3 บทเรียนจากเลห์แมน บราเธอร์ส

3 บทเรียนจากเลห์แมน บราเธอร์ส

ต.ค.ปีนี้ ครบ 10 ปีของวิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลกที่ประทุขึ้น ในปี 2008 จุดชนวนโดยการล้มละลายของธนาคารวานิชธนกิจอันดับ 5 ของโลก อายุ 158 ปี

การล้มละลายของธนาคารวานิชธนกิจอันดับ 5 ของโลก อายุ 158 ปี คือ ธนาคารเลห์แมน บราเธอร์ส ในเดือน ก.ย.ปีเดียวกัน สร้างความปั่นป่วนให้กับระบบการเงินโลก จากการสูญเสียความมั่นใจของนักลงทุนในเสถียรภาพของสถาบันการเงินสหรัฐ นำไปสู่การเกิดวิกฤติครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก

ในช่วงเกิดเหตุการณ์ผมดำรงตำแหน่ง รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ด้านเสถียรภาพระบบการเงิน รับผิดชอบเรื่องการกำกับตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ จึงได้รับรู้และเกี่ยวข้องกับการบริหารผลกระทบของวิกฤติที่อาจมีต่อเศรษฐกิจและสถาบันการเงินไทย ซึ่งเราก็สามารถผ่านเหตุการณ์ดังกล่าวมาด้วยดี ต่อมาช่วงที่รับตำแหน่งกรรมการ ผู้อำนวยการ สถาบันไอโอดี ที่ผมเพิ่งหมดหน้าที่ลงในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ก็ได้นำเรื่องการล่มสลายของเลห์แมน บราเธอร์ส มาเป็นกรณีศึกษาเพื่อแสดงให้เห็นถึง ความบกพร่องของคณะกรรมการเลห์แมน บราเธอร์ส ในการกำกับดูแลกิจการของบริษัท โดยเฉพาะการบริหารความเสี่ยง จนเป็นเหตุให้ธนาคารต้องมีอันเป็นไป

กรณีเลห์แมน บราเธอร์ส ให้บทเรียนหลายอย่างในแง่การทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ การกำกับดูแลกิจการ โดยบอร์ดของธนาคาร ช่องโหว่ในการตรวจสอบและกำกับสถาบันการเงินโดยหน่วยงานรัฐ รวมถึงความสำคัญของวัฒนธรรมองค์กรที่สามารถทำให้องค์กรและระบบการเงินทั้งระบบเกิดปัญหาได้ วันนี้จึงอยากกลับมาสะท้อนเรื่องนี้ว่าเราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากกรณีที่เกิดขึ้น 10 ปี ต่อมา

ธนาคารเลห์แมน บราเธอร์ส เริ่มต้นเป็นร้านขายของชำ ในรัฐอาลาบาม่า สหรัฐ โดยพี่น้องตระกูลเลห์แมน 2 คน ซึ่งในรุ่นที่ 4 ของตระกูล ธุรกิจก็ได้เปลี่ยนรูปแบบมาเป็นธุรกิจการเงินเต็มตัวและเติบโตจนเป็นธนาคารวานิชธนกิจ อันดับ 5 ของสหรัฐ ในช่วงต้นทศวรรษ 70 จากนั้นธนาคารเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนมือ หลายครั้งถือว่าผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก จนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์คในปี 1994 ในนามธนาคารเลห์แมน บราเธอร์ส อย่างที่เรารู้จักกัน และเติบโตด้วยดีมาตลอด มีทรัพย์สิน ณ สิ้นปี 2007 กว่า 6 แสนล้านดอลลาร์ แต่ก็ต้องประกาศล้มละลายในปีต่อมา จากที่ธนาคารขาดทุนมากจากการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน(Mortgage Backed Securities: MBS) ที่ธนาคารลงทุนมาก เกือบ 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เกือบ 4 เท่าของเงินกองทุน ตราสารMBS ให้กำไรมากช่วงภาวะตลาดเป็นขาขึ้น ราคาบ้านสูงขึ้น แต่ก็จะขาดทุนมาก เมื่อราคาบ้านตก การล่มสลายของเลห์แมน จึงเป็นผลจากการลงทุนในตราสาร MBS ในจำนวนที่มาก ที่เกิดจากการบริหารความเสี่ยงที่ผิดพลาด เพราะคณะกรรมการธนาคารไมได้ทำหน้าที่กำกับดูแลธนาคารอย่างดีพอ จนเกิดความเสียหายเกินกว่าจะแก้ไขได้เมื่อตลาดเปลี่ยนทิศทาง และต้องยื่นล้มละลายในที่สุด เป็นการล่มสลายของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่เกิดจากภาวะฟองสบู่แตกในตลาดอสังหาริมทรัพย์

มองย้อนกลับไปดู บทเรียนสำคัญจากกรณีเลห์แมน ที่ยังใช้ได้ถึงวันนี้ คงมี 3 เรื่อง

หนึ่ง การทำธุรกิจอย่างประมาทที่ขัดกับหลัก ธุรกิจธนาคารที่ควรต้องทำธุรกิจด้วยความระมัดระวัง ในฐานะที่เป็นผู้ดูแลทรัพย์สินของผู้อื่น ความประมาทมาจากโมเดลธุรกิจขณะนั้นที่เน้นการทำกำไรระยะสั้น(shortermism) หมายถึง เป้าประสงค์ของธุรกิจมุ่งอยู่กับการทำกำไรแบบไตรมาสต่อไตรมาส ทำให้ธนาคารให้ความสำคัญกับการหาผลตอบแทนจากการลงทุนมากกว่าการให้บริการทางการเงิน ที่สำคัญผลตอบแทนต่อผู้บริหารในแง่เงินเดือนและโบนัสที่กำหนดโดยคณะกรรมการธนาคารก็โยงกับกำไรระยะสั้น สร้างแรงจูงใจให้ฝ่ายจัดการ มุ่งแต่การทำกำไรระยะสั้น โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อธนาคารในระยะยาว เมื่อภาวะตลาดเปลี่ยนแปลง แรงจูงใจที่ผิดพลาดนี้ ทำให้ฝ่ายจัดการกล้า ทำธุรกิจมีความเสี่ยงสูง ละเลยเรื่องบริหารความเสี่ยงและธรรมาภิบาล จนในที่สุดความเสียหายก็เกิดขึ้น เมื่อภาวะตลาดเปลี่ยน สะท้อนชัดเจนถึงความเสี่ยงของการทำธุรกิจแบบมองสั้นหรือ shortermism 

สอง คือ การบริหารความเสี่ยงที่ผิดพลาดจากการไม่ทำหน้าที่ในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในระบบการเงิน ในกรณีของเลห์แมน คณะกรรมการธนาคารไม่ได้ตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากพอร์ตลงทุนของธนาคารที่กระจุกตัวมากในตราสาร MBS เพราะขาดการถ่วงดุลที่เหมาะสมในการตัดสินใจ ที่มาจากความอ่อนแอในโครงสร้างของคณะกรรมการธนาคาร เช่น ประธานคณะกรรมการและ กรรมการผู้อำนวยการ หรือ ซีอีโอ เป็นบุคคลเดียวกัน กรรมการส่วนมากไม่มีทักษะและความสามารถในการบริหารธุรกิจธนาคารที่สลับซับซ้อน กรรมการบางคนเป็นกรรมการนานกว่า 20 ปี ทำให้ขาดพลังความคิด อิสระที่จะช่วยตั้งคำถาม หรือกลั่นกรองข้อเสนอต่างๆ ของฝ่ายจัดการ ผลคือคณะกรรมการไม่สามารถควบคุมการทำหน้าที่ของฝ่ายจัดการได้อย่างที่ควรจะเป็น

ในระดับอุตสาหกรรม พฤติกรรมถือความเสี่ยงสูงเพื่อทำกำไรระยะสั้นเกิดขึ้นกว้างขวาง มีการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยโดยไม่สนใจความสามารถของผู้กู้ที่จะชำระคืน เพราะระบบการเงินขณะนั้นมีนวัตกรรมที่ทำให้ผู้เล่นในแต่ละจุดส่ามารถผ่องถ่ายความเสี่ยงออกจากองค์กรของตน ผ่านการซื้อประกันความเสี่ยง ทำให้แต่ละคนกล้าที่จะถือความเสี่ยงสูง ผ่านการซื้อประกันความเสี่ยง หรือโยนความเสี่ยงให้ผู้เล่นอื่น ผ่านการแปรสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นตราสารMBS ขายให้กับนักลงทุน แต่ความเสี่ยงไม่ได้หายไปไหน ไปกระจุกตัวอยู่ที่องค์กรสุดท้ายที่เป็นผู้ขายประกันความเสี่ยง และเมื่อตลาดเปลี่ยนทิศทาง เกิดความเสียหาย บริษัทที่ขายประกันความเสี่ยงก็ขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถจ่ายชดเชยให้แก่ผู้ที่ทำประกันได้ ทำให้ระบบการเงินทั้งระบบเกิดความเสียหาย นี่คือผลจากนวัตกรรมทางการเงิน

ในระดับผู้ทำนโยบายก็ไม่ได้ตระหนักเกี่ยวกับความเสี่ยงเชิงระบบแบบนี้ มั่นใจแต่ว่า กลไกตลาดจะสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีอยู่ได้ แต่กลไกตลาดก็มีช่องโหว่มาก ทั้งในแง่ความเสมอภาคของข้อมูล ประสบการณ์ของการกำกับ ตรวจสอบ และการติดตามสถานการณ์ โดยหน่วยงานภาครัฐ ทำให้ความเสี่ยงที่มีอยู่ในระบบไม่มีใครมองเห็น เห็นแต่ภาวะตลาดที่บูมมาก จนเมื่อภาวะตลาดเปลี่ยน เกิดเหตุกาณณ์อย่างเลห์แมน ความมั่นใจที่เคยมีก็กลายเป็นความกลัวจนนำไปสุ่การเกิดวิกฤติ ชี้ว่าในระดับการทำนโยบายเอง ขณะนั้นก็ไม่มีวิธีการบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับระบบการเงิน

สาม เรื่องวัฒนธรรมองค์กร ที่เป็นตัวหล่อหลอมพฤติกรรมของคนในสถาบันการเงิน และในภาคการเงิน ที่นำไปสู่การทำหน้าที่อย่างไม่ระมัดระวัง คือ ถ้าบุคคลที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ไม่สนใจ เรื่องจริยธรรมธุรกิจ เรื่องความระมัดระวัง และการทำหน้าที่อย่างมืออาชีพ มุ่งแต่จะทำกำไรทุกรูปแบบ ไม่เกรงกลัวกฎหมาย โอกาสที่ความเสียหายจะเกิดขึ้นต่อระบบการเงินทั้งระบบก็จะมีมาก

ในเรื่องนี้ อยากเรียนว่า ทั้งในสหรัฐและอังกฤษ ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา วัฒนธรรมองค์กรในแง่พฤติกรรมเหล่านี้ อาจยังไม่ดีขึ้น เพราะผลสำรวจของสำนักกฎหมาย Labaton Sucharow เมื่อปี 2015 ชี้ว่า ในธุรกิจการเงิน การทำกำไรยังสำคัญกว่าการทำธุรกิจอย่างมีหลักมีการ ที่ร้อยละ 42 ของนายธนาคารเชื่อว่าคู่แข่งใช้วิธีการที่ไม่ถูกกฎหมายหรือไม่มีจริยธรรม เพื่อให้ได้ประโยชน์ ร้อยละ 32 มีความเห็นว่า แรงจูงใจในแง่เงินเดือนและโบนัส ยังเป็นตัวผลักดันสำคัญให้พนักงานกล้าที่จะทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เช่น กรณีธนาคารเวลส์ฟาร์โก้ เมื่อปี 2016

ข้อมูลเหล่านี้ชี้ว่า เราอาจจะยังมาได้ไม่ไกลพอ ในการปรับปรุงจุดอ่อนต่างๆ ที่เกิดขึ้นก่อนปี 2008 เพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นซ้ำอีก