โลกาภิวัตน์ วิถีทุน โลกสมัยใหม่ : ตะวันออก - ตก (ตอนที่ 1)

โลกาภิวัตน์ วิถีทุน โลกสมัยใหม่ : ตะวันออก - ตก (ตอนที่ 1)

โลกแห่งอนาคตกำลังเผชิญกับความท้าทายและคำถามมากมาย ศตวรรษที่ 21 นั้นเป็นศตวรรษแห่งเอเชียแน่นอน โลกจะเปลี่ยนขั้ว เปลี่ยนผู้นำ

เหมือนศตวรรษที่ 20 และ 19 เป็นของอเมริกาและอังกฤษ หรือบริเทน แต่ศตววรษที่ 21 ซึ่งเป็นโลกหลังตะวันตก จะเป็นโลกหลายขั้วแห่งอำนาจ ต่างจากอดีต

ระเบียบโลกใหม่และระบบอภิบาลโลกจะพัฒนาไปยังอย่างไร ควรมีหน้าตาอย่างไร เมื่อเปรียบเทียบกับระบบที่เป็นอยู่ จริงหรือไม่ที่ว่าลัทธิโลก (Globalism) และเสรีนิยมใหม่ (Neo -liberalism) ได้จบลงแล้วหลังวิกฤติโลกใหญ่ 2008 ดิสรับชั่นของเทคโนโลยี ความไม่เท่าเทียมกันและความมั่งคั่ง ทุนนิยมเชิงอำนาจนิยม (Authoritarian Capitalism) สงครามการค้าที่ทรัมป์และคู่แข่งกำลังสู้และต่อรองกัน รวมทั้งขบวนการเมืองขวาจัดสุดขั้ว และประชานิยมที่กำลังเติบโตในหลายๆ ประเทศ ล้วนเป็นสัญญาณชี้และบอกอะไรเกี่ยวกับอนาคตรูปแบบและบทบาทของโลกาภิวัตน์ รัฐ ตลาด ชุมชน ภาคพลเมือง ระบบทุนนิยมและวิถีของประชาธิปไตย คุณภาพของระบบการเมืองจะเป็นตัวชี้ขาด ความแตกต่างในความสำเร็จของเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ได้เพียงไร

ที่สำคัญ โลกแห่งอนาคตจะเป็นโลกที่ประเทศรวยกับประเทศจน ช่องว่างทางรายได้และความมั่งคั่งจะแคบลง ๆ เรื่อย ๆ หรือไม่ โลกจะเห็นปรากฏการณ์ที่ Michael Spence นักเศรษฐศาสตร์ รางวัลโนเบล เรียกว่า The Next Convergence หรือตรงกันข้าม จริงๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 เราจะกลับไปได้เห็นผลลัพธ์ เหมือนที่เราได้พบเห็นในช่วงโลกาภิวัตน์ใหญ่ (ค.ศ.1850 – 1914) หรือ ที่โลกหรืออารยธรรมตะวันตกกับที่เหลือ (The Rest) ทิ้งห่างกันกว้างขึ้นแบบไม่เคยเกิดมาก่อนในประวัติศาสตร์ อันเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า The Great Divergence (ต่อไปจะเรียกว่า GD) 

นักวิชาการโดยเฉพาะนักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ โดยเฉพาะในรอบ 20 -30 ปีที่ผ่านมา ได้ให้ความสนใจกับปรากฏการณ์ของ GD ซึ่งพวกเขาคิดว่า มีความสำคัญต่อการมองโลกปัจจุบันและโลกแห่งอนาคต การตื่นตัวในการศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์นี้ และที่ผ่านมาประสบความสำเร็จพอสมควรในการให้ความรู้ใหม่ หักล้างหรือลบความเชื่อ ความเข้าใจเก่าๆ ด้วยบทวิเคราะห์และข้อมูลใหม่ในระดับจุลภาค ระดับภูมิภาค โดยเฉพาะความพยายามที่จะเปรียบเทียบความเจริญ วัดจาก GDP ต่อหัว 

ย้อนกลับไปที่ปี 1000 ในบริบทของการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ แม้หลายเรื่องยังไม่มีข้อยุติ แต่องค์ความรู้มีการพัฒนา ความเชื่อเดิมๆ ที่ว่า GD นั้นเป็นปรากฏการณ์ใหม่หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่อังกฤษประมาณปี ค.ศ. 1800 โดยที่ก่อนหน้าประเทศต่างๆ ทั้งในยุโรป และเอเชียไม่มีความแตกต่างกันเท่าใดนั้น พบว่า จริงๆ ก่อนหน้า 1800 เราเห็น divergence เกิดขึ้นแม้จะไม่ใหญ่โตเหมือนหลัง 1800 ทั้งในเอเชียและยุโรป ความเชื่อเก่าๆ อีกเรื่องหนึ่งที่พบว่าไม่เป็นความจริงก็คือ ความเชื่อที่ว่า เมื่ออังกฤษมีการพัฒนา ปฏิวัติอุตสาหกรรมในปลายศตวรรษที่ 18 นั้น ประเทศในเอเชีย เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น นั้นเริ่มถูกทิ้งห่างทางด้านเศรษฐกิจหรือเอเชียล้าหลังตามหลังยุโรปไปมาก ซึ่งเรื่องนี้ข้อมูลใหม่ เมื่อลงดูรายละเอียด พบว่า ความเชื่อเก่าพูดเกินความจริง เป็นต้น นักประวัติศาสตร์ไม่มีความขัดแย้งกันในข้อมูลและความเชื่อที่ว่า เมื่อ 1000 ปีที่แล้ว อารยธรรมและความเจริญอยู่ที่อิสลามและเมดิเตอร์เรเนียน เอเชียที่จีน อินเดีย 

ขณะที่ยุโรปเหนือและตะวันตก ชัดเจนว่าคือดินแดนที่ล้าหลังถูกรุกรานโดยพวก Norman Viking ภาพลักษณ์หรือความรู้เดิมๆ เกี่ยวกับยุโรปมักมองยุโรปหลังการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันและหลังจากนั้น เมื่อเข้าสู่ยุคกลาง(บางคนเรียกว่า ยุคมืด) มักมองยุโรปในช่วงนี้ว่ายุโรปตายสนิท ซึ่งในความเป็นจริง มีการเปลี่ยนแปลงในด้านความก้าวหน้าในด้างต่างๆอย่างช้าๆ มาเห็นชัดเจนในช่วงห้าร้อยปีระหว่าง ค.ศ.1000 – 1500 นี้ และหลายฝ่ายมองว่า พัฒนาการหลายอย่างในช่วงนี้และอีก 2 - 300 ปีต่อมา เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของยุโรป ผนวกกับการค้นพบโลกใหม่ที่อเมริกาล้วนมีส่วนทำให้ยุโรปเหนือกว่าซีกโลกอื่นทางด้านความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ

แน่นอนว่า มีคำถามทั้งใหญ่และเล็กที่ยังเป็นความขัดแย้ง และทำให้นักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ยังสามารถต่อยอดองค์ความรู้ได้อีกมากมาย ความขัดแย้งหลายเรื่องไม่สามารถหาข้อยุติได้ในเชิงข้อมูลทางสถิติหรือปริมาณ เพราะเป็นความแตกต่างทางด้านโลกทัศน์ ตัวอย่างเช่น นักวิชาการ (เช่น Frank and Gill) ที่เชื่อว่าระบบโลกเป็นระบบที่เริ่มเมื่อ 5,000 ปีก่อน ทุกมุมโลกมีการเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการและติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน ถ้ามองในช่วงเวลาที่ยาว ซีกโลกอื่นที่ไม่ใช่ยุโรปมีความสำคัญต่อโลกมากกว่า และเป็นเรื่องไม่ถูกต้องที่มองยุโรปหรือตะวันตกเป็นผู้สร้างโลกใหม่ เพราะยุโรปเพิ่งมามีชีวิตชีวา มีบทบาทก็เพียงไม่เกิน 500 ปี นักประวัติศาสตร์ เช่น Hobson Giddy รวมทั้ง ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์(ตะวันออก ตะวันตก ใครสร้างโลกสมัยใหม่) ล้วนเชื่อว่า ตะวันออกเช่น อารยธรรมจีน อิสลาม มีบทบาทต่อความก้าว หน้าของโลกมากกว่าหรือไม่น้อยไปกว่าที่พวกมองยุโรปเป็นศูนย์กลางโลกหรือ Euro Centrism ผู้เขียนคิดว่า สำนักที่มองระเบียบโลกหรือโลกาภิวัตน์ที่ยาวมาก เช่น 5 พันปี 2 พันปี 1 พันปี นั้นมีปัญหาในการหาคำอธิบายปัจจัยสำคัญที่เป็นเหตุที่ทำให้เกิด Great Divergence โดยเฉพาะช่วง 1850 – 1950 ซึ่งโดยข้อมูลไม่มีใครที่จะโต้แย้งได้ ทุกคนเห็นว่ามันมี GD เกิดขึ้นจริง และมีผลตามมาจนถึงวันนี้ และมันต้องการคำ อธิบาย ไม่ว่าเราจะเถียงกันว่า โลกาภิวัตน์จริงๆเริ่มเมื่อไหร่ ระบบทุนนิยมโลกเริ่มช่วงไหน โลกสมัยใหม่เริ่มเมื่อไร เห็นด้วยไหมกับ Fernandes – Armesto (1492 The World Begin) หรือ Adam Smith หรือ Marx ที่เห็นว่า การค้นพบอเมริกาเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่

ถ้า GD ในช่วง 100 – 150 ปีต้องการคำอธิบาย จุดอ่อนของระบบโลกที่ยาวนานมากก็คือ ระบบที่ยิ่งยาวทุกอย่างมันขึ้นแก่กันและกันไปหมด มันอธิบายอะไรไม่ได้ในเชิงเหตุปัจจัย