กฎหมายที่เกี่ยวกับธุรกิจการค้าที่แก้ไขใหม่ที่จะใช้ในปี 2562

กฎหมายที่เกี่ยวกับธุรกิจการค้าที่แก้ไขใหม่ที่จะใช้ในปี 2562

สวัสดีปีใหม่ 2562 ในปี 2561 มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับธุรกิจการค้าอันจะมีผลใช้บังคับในปี 2562 หลายฉบับที่สำคัญคือ

1.พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คุ้มครองแรงงาน ( ฉบับที่ )พ.ศ. ....ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ในการพิจารณาเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2561 ระหว่างนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษาและเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วันซึ่งคาดว่าจะมีผลใช้บังคับในเดือน ก.พ.2562

การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานดังกล่าว กำหนดบทบัญญัติที่เป็นการคุ้มครองและเป็นสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างมากขึ้นมีสาระสำคัญดังนี้

(1.1) แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 9 กำหนดให้นายจ้างต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในอัตรา15% ต่อปีในกรณีที่นายจ้างผิดนัดไม่จ่ายเงินให้ลูกจ้างตามกำหนดในกรณีดังต่อไปนี้คือ ไม่คืนหลักประกัน ไม่จ่ายเงินกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่บอกล่วงหน้า ไม่จ่ายค่าจ้างค่าล่วงเวลาค่าทำงานในวันหยุดรวมทั้งเงินที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายตามที่กฎหมายกำหนดไว้ภายในเวลาที่กำหนด

(1.2) แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 13 ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวนาย นายจ้าง หรือกรณีที่เป็นนิติบุคคลที่มีการเปลี่ยนแปลง โอน หรือควบรวมกับนิติบุคคลใดมีผลให้ลูกจ้างคนหนึ่งคนใดต้องไปเป็นลูกจ้างของนายจ้างใหม่ จะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างนั้นด้วย และให้สิทธิต่างๆที่ลูกจ้างมีอยู่เดิมยังคงมีอยู่ต่อไปโดยนายจ้างใหม่ต้องรับไปทั้งสิทธิหน้าที่ที่มีต่อลูกจ้างนั้นด้วย

(1.3)เพิ่มมาตรา 17/1 ให้นายจ้างจ่ายเงินให้ลูกจ้างกรณีบอกเลิกสัญจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาโดยไม่แจ้งล่วงหน้า โดยให้นายจ้างจ่ายเงินให้ลูกจ้างเท่าจำนวนที่จะได้รับตามระยะเวลาจ้างตามสิทธิที่ยังเหลือ

(1.4) แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 34 ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ปีละไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน และให้เพิ่มมาตรา 57 / 1ให้ลูกจ้าง ที่ลากิจได้รับค่าจ้างตามอัตราจ้าง

(1.5)แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 41 กำหนดให้หญิงมีครรภ์มีสิทธิลาตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตร โดยให้ถือเป็นวันลาคลอดบุตร

(1.6) แก้ไข เพิ่มเติมมาตรา 53 ให้สิทธิแก่ลูกจ้างที่ทำงานที่มีลักษณะ คุณภาพและปริมาณเท่ากันต้องได้รับค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาทำงานในวันหยุด ในอัตราเท่ากันไม่ว่าเป็นลูกจ้างหญิงหรือชาย

(1.7) แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 70 กำหนดบทบัญญัติให้กำหนดเวลาการจ่ายค่าจ้างล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และเงินที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายตามกฏหมาย

(1.8) แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 75 ในกรณีนายจ้างมีเหตุจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว นายจ้างต้องจ่ายเงินไม่น้อยกว่า 75% ของค่าจ้างให้ลูกจ้างที่ต้องหยุดงานตลอดระยะเวลาที่หยุดกิจการตามเวลาที่กำหนด

(1.9)แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของมาตรา 118 ที่เกี่ยวกับการจ่ายเงินชดเชยกรณีเลิกจ้างให้เป็นดังนี้

(1.9.1) ลูกจ้างที่ทำงานครบ 10 ปีแต่ไม่เกิน 20 ปีให้จ่ายเงินค่าจ้างไม่น้อยกว่าอัตราสุดท้าย 300 วัน

(1.9.2) ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไปให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน(1.10) แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 120 กรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบการ ต้องปิดประกาศแจ้งล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบ หรือจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าก็ถ้าลูกจ้างเห็นว่าสถานที่ประกอบใหม่ ทำให้ลำบากต่อชีวิตและครอบครัว จะไม่ไปทำงานที่ใหม่ก็ได้ และให้มีผลเท่ากับการเลิกจ้างแต่ละวันที่ย้ายสถานที่ทำการ ดดยนายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด 

2.พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรฉบับที่เรียกว่า อีเปย์เม้นท์ ซึ่ง สนช.แห่งชาติได้พิจารณาในวาระที่ 3 แล้วเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2561 ระหว่างนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งให้มีผลใช้บังคับถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าน่าจะมีผลใช้บังคับต้นปี 2562

มีสาระสำคัญคือให้เพิ่มมาตรา 3 ปัณรส มาตรา 3 โสฬส มาตรา 3 อัฏฐารส

2.1 เพื่อเปิดช่องให้สามารถนำส่งภาษีอากรหัก ณ ที่จ่าย การนำส่งภาษีเงินได้โดยให้สามารถเลือกวิธีการนำส่งเงินภาษี ซึ่งจะต้องมีการออกเป็นกฎกระทรวงที่น่าจะเปิดช่องให้นำส่งทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ รวมทั้งเปิดช่องให้สามารถยื่นรายการหรือเอกสารเกี่ยวกับภาษีอากรโดยวิธีทางอิเล็คทรอนิกส์ได้ด้วย

2.2 อันสืบเนื่องมาจากปัจจุบันการทำธุรกรรมของเอกชนได้ทำผ่านระบบอิเล็คทรอนิกส์มาก ขึ้นโดยเฉพาะการค้าขายทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรืออีคอมเมิร์ซ ส่งผลให้กรมสรรพากรไม่สามารถติดตามข้อมูลตรวจสอบเพื่อจัดเก็บภาษีได้ จึงเพิ่มเติมบทบัญญัติให้สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์รายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ ในปีที่ผ่านมาให้กรมสรรพากร โดยให้ความหมายคำว่าธุรกรรมลักษณะเฉพาะไว้คือ ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป หรือฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีตั้งแต่ 400 ครั้งขึ้นไปและมียอดรวมฝากหรือรับโอนเงินตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป

ทั้งนี้ ให้ผู้มีหน้าที่รายงานส่งรายงานต่อกรมสรรพากรเป็นครั้งแรกภายในวันที่ 31 มี.ค. 2563 ซึ่งก็คือให้ผู้มีหน้าที่รายงานรวบรวมธุรกรรมลักษณะเฉพาะดังกล่าวตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป แล้วไปรายงานให้กรมสมกรภายในวันที่ 31 มี.ค. 2563

3.พ.ร.บ.สถาบันการเงิน(ฉบับที่ 3) พ.ศ.2561 ซึ่งผ่านการพิจารณาของ สนช. เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2561 และประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2561 ให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 90 วัน นับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. 2563 สาระสำคัญ คือ เพิ่มมาตรา 120 /1 120 / 2 และมาตรา 120/ 3 เพื่อให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำกับดูแล ควบคุม ตรวจสอบสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่มีกฎหมายตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะเช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ซึ่งจะมีผลให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจดังกล่าว อยู่ภายใต้การควบคุมตามกฎหมายเฉพาะที่จัดตั้งแล้ว ยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแล ตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย