังที่พบ เช่น ในเศรษฐกิจแถบเมดิเตอร์เรเนียน เศรษฐกิจยุคโบราณ เช่น กรีกหรือโรมันนั้นแรงงานทาสคือหัวใจของที่มาของความเจริญเติบโต บางคนอาจจะเรียกว่าเป็นที่มาของอารยธรรมได้ด้วยซ้ำไป แต่หลักการการแข่งขันระหว่างบทบาทของแรงงานทาส แรงงานเสรี และเทคโนโลยีก็มีบทบาทต่อกลไกการทำงานของระบบเศรษฐกิจ เราต้องไม่ลืมว่าเศรษฐกิจมหาสมุทรแอตแลนติกตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 หลายร้อยปีต่อมาก็ยังเติบโตโดยใช้แรงงานทาส การค้าทาสเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ ด้วยเหตุนี้ในความเป็นจริงเศรษฐกิจโบราณก็มีองค์ประกอบของทุนนิยมหลัก ๆ ชัดเจนคือเอกชนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน เศรษฐกิจมีตลาดที่มีราคาเป็นกลไกที่สำคัญในการจัดสรรทรัพยากรและเหนืออื่นใดระบบมีกลไกโดยรัฐที่จะบังคับใช้สัญญาให้มีประสิทธิผลและรัฐให้การสนับสนุนระบบเศรษฐกิจ เศรษฐกิจยุคโบราณนั้น ทุนก็มีบทบาทสำคัญมากผ่านพัฒนาการทางด้านการค้า การกู้ยืมที่มีดอกเบี้ย มีการจ่ายค่าเช่า มีการใช้แรงงานเสรีและการใช้ทาส ครัวเรือนหรือพ่อค้ายุคโบราณก็มีวิธีคิดและจิตวิญญาณเป็นทุนนิยมที่เห็นได้ชัดมีนิสัยและใส่ใจที่จะค้นหาทำวิจัยเพื่อทำให้เกิดกำไรเสมอ บ่อยครั้ง อริสโตเติ้ล ถึงปรามาสไม่เห็นด้วยกับอะไรที่เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการค้าเงิน

เราได้เห็นและวิเคราะห์ปัญหาของกรีก อิตาลี ยุคใหม่มาแล้ว เราเคยรับรู้ความยิ่งใหญ่ของอินเดียและจีนมาก่อน โดยเฉพาะเมื่อเกือบพันปีก่อน (หรือถ้าจะเลือก 500 ปีมาก็ได้) เราเคยเห็นประเทศทั้ง 2 โดยเปรียบเทียบตกอันดับด้านความเจริญเมื่อเทียบกับโลกตะวันตกในช่วงเวลาไม่ถึง 200 ปี แต่ดูเหมือนกำลังจะกลับไปยิ่งใหญ่อีกครั้ง

อะไรทำให้อารยธรรมชะตากรรมของประเทศเหล่านี้ขึ้นลง เราจะใช้กรอบคิดระบบเศรษฐกิจวิถีทุนนิยมที่เป็นแนววิวัฒนาการระยะยาวนานมากเหมือนที่สำนักฝรั่งเศสเรียกว่า Long Duree ในระหว่างทางเราจะได้ความรู้ความเข้าใจว่าวิถีทุนนิยมอาจะเป็นจริงและเกิดขึ้นมายาวนานกว่าที่เราเคยรับรู้ แต่กระนั้นก็ตามถ้ามันมากับความเจริญเติบโตคำถามสำคัญคือว่าในที่สุดปัจจัยอะไรทำให้ความเจริญเติบโตนั้นยั่งยืนหรือไม่ยั่งยืน เมื่อเทียบกับสังคมเศรษฐกิจสมัยใหม่หรือ modern economic growth ที่แต่ละปีโดยทั่วไปประเทศส่วนใหญ่มีเศรษฐกิจรายได้ต่อหัวโตขึ้นทุกปีและมีสิ่งดี ๆ อื่น ๆ ตามมาเห็นได้ในระยะยาว ในครั้งก่อนเราได้วิเคราะห์พอสังเขปว่าเศรษฐกิจ บาบีโลน เมื่อ 3-4 พันปีก่อนก็มีพลวัตมีความเจริญระบบสัญญาของคู่กรณีที่เป็นเอกชนมีการบังคับใช้โดยสถาบันของรัฐ กลไกตลาดทำงานสอดคล้องกับองค์ประกอบของระบบทุนนิยม

เราจะพิจารณาให้ละเอียดขึ้น เศรษฐกิจของกรีกและโรมันว่าจักรวรรดิและอารยธรรมทั้งสองมีลักษณะแตกต่างหรือใกล้เคียงกับองค์ประกอบของทุนนิยมโดยทั่วไปหรือไม่อย่างไร ที่มาของความเจริญเติบโตและที่สำคัญที่สุดทำไมในที่สุดมันถึงไม่ยั่งยืน จากนั้นเราจะพิจารณากรณีของจีน อินเดียและญี่ปุ่นก่อนที่ประเทศเหล่านี้จะเข้าสู่ทุนนิยมยุคใหม่ โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 19

ในกรณีของกรีกและโรมันเราอาจจะตั้งข้อสงสัยไว้แต่แรกที่ว่าความเชื่อของ Karl Bucher ที่มองว่าเศรษฐกิจของกรีกและโรมันสมัยโบราณนั้นเป็นเศรษฐกิจที่ในระยะยาวไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ทุกอย่างเป็นเรื่องเดิม ๆ ว่ามันไม่น่าจะถูกต้องและมันไม่น่าจะเป็นไปได้ จริง ๆ เป็นเรื่องที่น่าเย้ยหยันด้วยซ้ำไป เมื่อโลกรับรู้มายาวนานว่าอารยธรรมกรีกและโรมันที่มีความเจริญรุ่งเรืองและได้ทิ้งมรดกให้แก่ชาวโลก โดยเฉพาะยุโรปในเวลาต่อมาทั้งทางศิลปะ ทางวัฒนธรรม ความรู้ความคิดในทางปรัชญา การปกครอง กฎหมาย หลักการบริหารรวมทั้งนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ ซึ่งยิ่งเมื่อศึกษาค้นคว้าโดยเฉพาะจากหลักฐานทางโบราณคดียิ่งได้ยืนยันและพบความจริงว่า

แม้ความเจริญเติบโตของกรีกและโรมันอาจจะไม่ยั่งยืนในที่สุด แต่ก็เป็นเวลาหลายร้อยปี เศรษฐกิจและชีวิตของคนกรีกและโรมันไม่โบราณแต่เต็มไปด้วยพลังแห่งความก้าวหน้า ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่ก็เป็นทุนนิยมระยะแรก ๆ แม้จะใช้แรงงานทาสจำนวนมาก (ติดตามในคราวต่อไป)