สู่ยุคการเงิน 4.0 เต็มรูปแบบ

สู่ยุคการเงิน 4.0 เต็มรูปแบบ

ภาคการเงิน ที่ถือเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ เกิดการค้า การลงทุน กำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

เมื่อไม่นานนี้ผมเพิ่งได้รับแจ้งจากโรงเรียนสอนภาษาแห่งหนึ่ง ซึ่งลูกของผมกำลังเรียนอยู่ ซึ่งเมื่อหลายปีก่อนผมจะต้องนำเงินไปชำระค่าเรียนรายเดือนที่เคาน์เตอร์ของธนาคาร ซึ่งหลายคนคงคุ้นเคยเวลาเราต้องไปชำระเงินให้กับการสมัครเข้าอบรมหรือซื้อสินค้าอะไรต่างๆ แล้วก็ต้องส่งหลักฐานการชำระเงินไปให้เพื่อยืนยัน แต่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โรงเรียนแจ้งว่าได้เลือกใช้บริการชำระเงินกับธนาคาร โดยนักเรียนแต่ละคนจะมีรหัสอ้างอิงตัวตน (Ref1 และ Ref2 โดยไม่ต้องส่งหลักฐานการชำระเงินใดๆ) แต่ปีนี้โรงเรียนแจ้งว่าธนาคารได้ยกเลิกระบบการชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆที่หน้าเคาน์เตอร์แล้ว สามารถชำระได้โดยผ่านตู้ ATM หรือ Mobile Banking โดยใช้รหัสอ้างอิงตัวตนเดิม สำหรับผมแล้วพอใจมาก เพราะทุกวันนี้ก็ทำธุรกรรมต่างๆผ่าน Smartphone อยู่แล้ว

 

จะเห็นได้ว่าภาคเศรษฐกิจหนึ่งซึ่งถือได้ว่าได้ทลายกรอบความคิด กติกา และกฎเดิมๆ โดยพร้อมเปิดทางให้เริ่มทดลองอะไรใหม่ๆสำหรับสิ่งใดที่ก้าวล้ำนำหน้ามากๆแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลกนี้(แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็ยังเป็นเรื่องใหม่) หรือการผ่อนคลายให้ทุกสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ไม่ว่าจะเป็น Bank หรือ Non-Bank ได้ใช้เทคโนโลยีดิจิตัลกับการให้บริการทางการเงินอย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น ซึ่งต้องขอชื่นชมทีมบริหารของแบงค์ชาติ (ธนาคารแห่งประเทศไทย) ซึ่งเป็นผู้คุมกฎในยุคนี้ที่มีวิสัยทัศน์พร้อมที่จะขยับเขยื้อนเคลื่อนอุตสาหกรรมการเงินให้ทันกับกระแสพลวัตรใหม่

 

ถ้าภาคอุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing sector) แบ่งยุคสมัยของโครงสร้างการผลิตโดยไล่ตั้งแต่ 1.0 ยุคที่ใช้แรงงานคนเป็นหลักและเริ่มต้นเครื่องจักรไอน้ำ มาสู่ยุค 2.0 ที่เริ่มใช้เครื่องยนต์กลไกควบคู่กับแรงงานคน ยุค 3.0 ที่เป็นระบบอัตโนมัติ ซึ่งมีการใช้แรงงานน้อยลง แต่ใช้ทักษะความสามารถหลายด้านของพนักงานร่วมกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในลักษณะของฐานข้อมูลกลาง (database) จนถึงยุค 4.0 ที่ทุกสิ่งทุกอย่างเชื่อมโยงและประสานสัมพันธ์กันผ่านเครื่อข่ายไร้สาย สามารถสื่อสารและสร้างสัมพันธ์กันแบบไร้พรมแดน ยุคที่ฐานความรู้ (knowledge base) ถูกนำมาใช้จนกลายเป็นความชาญฉลาด (Intelligent system) ซึ่งในหลายสาขาอุตสาหกรรมกำลังเร่งปรับตัวกันอยู่นั้น

 

ภาคบริการ (Service sector) โดยเฉพาะภาคการเงิน ซึ่งถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ เกิดการค้า การแข่งขัน และการลงทุนอย่างมากมาย ก็กำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ในเชิงโครงสร้าง และน่าจะถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทุกคนรู้สึก สัมผัส และรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงได้อย่างที่สุด ที่สำคัญทำให้ผู้บริโภคเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมอย่างมาก ถ้าเทียบเคียงให้เห็นเป็นยุคสมัยเฉกเช่นเดียวกับในอุตสาหกรรมการผลิต ก็พอมองได้เป็นยุคๆตามสภาพของธุรกรรมและการแลกเปลี่ยนเงินที่เกิดขึ้นได้ ดังนี้

 

ยุค 1.0 ซึ่งเป็นยุคสมัยที่ยาวนานมากๆ อาจเรียกว่าเป็นยุคของเงินตราที่เป็นวัตถุ หรือเงินสด (Cash) ไม่ว่าจะเป็นเบี้ย อัฐ จนถึงธนบัตร และเหรียญกษาปน์ที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนในทางการค้า โดยการตีมูลค่าสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆเทียบกับเงินตราที่ประเทศนั้นๆผลิตขึ้น และเพื่อให้ง่ายและสะดวกกับการค้าขายข้ามประเทศ ก็มีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างกันให้มีความชัดเจน แม้ว่าในปัจจุบันจะมีความผันผวนและมีอัตราขึ้นลงถี่มากขึ้นแบบรายวันรายชั่วโมงก็ตาม

 

ยุค 2.0 ถือว่าเป็นยุคของการพัฒนาหนังสือสัญญาชำระเงิน (Contract) ขึ้นมาอำนวยความสะดวกมากขึ้น อาทิ ตั๋วแลกเงิน ธนานัติ โดยกระดาษที่จัดทำขึ้นและเป็นที่ตกลงกันทั้งสองฝ่ายนี้มีมาตรฐานที่กำหนดมูลค่าและสถาบันการเงินให้การรับรอง ที่นิยมใช้กันมากในกลุ่มนักธุรกิจก็คือ “เช็ค” เมื่อเป็นหนังสือสัญญาก็ถือว่าเป็นความตกลงซึ่งมีข้อผูกพันในทางกฎหมาย การละเมิดหรือการทำผิดจึงเป็นคดีความ ปรากฎการณ์ “เช็คเด้ง” จึงเป็นที่ขยาดมาก โดยเฉพาะช่วงวิกฤตการเงินของไทยในปี พ.ศ. 2540 จนทำให้เสื่อมมนต์ขลังและไม่ได้รับความนิยมในที่สุด ด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถเข้ามาทดแทนการใช้เงินสดของประชาชนทั่วไปได้

 

ยุค 3.0 เริ่มต้นของการใช้เทคโนโลยีบัตรพลาสติก (Card) ไม่ว่าจะเป็น ATM card,  Debit card, Credit card หรือแม้แต่บัตรเติมเงินสารพัดที่ออกโดยร้านค้าต่างๆ ยังไม่นับรวมบัตรสมาชิกที่ให้สิทธิประโยชน์เป็นส่วนลด ซึ่งถูกนำมาใช้กันมากในเชิงการตลาด แพร่หลายและเป็นที่นิยมอย่างมากมายสำหรับประชาชนทั่วไป ถือได้ว่าเข้ามาทดแทนการใช้เช็คได้อย่างสิ้นเชิง และแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดจากเงินสดได้ในระดับหนึ่ง พัฒนาการของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ทำให้มีอัตราการเติบโตที่สูงมาก จนถือได้ว่าคนส่วนใหญ่ต้องมีบัตรอย่างน้อย 1 ใบ และมีหลายบัตรในหลายคน

 

ยุค 4.0 ของตลาดการเงิน ถือว่าเป็นยุคที่มีพลวัตร รวดเร็ว รุนแรง และล้ำสมัยอย่างที่สุด ยุคที่เราอาจจะไม่จำเป็นต้องผลิตโลหะ กระดาษ หรือพลาสติกขึ้นมาเป็นตัวกลางทางการเงินแล้ว หากแต่ธุรกิจ ธุรกรรม และความมั่งคั่งของแต่ละคน ถูกจัดเก็บอยู่ในรูปของรหัส (Code) ในระบบดิจิตัล และมีระดับความปลอดภัยอย่างสูงที่สุด เท่าที่เทคโนโลยีสมัยใหม่จะคิดได้อย่างเช่น Blockchain เป็นต้น

 

จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ยุค 1.0 ผ่านสู่ 2.0 และเข้าสู่ 3.0 นั้นเหรียญและธนบัตร หรือรวมเรียกว่า “เงินสด” ยังคงมีอิทธิพลและใช้งานอยู่ แม้ว่าจะลดน้อยถอยลงไปบ้าง แต่เมื่อย่างก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 มากขึ้นจนหลายคนเชื่อว่า โลกไร้เงินสด (Cashless) น่าจะเป็นจริง และผมเชื่อว่าทุกวันนี้เราแทบจะใช้เงินสดน้อยลงมากในการซื้อสินค้าและบริการ ตลอดจนการชำระหนี้ และในฐานะที่ภาคการเงินเป็นเส้นเลือดสำคัญของทุกอุตสาหกรรมและในการดำรงชีพซึ่งกระทบกับทุกคน ถ้าใครยังไม่เริ่มปรับกลไกทางการเงินขององค์กรของท่านให้สอดรับกับรูปแบบการชำระเงินใหม่ๆ เห็นทีจะแข่งขันได้ยากในอนาคต