ข้อมูลมีค่า เกินกว่าที่เราคิด

ข้อมูลมีค่า เกินกว่าที่เราคิด

เคยมีคำกล่าวว่า “ใครครองเทคโนโลยี คนนั้นครองโลก”

แต่ผมอยากจะเติมอีกคำหนึ่งที่ว่า “ใครยึดครองข้อมูลและใช้ประโยชน์จากมันได้ คนนั้นจะเข้าไปครองใจคนทั้งโลก” เพราะข้อมูลมีค่าเกินกว่าที่เราคิด

 

มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ลักษณะพฤติกรรมและนิสัยของคนไทยหรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะคล้ายกันคือใช้ “การจำ” ผ่านเรื่องเล่าต่อๆกันมา ดังนั้นการพูดคุย พบปะ แลกเปลี่ยนในชุมชน ตลาด งานบุญ ร้านเหล้า ร้านกาแฟ ตลอดจนการซุบซิบนินทาน่าจะเป็นวิธีการถ่ายทอดที่ใช้กันบ่อย ซึ่งแน่นอนเป็นการส่งสารที่ไม่เป็นทางการนัก แต่นักการตลาดก็นำมาใช้อย่างได้ผลที่เรียกว่า Viral Marketing แต่เมื่อผ่านคนมากขึ้นเรื่อยๆ เรื่องราวมักจะบิดเบือนหรือมีการใส่สีตีไข่ไปจากเดิม ในขณะที่ชนชาติตะวันตก มักจะชอบอ่านชอบ “การจด” ไปเจออะไรมาก็จะบันทึก การบันทึกเกิดขึ้นตลอดเวลาเหมือนส่วนหนึ่งของชีวิต จนกลายเป็นลักษณะเด่น ระหว่างวัฒนธรรมการจำ หรือ Memory กับวัฒนธรรมการจด หรือ Diary ยิ่งนานวันพบยิ่งค้นพบว่า “ข้อมูล” มีค่าและมีความจำเป็น ก็ต่อเมื่อเริ่มรู้สึกลืมเลือนสิ่งที่น่าสนใจในอดีต ยิ่งผ่านมานานวัน ยิ่งจำอะไรได้เลือนลางเหลือเกิน นั่นเพราะไม่ได้รับการปลูกฝังให้จด ในขณะที่ฝรั่งต่างชาติมักจะมีสมุดเล่มเล็กๆไว้จดบันทึกเรื่องราวประจำวันตั้งแต่เด็ก แล้วยังเก็บไว้จนโตที่เรียกว่า สมุดไดอารี่

 

สำหรับคนทำงานไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต ภาคการค้า หรือภาคบริการ เรื่องราวและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประจำวัน ทั้งที่เป็นประสบการณ์ของตนเอง เกิดขึ้นกับลูกค้า คู่ค้า หรือแม้แต่กับเพื่อนร่วมงานด้วยกัน มีคุณค่าและความสำคัญต่อการพัฒนางานและองค์การเป็นอย่างยิ่ง ตามร้านค้าหรือหน่วยบริการมักไม่ค่อยมีการบันทึกอะไรเท่าไรนัก แต่ในโรงงานอุตสาหกรรม เราจะพบเห็นพนักงานในทุกๆขั้นตอนต้องจดบันทึกข้อมูลการผลิต อาทิ การหยุดเสียของเครื่องจักร บันทึกการซ่อมบำรุง จำนวนของดีของเสีย และลักษณะของเสียที่เกิดขึ้น แต่น่าเสียดายที่ข้อมูลที่ลงแรงบันทึกไว้นั้น มีเพียงบริษัทใหญ่ๆ บริษัทชั้นนำ หรือบริษัทที่เห็นคุณค่าของมันเท่านั้น ที่ได้นำไปประมวลผล วิเคราะห์ และใช้ผลของมันในการปรับปรุงกระบวนการ พัฒนาคุณภาพของงานให้ดีขึ้น

 

ด้วยความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี การประยุกต์ใช้งานระบบไอที อาทิ ERP CRM แทนการจดบันทึกของคนลงบนกระดาษ ตั้งแต่การจัดเก็บสินค้าคงคลังในโรงงาน วัตถุดิบและชิ้นส่วนทุกชิ้นที่รับจากซัพพลายเออร์จะต้องมีฉลากติดที่ชัดเจน มีการสแกนบาร์โค้ดเข้าระบบ เมื่อเบิกจ่ายเข้าในสายการผลิตก็มีการอ้างอิงรหัสดังกล่าวในทุกขั้นตอน มีการป้อนข้อมูลของดีของเสีย(รวมถึงประเภทของเสีย)เข้าในระบบคอมพิวเตอร์ เมื่อเครื่องจักรเสียสดุดหยุดซ่อม ก็มีการบันทึกเวลาและอาการอย่างชัดเจน ในขณะที่ร้านค้า (ค้าปลึก ค้าส่ง) ก็ใช้บาร์โค้ดในการจัดเก็บ จำหน่าย และตัดสต็อกเช่นกัน ในภาคบริการไม่ว่าจะเป็นโรงแรม โรงพยาบาล ธนาคาร ก็เก็บบันทึกประวัติข้อมูลลูกค้า การเข้ามาใช้บริการในแต่ละครั้ง จึงถือว่าองค์กรใดก็ตามที่ได้มีการประยุกต์ใช้งานไอทีในทุกขั้นตอนการทำธุรกิจ เรียกว่าอยู่ในระดับการทำงานแบบ 3.0

 

แต่ในยุค 4.0 สิ่งต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น ได้กลายเป็นพื้นฐานที่ผสมผสานหรือแทรกเข้าไปอยู่ในกระบวนการทางธุรกิจทั้งหมด และที่สำคัญเป็นไปโดยอัตโนมัติแบบที่คนแทบไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวหรือคอยป้อนข้อมูลจดบันทึกแต่อย่างใด การรับข้อมูลเข้า การประมวลผล ตลอดจนนำผลวิเคราะห์ไปใช้ในการตัดสินใจเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติประจำวัน ผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น IoT (Internet of Thing) ทำหน้าที่เป็นตัว Input และ Output ในทุกๆจุดที่เราต้องการควบคุม สั่งการ หรือตรวจติดตามการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมภายในบ้าน ภายในโรงงาน ภายในร้านค้า ภายในสำนักงาน และทุกๆสถานที่สาธารณะ โดยมี Sensor ทำหน้าที่แปลงสภาพแวดล้อมทางกายภายนั้น (physical data) ให้กลายเป็นข้อมูลดิจิตัล (digital data) แล้วส่งผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไปจัดเก็บไว้ในคลาวด์ (cloud) ซึ่งถือว่าเป็นคลังข้อมูลขนาดใหญ่ที่เราสามารเรียกใช้งานมันได้ทุกที่ทุกเวลา

 

คลังข้อมูลขนาดใหญ่ดังกล่าว จะถูกนำไปใช้วิเคราะห์ผ่านตัวแบบ (model) หรือสมการ (formula) ที่สร้างขึ้นจากความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆโดยนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data science) เมื่อใดก็ตามที่ตัวแปรเกิดการเปลี่ยนแปลงก็จะส่งสัญญาณบางอย่างจากโมเดลนั้นๆให้เรารู้ หรืออีกกรณีหนึ่งคือนำแนวโน้มหรือความสัมพันธ์ของข้อมูลที่ทำให้เกิดรูปแบบ (pattern) บางอย่าง ไปใช้ในการพยากรณ์อนาคต เช่น ใช้วางแผนซ่อมบำรุงเครื่องจักรในโรงงาน (predictive maintenance) ใช้ในการพยากรณ์ความต้องการผลผลิต (demand planning) หรือคาดการณ์การเติบโตจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป (market trend)

 

ความจริงแล้วทุกวันนี้ เราไม่ได้แข่งกันที่ความสำเร็จในอดีต หรือความสามารถในปัจจุบันเท่านั้น หากแต่แข่งขันกันว่าด้วยเรื่องของการคาดการณ์อนาคตและการเตรียมการรับมือกับเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น (foresight framework and scenario planning) เครื่องมือใหม่อย่าง AI (Machine Learning และ Deep Learning) จึงทำให้ Robot ไม่ใช่แค่แขนกลหรือระบบอัตโนมัติที่ทำงานตามโปรแกรมล่วงหน้า หากแต่คิดและมีปฎิสัมพันธ์กับสถานการณ์ข้างหน้าได้อย่างชาญฉลาด ข้อมูลความรู้พื้นฐานจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ซึ่งมีคุณค่าเกินกว่าที่เราคิดมากมาย มาจัดระเบียบที่ทำงาน จัดวางระบบข้อมูล และใช้ประโยชน์จากมันกันดีกว่า