ปรากฏการณ์เข้าสู่ราศีใหม่ ในการเขียนนวนิยายไทย***

ปรากฏการณ์เข้าสู่ราศีใหม่ ในการเขียนนวนิยายไทย***

ชื่อบทความนี้จงใจประดิษฐ์ให้เข้ากับชื่อนวนิยายรางวัลซีไรต์ ปี 2558 และ 2661 คือ ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต และพุทธศักราชอัสดง

ในทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำของ วีรพร นิติประภา ผู้ได้รับฉายา ดับเบิ้ลซีไรต์หญิงคนแรก

ปรากฏการณ์เข้าสู่ราศีใหม่ ในการเขียนนวนิยายไทย***

ทั้งสองเรื่องมีรูปแบบ(form) หรือ สไตล์วิธีการเล่า (style ofnarration)แบบใหม่ ต่างจากการเขียนนวนิยายแบบเดิมในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง ถ้าเป็นแฟชั่นเสื้อผ้าหน้าผม เปรียบได้ว่า ใหม่หมด “หัวจรดเท้า” บอกถึงเนื้อหาใหม่ความรู้สึกใหม่ของผู้แต่งนั่นเอง

นวนิยายไทยที่เขียนๆในช่วง 2-3 ทศวรรษผ่านมา มักใช้วิธีเล่าเป็นบทบรรยายพรรณนาสลับไปกับการมีบทสนทนา (dialogue)ที่เป็นคำพูดโดยตรง (direct speech) มีเครื่องหมายคำพูด “ ” กำกับอยู่ วิธีดำเนินเรื่องเช่นนี้จึงมักแช่มช้าเพราะมีคำพูดโดยตรงในบทสนทนามากใช้เนื้อที่หลายบรรทัดหลายย่อหน้า (เวลารวมเล่มจึงหนามาก) เล่าเรียงตามลำดับก่อนหลังไปเรื่อยๆ เป็นเส้นตรง(linear) อาจมีหักเหย้อนหลังบ้าง(flashback) เล็กน้อยแต่โครงสร้างเวลาไม่ซับซ้อน มักอาศัยสื่อนิตยสารรายต่างๆ ลงตีพิมพ์เป็นตอน ๆ จนทำเป็นบทละครทีวีได้โดยไม่ต้องปรับอะไรมาก

กระทั่งถึงขนาดว่านวนิยายขายดีตีพิมพ์ในนิตยสารต่างๆ ยุคสมัยละครทีวีเฟื่องนั้น นักเขียนได้ตั้งใจทำแต่ละตอนที่ตีพิมพ์ให้มีเนื้อเรื่องมีไคลแม็กซ์และรูปแบบลงตัวเหมาะทำบทโทรทัศน์ จึงมักยาวประมาณ 30-40 ตอน เป็นความยาวที่พอดีสำหรับทำละครทีวีเรื่องหนึ่ง

ในช่วงนั้นอาจมีบ้างที่เขียนและพิมพ์นวนิยายเป็นเล่มเลย ไม่ผ่านการตีพิมพ์เป็นตอนๆ มักเขียนโดยคนรุ่นหนุ่มสาวกว่า ซึ่งพอเรียกได้ว่ารูปแบบการเขียนและการเสนอตัวต่อผู้อ่านกำลังค่อยๆ เคลื่อนออกจากการเขียนแบบเดิมของนวนิยายไทยออกมาแล้วแต่ยังไม่สมบูรณ์ไม่สะเด็ดน้ำ ยังต้องรอดักแด้ฟักตัวกว่าจะกลายเป็นโฉมใหม่

นั่นคือวิธีการเขียนเล่าเรื่องของ วีรพร นิติประภา เป็นนวนิยายที่ปรากฏสู่สายตาผู้อ่านเป็นเล่ม ไม่ได้แบ่งการดำเนินเรื่องเป็นตอนๆ แบบเดิม ต้องอ่านรวมกันทั้งเล่มแบบดูหนังทั้งเรื่องจึงจะได้ “เรื่อง” ยากหรือเป็นไปไม่ได้ที่จะพิมพ์ให้อ่านตอนๆ เพราะจะไม่รู้เรื่องไม่สนุกเอาเลย ยกแต่ละบทไปทำบทละครทีวีเป็นตอนๆ แบบเดิมยิ่งไม่ได้เด็ดขาด นวนิยายทั้ง 2 เรื่องนี้ มีความยาวน้อยลงกว่าสมัยที่นวนิยายตีพิมพ์เป็นตอนๆ อย่างมาก

กล่าวได้ว่าวิธีเขียน เล่าและการปรากฏตัวสู่ผู้อ่านได้ย้ายออกไปแล้วจากราศีเดิมอย่างหมดจด

เด่นชัดมากในการบรรยายพรรณนาเล่าเรื่องของผู้เล่า(narrator) คือแทบจะทั้งเล่มใช้คำพูดและบทสนทนาที่ไม่ได้เป็นคำพูดบทสนทนาโดยตรง ( จึงไร้การใช้คำพูดและบทสนทนาแบบมีเครื่องหมายคำพูดกำกับแบบเดิมๆ) แต่เป็นคำพูดบทสนทนาโดยตรงที่ถูกนำมาเล่าต่อรายงานต่อ (indirect speech) ในลักษณะคงความเป็นคำพูดโดยตรง (direct speech)ไว้ มีการใช้ฟอนท์ตัวเอนช่วยบอกให้รู้ และหากมีการโต้ตอบจะเขียนเรียงติดต่อกันไปไม่ขึ้นย่อหน้าใหม่ ใช้เครื่องหมายทับ / แบ่งประโยค

ลองอ่านพุทธศักราชอัสดงฯ ดูสักนิด ตอนที่ 1 ดินแดนสุดหล้าฟ้าเขียว

(หน้า 17)...............

ยายศรีเคยเล่าว่าตาทวดของดาวเป็นคนที่มีเม็ดกระ ปกคลุมอยู่ทุกตารางนิ้วจุดเล็กจุดใหญ่ สีน้ำตาลอ่อนสีน้ำตาลแก่ผสมผเสพร้อยทั่วตัวอย่างกับทางช้างเผือกแน่ะหนูดาว  ไม่จริงหรอกยาย เขาเถียงในใจ ท้องฟ้าก็ต้องสีดำมีดวงดาวสุกใสสีขาววาววับ นี่ท้องฟ้ากลับขาวกับมีดวงดาวมืดดับไร้ประกาย แต่เขาไม่ได้พูดออกไปแล้วไปไหนแล้ว.../ตาทวดเหรอ ตายไปแล้วสิป่านนี่แล้วน่ะ/ไม่ใช่ๆ...ผัวคนที่หนึ่ง/หาย หายไปนานแล้ว/แล้วยายรักเขามั๊ย.../ไม่รักจะไปแต่งงานกับเขารึหนูดาว/ไม่ใช่ ดาวหมายถึงตอนนี้  ยายศรีเงียบไปครู่ใหญ่ราวกับจะคะเนมวลล่องหนของความรักที่คงขังค้างข้างใน ก่อนหันมามองด้วยดวงตาที่มีเงาน้ำไหววิบรักสิ เวลาเรารักใคร เราก็รักตลอดไปละ/ทั้ง ๆที่เขาทำยายเสียใจเหรอ...

...............

วิธีเล่าเรื่องเช่นนี้สามารถดำเนินเรื่องได้ช้าเร็วแล้วแต่ผู้เล่า ปรับหน้าถอยหลังเวลาและเรื่องได้ฉับพลันแบบมือที่กดปุ่มเลื่อนเวลาได้เร็วบนหน้าปัดนาฬิกาดิจิทัล สามารถเปลี่ยนเวลาในเรื่องได้ฉับพลันทันที หรือจะสลับเวลาของเรื่องที่เล่าได้อย่างลื่นไหลในย่อหน้าเดียวกันและแม้กระทั่งในประโยคเดียวกัน

ไม่มีแล้วการดำเนินเรื่องจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งเป็นเส้นตรงเรียงตามลำดับตัวเลขบนหน้าปัดนาฬิกาอนาล็อก 

สำนวนภาษาบรรยายของวีรพรมีสไตล์เฉพาะตัวมาก ๆ เข้าขั้น“สไตล์ลิสท์ ” (stylistic) ซึ่งแล้วแต่ใครจะชอบ สมัยหนึ่งการเขียนสไตล์ลิสท์แบบ'รงษ์ วงษ์สวรรค์ ก็มีทั้งคนชอบไม่ชอบ

ผู้เขียนชอบเนื้อหาพุทธศักราชอัสดงฯ  เพียงภาพปกก็ส่งสัญญะให้หยุดดูและคิด เป็นเรื่องความทรงจำและความเป็นไปอันแหว่งๆวิ่นๆไม่ค่อยปะติดปะต่อกันของจีนสยามโพ้นทะเล เช่นว่าใคร อะไรเป็นจีนเป็นไทยหรือปนๆกัน นับว่าทั้งรูปแบบและเนื้อหาแตกต่างไปจากและเดินทางมาไกลมากจากนวนิยายอัตลักษณ์จีน-ไทยในจดหมายจากเมืองไทย อยู่กับก๋ง ลอดลายมังกรเป็นต้น  

ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกตมีแปลเป็นอังกฤษแล้ว ฝีมือนักแปลไทยทำได้ดี เข้าถึงสไตล์เนื้อหาและถ่ายทอดได้เนียนมาก ใช้ฟอนท์ตัวเอนและเครื่องหมายทวิภาค:กำกับข้างหน้าคำพูดโดยตรงที่นำมาเล่าต่อตามหลักไวยากรณ์อังกฤษแสดงการเอาคำพูดโดยตรงมาเล่าต่ออีกชั้นหนึ่งโดยที่ยังคงความเป็นคำพูดโดยตรงไว้ ปกสวยสื่อเรื่องและความสดใหม่ของหนังสือ

 

*** ชื่อเต็ม: ปรากฏการณ์ยกเข้าสู่ราศีใหม่บนเส้นอีคลิปติกในการเขียนนวนิยายไทย