ราชนีติ : วิถีพระราชา มรรคาผู้นำ (11)

ราชนีติ : วิถีพระราชา มรรคาผู้นำ (11)

ในตอนที่แล้ว กล่าวถึงคาถาบทที่ 113-132 (มีข้ามไปบางบทซึ่งเนื้อความคล้ายกันหรือขยายความกันกับบทอื่นๆ) สรุปเนื้อหาได้ 3 เรื่องคือ

การเตรียมการป้องกันประเทศ การบำรุงอาณาประชาราษฎร์ และการปฏิบัติตนอยู่ในธรรมแห่งพระราชา ในตอนนี้ก็จะได้ศึกษาเนื้อหาในคาถาบทต่อๆ ไป

คาถาบทที่ 133 เนื้อในป่าหลับไม่สนิทเพราะกลัวตาย พระราชาธิบดีทั้งหลายก็บรรทมไม่สนิท เพราะกลัวราชศัตรูที่มีกำลังเหนือกว่า บัณฑิตทั้งหลายไม่ยินดีในการหลับก็เพราะกลัวภัยในสังสารวัฏ

คาถาบทที่ 134 อดทน1 ตื่นอยู่ตลอด1 หมั่น1 เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่1 เอ็นดู1 ใคร่ครวญ1 คุณธรรมเหล่านี้ผู้เป็นหัวหน้าคนที่หวังประโยชน์ของที่ประชุมจำต้องประพฤติ

คาถาบทที่ 135 อ่อนเกินไปก็ถูกข่มเหง แข็งเกินไปก็ถูกจองเวร พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบเหตุทั้ง 2 ประการนี้แล้ว ควรประพฤติพระองค์ให้เหมาะ

คาถาบทที่ 136 คนที่อ่อนจนอ่อนแอ หรือคนที่แข็งจนกระด้าง ย่อมไม่สามารถจะดำรงอยู่ในตำแหน่งใหญ่ได้ เพราะฉะนั้นต้องประพฤติทั้งสองอย่างให้พอดีกัน

คาถาบทที่ 137 กสิกร1 พ่อค้า1 ข้าเฝ้า1 สมณะมีความรู้และทรงศีล1 เมื่อคนเหล่านี้มั่งคั่งตามส่วนที่เหมาะแก่ตน ประเทศชาติก็มั่งคั่งเช่นกัน

คาถาบทที่ 138 เมื่อคนเหล่านั้นทุพลภาพ ประเทศก็พลอยทุพลภาพ เพราะเหตุนั้นพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงรับภาระของประเทศ ต้องบำรุงรัฐมณฑลพร้อมทั้งพสกนิกรทั่วหน้าให้มั่งคั่ง

คาถาบทที่ 139 ต้นไม้ใหญ่มีผลสะพรั่ง ผู้ใดมาเก็บเอาผลดิบไป ผู้นั้นก็ชื่อว่าไม่ได้ชิมรสผลไม้นั้น ซ้ำพืชพันธุ์ก็สูญอีก

คาถาบทที่ 140 ต้นใหญ่มีผลดก ผู้ใดมาเลือกเก็บผลสุกไปได้ ผู้นั้นชื่อว่าได้ลิ้มรสของผลไม้นั้น ทั้งพืชพันธุ์ก็ไม่สูญ

คาถาบทที่ 141 ประเทศเปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ พระราชาธิบดีพระองค์ใดทรงปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินโดยธรรม พระราชาธิบดีพระองค์นั้น จัดว่าได้เสวยรสของพสกนิกรผู้จงรักภักดี ทั้งรัฐมณฑลก็ดำรงมั่นด้วย

คาถาบทที่ 142 พระราชาพระองค์ใดทรงปกครองไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎร์โดยอธรรม พระราชาธิบดีพระองค์นั้นจัดเป็นพระมหากษัตริย์ที่ร้ายกาจยิ่งกว่ายาพิษทุกชนิด

คาถาบทที่ 143 โดยทำนองเดียวกันนั้น ประชาชนชาวเมืองประกอบการค้าภายในทางที่ทำให้เพิ่มพูนราชพลีภาษีอากรขึ้น พระราชาธิบดีองค์ใดทรงเบียดเบียนเสีย พระราชาธิบดีพระองค์นั้นชื่อว่าทรงผิดในการคลังของพระองค์เอง

คาถาบทที่ 144 เหล่าโยธีผู้รู้ตำหรับพิชัยสงคราม รอบรู้ชัยภูมิอันประเสริฐ รู้อุบายกำจัดฝ่ายปรปักษ์ ใคร่ครวญโดยรอบคอบก่อนจึงทำ เข้มแข็งในการสงคราม พระราชาพระองค์ใดทรงเบียดเบียนเหล่าโยธีเช่นนี้เสีย พระราชาพระองค์นั้นชื่อว่าผิดทั้งกองทัพ

คาถาบทที่ 145 โดยทำนองเดียวกันนั้น พระราชาพระองค์ใดประพฤติอาธรรม ทรงรุกรานนักบวชผู้สำรวมดี มีความประพฤติเรียบร้อย พระราชาธิบดีพระองค์นั้น ชื่อว่าผิดทางสวรรค์

(คัดจากฉบับแปลโดยนายทอง หงส์ลดารมภ์)

จากคาถาที่ยกมานี้ สรุปได้ว่า พระราชาหรือผู้นำนั้นต้อง ตื่นอยู่เสมอ ตื่นในที่นี้ ย่อมไม่ใช่ตื่นจากนอนหลับ ลืมตาตื่น หรือตื่นโดยไม่นอน เพราะตามความหมายในคาถาบทที่ 133-134 การตื่นก็คือ ตื่นตัว หรือรู้ตัวรู้ตนอยู่เสมอ ว่าอะไรเป็นอะไร มีสติในการรับรู้เรื่องราวต่างๆ มีปัญญาในการคิดไตร่ตรอง วิเคราะห์ แยกแยะ สรุปผลเพื่อนำไปสู้การตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งในขณะที่มีสติสัมปชัญญะครบถ้วนนั้นเอง

เมื่อมีสติสัมปชัญญะครบถ้วนเพราะตื่นอยู่เสมอ การทำสิ่งใดๆ หรือเว้นไม่ทำสิ่งใดๆ ก็ตามที่กล่าวไว้ในคาถาบทที่ 135-145 ก็ทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ดังนั้น พระราชาหรือผู้นำทั้งหลาย ย่อมต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาจึงจะสามารถทำหน้าที่ได้ดี ไม่ขาดตกบกพร่อง หรือถ้ามีก็น้อยและแก้ไขได้ทันกาลแลฯ