สงครามยังไม่จบ

สงครามยังไม่จบ

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมาสิ่งที่ถูกพูดถึงมากที่สุดเรื่องหนึ่งในวงสนทนานักลงทุนคงหนีไม่พ้นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ

และนานาประเทศ (ไม่ใช่แค่จีน) ในหมู่นักลงทุนเสียงส่วนใหญ่น่าจะมีมุมมองเชิงลบต่อ ปธน. สหรัฐฯ ว่าเป็นต้นเหตุหลักของเรื่อง เห็นได้จากสถิติ google trend ของการค้นหาคำว่า Impeachment ในประเทศสหรัฐฯ ในหมวดการเงิน (Finance) ล่าสุดอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน ที่อาจเกิดจากทั้งความไม่พอใจเรื่องนโยบายการค้า รวมไปถึงการส่งสัญญาณที่ค่อนข้างเป็นมิตรกับรัสเซีย

แม้ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล. ไทยพาณิชย์ จะมีมุมมองสอดคล้องไปกับมุมมองส่วนใหญ่ในตลาด ว่าสุดท้ายแล้วทุกอย่างต้องจบลงที่โต๊ะเจรจา เนื่องจากผลของสงครามการค้าหากทำกันเต็มรูปแบบจริงๆ น่าจะนำมาซึ่งความหายนะต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และโลกซึ่งสุดท้ายจะกระทบฐานเสียงของ ปธน. ได้ อย่างไรก็ตาม นั่นหมายความว่าต้องมีการบาดเจ็บทางเศรษฐกิจก่อนถึงวันเจรจา สถานการณ์อาจแย่ลงกว่านี้ก่อนจะดีขึ้นในอนาคต

ข้อมูลจาก Wikipedia เก็บรวบรวมเรื่องสงครามกับการเมืองไว้อย่างน่าสนใจ โดยสงครามมักทำให้คะแนนนิยม หรือ approval rating ของ ปธน. ปรับตัวสูงขึ้น หรือที่เรียกว่า Rally ‘round the flag effect ซึ่งเกิดจากกระแสความรักชาติในภาวะสงคราม ที่มี ปธน. เป็นผู้นำสูงสุดของกองทัพ (ตามกฎหมาย) ทำให้ ปธน. มักได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ ตั้งแต่ยุค Cuban missile crisis (1962) คะแนนนิยม ปธน.Kennedy เพิ่มขึ้นจาก 61% เป็น 75%, ยุคจับตัวประกันในอิหร่าน (1979) ปธน. Jimmy Carter (32% เป็น 58%), ยุค สงความอ่าวเปอร์เซีย (1991) ปธน. George W. Bush (59% เป็น 89%) ฯลฯ

แม้หลายฝ่ายจะมองว่าสงครามการค้า ต่างจากสงครามอาวุธ และอาจไม่ได้ส่งผลต่อคะแนนนิยมในตัว ปธน. ในทางบวกเท่าไรนัก แต่จากการศึกษาของนักรัฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ (John Mueller 1970) มีประเด็นที่น่าสนใจว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “สงคราม” นำไปสู่คะแนนสนับสนุน ปธน. นั้นมาจากคุณสมบัติ 3 อย่างของสถานการณ์คือ 1) เป็นเรื่องระหว่างประเทศ (international) 2) เกี่ยวพันกับอเมริกาโดยมี ปธน. เป็นผู้นำโดยตรงในสถานการณ์นั้น และ 3) มีความชัดเจน เฉพาะเจาะจง และดราม่า (ใช่ครับต้อง Drama ด้วย) ซึ่งทั้งสามข้อนี้ ทำให้รูปแบบสงครามออกมาได้ในหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กำลังทางทหารโดยตรง, การดำเนินนโยบายทางการทูตและการเมืองระหว่างประเทศ, การแข่งขันกันทางเทคโนโลยี ฯลฯ

โดยสรุป สงครามการค้าก็มีคุณสมบัติที่น่าจะดีต่อคะแนนนิยมได้พอควร เพราะเข้าเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อ และอยู่ในรูปแบบการดำเนินนโยบายทางการทูตและการเมืองระหว่างประเทศและเป็นการทูตที่ค่อนข้างจะแรงและดราม่าอยู่พอควร

และผลที่ได้ก็ดีงามตามท้องเรื่องครับ แม้เสียงจากนักลงทุนจะไม่ค่อยชอบใจ แต่คะแนนนิยมของ ปธน.ทรัพม์ กลับพุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุดตลอดกาลของตนเองที่ 45% จากการสำรวจของ WSJ/NBC เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (22/7/2018) ที่แม้จะต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับ ปธน. คนอื่นๆ (ในยุคใหม่) หลังดำรงตำแหน่งมาแล้ว 1 ปีครึ่งเท่ากัน โดยเฉพาะในกลุ่มฐานเสียงของพรรค Republican ของทรัพม์ ที่ให้คะแนนนิยมสูงถึง 88% สูงที่สุดในบรรดา ปธน. พรรค Republican 4 คนก่อนหน้า (ยกเว้น George W Bush ซึ่งครั้งนั้นได้รับความนิยมหลังเหตุการณ์ก่อการร้าย 9-11) ทั้งนี้ การสำรวจความนิยมครั้งนี้ครอบคลุมช่วงเวลา 4 วันโดยเริ่มตั้งแต่หนึ่งวันก่อนการประชุมสุดยอดสหรัฐฯ-รัสเซีย ดังนั้นผลนี้ได้สะท้อนเรื่องดราม่าที่ทรัพม์มีท่าทีผูกมิตรกับรัสเซียและโจมตีหน่วยข่าวกรอง (FBI และ CIA) ของตัวเองไปแล้ว

ทั้งหมดนี้เพื่อจะบอกว่า สงครามยังไม่จบ เพราะสิ่งที่หลายฝ่ายหวังว่าจะจบลงที่โต๊ะเจรจานั้น อยู่บนสมมติฐานที่ว่า ผลของสงครามการค้าจะทำให้เศรษฐกิจชะลอ จนกระทบฐานเสียงของ ปธน. และพรรค Republican จนทำให้อาจมีการเปลี่ยนท่าทีมาเจรจากันได้ แต่ตราบใดที่เสียงเชียร์จากผู้สนับสนุนยังดังอยู่อย่างนี้ เราคงต้องรอไปอีกระยะ

สำหรับกลยุทธ์การลงทุน เรายังคงเน้นให้หลีกเลี่ยงหุ้นที่ PE สูงผิดปกติ จากความคาดหวังการเติบโตของธุรกิจ ซึ่งจากวันนี้จะมีความเสี่ยงสูง ที่จะถูกกระทบจากเรื่องสงครามการค้า ซึ่งจะทำให้เกิดการปรับตัวลงแรงได้ เราแนะนำให้เล่นหุ้นตาม Theme ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า (บาทอ่อนค่า) โดยเลือกหุ้นที่ยังล้าหลังตลาดอยู่ ได้แก่ กลุ่มอาหาร (TU) ส่วนกลุ่มโรงกลั่น (SPRC, IRPC) ที่ลงมาลึกเริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้นเพราะกำลังจะเข้า high season ในไตรมาส 3 นอกจากนี้เรายังชอบกลุ่มธนาคาร (BBL, KTB) ตามมุมมองดอกเบี้ยขาขึ้นและฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหลังจากงบไตรมาส 2 ออกมาดีสวนทางกับความกังวลว่าการลดค่าธรรมเนียมจะกระทบรุนแรง ทั้งนี้เราแนะนำให้ถือเงินสดไว้บ้างเพื่อเข้าซื้อเพิ่มหากตลาดปรับตัวลงตามปัจจัยต่างประเทศ