ถอดบทเรียนการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของอินเดีย

ถอดบทเรียนการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของอินเดีย

ว่ากันว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศที่พอจะกอดรัดฟัดเหวี่ยงกับจีนได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ นอกจากสหรัฐ ก็มีอินเดียนี่แหละ

อินเดียเองก็รู้เรื่องนี้ดี แล้วก็รู้ว่าการจะไปให้ถึงจุดนั้นได้ต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศ จึงได้จัดตั้งเขตนิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อต้อนรับเม็ดเงินเหล่านี้ แต่พอเดินหน้าไปสักพักกลับพบว่า คนที่มีทักษะตรงตามความต้องการของนายจ้างกลับมีไม่เพียงพอ ผลที่เกิดขึ้นจึงต่ำกว่าความคาดหวัง โดยเฉพาะยอดการส่งออกไม่ได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อินเดียจึงต้องกลับมาทบทวนตัวเองว่าจุดอ่อนของการสร้างคนอยู่ตรงไหน

จากการถอดบทเรียนการจัดการศึกษาในพื้นที่ได้ข้อสรุปสำคัญว่า สาเหตุที่ทำให้การจ้างงานไม่เพิ่มขึ้นตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เพราะแรงงานมีทักษะไม่ตรงหรือไม่เพียงพอกับความต้องการของนายจ้าง ซึ่งเรียกกันว่าปัญหาช่องว่างทักษะ ปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะการจัดการศึกษาของสถานศึกษาโดยเฉพาะสถานศึกษาระดับอาชีวศึกษาของอินเดียมีข้อจำกัด 3 เรื่อง

เรื่องที่ 1 การจัดการศึกษาในสถานศึกษายังเป็นการสอนภาคทฤษฎีมากกว่าปฏิบัติ ขาดความเชื่อมโยงกันระหว่างทฤษฎีกับการทำงานจริง เมื่อสถานศึกษาให้ความสำคัญกับทฤษฎี การคัดเลือกบุคลากรมาสอนจึงเน้นบุคลากรที่มีความสามารถในเชิงทฤษฎีมากกว่าผู้ที่มีประสบการณ์จริง การจัดซื้ออุปกรณ์สำหรับการจัดการเรียนรู้ก็ให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมให้สามารถเรียนรู้ในเชิงทฤษฎีได้ดีที่สุด ซึ่งอาจเป็นคนละเรื่องกับสภาพแวดล้อมในการทำงานจริง

เรื่องที่ 2 สถานประกอบการมีความพร้อมไม่เท่ากัน สถานประกอบการขนาดใหญ่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์และสถานที่มากกว่าสถานประกอบการขนาดเล็ก ทำให้สถานศึกษาที่มีความร่วมมือกับสถานประกอบการขนาดใหญ่สามารถผลิตบุคลากรที่มีความสามารถมากกว่าสถานศึกษาที่ส่งนักศึกษาไปฝึกงานในสถานประกอบการขนาดเล็ก แต่ปัญหาที่น่าหนักใจกว่านั้นก็คือ สถานประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้มีเครื่องจักรอุปกรณ์ซึ่งมีความก้าวหน้ามากพอจะผลิตบุคลากรไปทำงานในสถานประกอบการในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ใช้เทคโนโลยีสูงกว่าสถานประกอบการในพื้นที่

เรื่องที่ 3 บุคลากรในสถานประกอบการไม่ได้ถูกฝึกให้เป็นผู้สอน ทำให้ไม่สามารถถ่ายทอดความรู้ และดูแลพัฒนานักศึกษาที่มาฝึกงานได้อย่างเต็มที่ ทำให้แม้ได้ผ่านการฝึกงานแล้ว นักศึกษาจำนวนมากก็ยังไม่สามารถทำงานได้จริง

จากปัญหาดังกล่าว จึงทำให้รัฐบาลอินเดียกำลังศึกษาความความเป็นไปได้ในการนำเอาแนวทางการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพของเยอรมนีมาปรับใช้กับการพัฒนากำลังคนของประเทศ โดยมีหลักการสำคัญในการจัดการศึกษา 8 เรื่อง ดังนี้

เรื่องที่ 1 การจัดการศึกษาเพื่ออาชีพ จะเน้นการสร้างทักษะเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน ดังนั้นจึงต้องมีหลักสูตรคุณวุฒิที่ยืนหยุ่นพอเพื่อให้สามารถสร้างแรงงานฝีมือในหลายประดับ

เรื่องที่ 2 การจัดการศึกษาเพื่ออาชีพ เป็นการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการโดยทักษะที่พัฒนาต้องมีความสอดคล้องกับทักษะสำคัญของอุตสาหกรรมเป้าหมาย แต่ต้องไม่แคบจนเกินไป เพื่อให้ผู้เรียนสามารถหางานในอุตสาหกรรมที่ใกล้เคียงได้ด้วย

เรื่องที่ 3 การฝึกงานสามารถทำได้ ทั้งภายในสถานศึกษาหรือในสถานประกอบการขึ้นอยู่กับลักษณะของหลักสูตรและความพร้อมของผู้จัดการเรียนรู้ เช่น เรื่องสุขอนามัย อาจสามารถจัดในสถานศึกษาได้ แต่การดูแลผู้ป่วย ต้องจัดการในสถานประกอบการ

เรื่องที่ 4 ระบบรับรองและการประเมินทักษะที่ละเอียดเพียงพอเพื่อให้สามารถประเมินผู้เรียนและแรงงานในแต่ละอุตสาหกรรมได้ว่า ตอนนี้อยู่ในระดับใด นอกจากนี้แล้ว ระบบรับรองควรกำหนดทักษะขั้นต่ำของแต่ละอาชีพหลักในเขตเศรษฐกิจพิเศษว่า ต้องสามารถทำอะไรได้บ้าง

เรื่องที่ 5 การกำหนดมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพจะต้องไม่รัดกุมจนเกินไป แต่ควรมีความยืดหยุ่นในระดับหนึ่ง เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ควบคู่ไปกับการรักษามาตรฐานในระดับประเทศของวิชาชีพนั้นๆ

เรื่องที่ 6 ทรัพยากรในการจัดการศึกษา ควรจะมาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้าง “ความรู้สึกร่วม” ในพื้นที่ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นทรัพยากรทางการเงินเสมอไป โดยให้พิจารณาจากความพร้อมของทุกภาคส่วนในพื้นที่เป็นหลัก

เรื่องที่ 7 ผู้จัดการเรียนรู้หรือครูฝึกในสถานศึกษาและสถานประกอบการ ต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม อาจจำเป็นต้องมีระบบรับรองระดับทักษะเพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้จัดการเรียนรู้มีคุณสมบัติเพียงพอ สามารถถ่ายทอดความรู้ได้ดี

เรื่องที่ 8 ส่งเสริมให้สังคมยอมรับการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพ ด้วยการแนะแนว การให้ข้อมูล และการสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ ควรคู่ไปกับการให้ความช่วยเหลือในเชิงนโยบายที่เหมาะสม

แม้ว่าอินดียกับไทยจะมีบริบทที่แตกต่างกัน แต่ข้อจำกัดทั้ง 3 ข้อที่เกิดขึ้นกับสถานศึกษาในอินเดียกลับไม่ต่างจากข้อจำกัดที่เกิดขึ้นกับสถานศึกษาในประเทศไทย ดังนั้น แนวทางทางที่อินเดียจะใช้ในการปรับตัว ก็น่าจะเป็นข้อมูลที่นำมาใช้ประกอบการจัดการสถานศึกษาในบ้านเรา โดยเฉพาะสถานศึกษาในเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งมีหลายแห่งที่ดูเหมือนกว่าหลายปีที่ผ่านมาก็ยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร