ทหารจะพัฒนาประเทศได้แค่ไหน อย่างไร

ทหารจะพัฒนาประเทศได้แค่ไหน อย่างไร

พัฒนาการของการเมืองไทย ทำให้ทหารกลายเป็นสถาบันที่มีอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมสูงกว่าประชาชนส่วนใหญ่

ที่มีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบเก่าไม่ค่อยกล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้ทหารบางทีก็ลืมตัวไปคิดว่าตนเป็นสถาบันพิเศษมากกว่าที่จะคิดว่าพวกตนเป็นข้าราชการกินเงินเดือนจากภาษีประชาชน ในสังคมสมัยใหม่ในประเทศอื่นนั้น ทหารเป็นเพียงข้ารัฐการหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่จะต้องให้บริการและฟังความคิดเห็นจากประชาชน

 การที่ทหารเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่มีการจัดตั้งองค์กรแบบรวมศูนย์ มีอาวุธและงบประมาณมาก.ทำให้พวกเขายืนยันที่จะต้องได้ส่วนแบ่งที่มากพอจากสังคม และการที่ทหารได้รับการปลูกฝังอบรมให้มีความคิดค่านิยมที่มีลักษณะเฉพาะแบบทหาร ทำให้พวกเขาเป็นพวกที่มีแนวคิดแบบจารีตนิยมอำนาจนิยม แม้นายทหารที่เข้าร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จะเป็นพวกชาตินิยมและประชาธิปไตยนิยมอยู่บ้าง แต่พวกคณะราษฎรที่มีข้าราชการพลเรือนร่วมด้วย ก็ปฏิรูปได้น้อย และหลังจากรัฐประหารปี 2490 เป็นต้นมา ...ปีกที่ก้าวหน้าของคณะราษฎรก็หมดอำนาจ ทหารกลุ่มจารีตค่านิยม อำนาจนิยม กลับเข้ามา และสามารถแทรกแซงฝ่ายการเมืองมาได้โดยตลอด

การเปลี่ยนแปลง 14 ต.ค. 2516 ถึงเผด็จการนายทหารกลุ่มหนึ่งจะถูกขับไล่ มีการจัดการเลือกตั้งและมีรัฐบาลพลเรือน แต่กองทัพก็ยังอยู่ที่เดิม ไม่มีการปฏิรูปเกิดขึ้น ถึงปี 2519-2520 ทหารก็สามารถกลับเข้ามายึดอำนาจและจัดตั้งรัฐบาล ในรูปแบบใหม่ได้อีก

ทหารสามารถเรียกร้องงบประมาณได้มาก (2.2 แสนล้านบาท ในปี 2562)รวมทั้งงบฯ ลับที่ไม่จำเป็นต้องชี้แจงรายละเอียด นายทหารได้รับการจัดสรรปันส่วนให้คุมรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง แม้จะดำเนินการไม่ได้ผลหรือมีรั่วไหลอย่างไร ก็ไม่มีใครกล้าแตะต้อง นายทหารใหญ่ๆ หลายคนเล่นการเมืองทั้งทางอ้อมและทางตรง และประชาชนมักจะฟังมากด้วย เพราะสื่อให้ความสำคัญและประชาชนทั่วไปที่จารีตนิยมก็มักคิดว่านายทหารคงจะทำอะไรได้เพราะมีอำนาจ

อำนาจของทหารไม่เพียงแต่เกิดจากปากกระบอกปืน หรือความสามารถที่จะทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐ ตลอดจนคุกคามผู้ที่วิจารณ์หรือไม่เห็นด้วยกับทหารเท่านั้น อำนาจของทหารยังมาจากการสร้างความชอบธรรม ให้ประชาชนยอมรับว่าทหารเป็นสถาบันพิเศษ ที่มีการจัดองค์กรที่เข้มแข็ง มีระเบียบวินัย มีความรักชาติสูง เสียสละ มีความสามารถรอบด้าน เช่น ป้องกันไม่ให้ประเทศเป็นคอมมิวนิสต์ ยึดอำนาจรัฐบาลที่ทุจริตฉ้อฉล รักษาความสงบ ยุติความขัดแย้งของกลุ่มการเมืองหัวรุนแรง 2 ขั้ว และน่าจะเป็นกำลังสำคัญในประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้อีกด้วย

การสร้างภาพพจน์ให้ประชาชนนิยมชมชื่นกับผู้นำที่มาจากทหารนี้เป็นขบวนการที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้งบฯ โฆษณาประชาสัมพันธ์ที่มาจากภาษีที่เก็บมาจากประชาชนนั่นเอง พวกชนชั้นนำที่ไม่ใช่ทหารเองก็มีส่วนร่วมมือในการสร้างภาพพจน์นี้ด้วยเช่นกัน พวกชนชั้นนำบางกลุ่มคบทหาร แสดงความนิยมชมชื่นทหาร เพียงเพื่อตนเองจะได้ผลประโยชน์เหนือคู่แข่งทางการเมืองกลุ่มอื่น

สภาพเช่นนี้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย และการพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าที่ประชาชนมีส่วนกำหนด และได้รับส่วนแบ่งที่เป็นธรรมอย่างแท้จริง เพราะสังคมใดก็ตามที่ยังมีกลุ่มอภิสิทธิ์ชน มีกลุ่มคนที่มีอำนาจเหนือคนกลุ่มอื่น สังคมนั้นก็ย่อมมีการได้เปรียบเสียเปรียบ มีความขัดแย้งที่รุนแรง ยากต่อการพัฒนาอย่างราบรื่น ทั้งทหารก็ได้รับการฝึกอบรมและมีประสบการณ์เฉพาะเรื่องการทำสงครามเป็นหลักพวกเขาไม่ได้มีความรู้ ประสบการณ์ และขีดความสามารถที่จะเป็นผู้บริหารพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจสังคมที่มีประสิทธิภาพได้

ทหารอาจจะถือตนว่าเป็นประชาชนและมีบางส่วนที่คิดว่าตนก็มีหน้าที่ที่จะต้องช่วยพัฒนาประเทศด้วยเหมือนกัน แต่ทหารจะเป็นประชาชนที่ดี และมีส่วนช่วยพัฒนาประเทศได้มากกว่า ถ้าทหารจะรู้จักทำตามหน้าที่ของตนในฐานะทหารอาชีพ (ปกป้องอธิปไตย, ความมั่นคงของประเทศ) ให้ดีที่สุด และบำเพ็ญตนเป็นพลเมืองดีเหมือนคนอื่นๆ โดยไม่ใช้อำนาจที่มาจากการคุมกองทัพแทรกแซงทางการเมือง สร้างอำนาจ/ผลประโยชน์ให้กับตัวเองหรือหมู่คณะ ชนิดได้เปรียบประชาชนพลเมืองอื่นๆ

ถ้าทหารอ้างว่าพวกตนอยากปฏิรูปประเทศ พวกเขาต้องพัฒนาระบอบประชาธิปไตยด้วย ควรยกเลิกระบบการมีวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง หรือถ้าอ้างว่าเป็นระบบชั่วคราวก็ไม่ควรตั้งนายทหาร อดีตนายทหารเข้ามาเป็นวุฒิสมาชิก ไม่ควรส่งนายทหารไปคุมรัฐวิสาหกิจ ยอมให้ผู้แทนฯ พิจารณางบประมาณกระทรวงกลาโหมได้อย่างฟังเหตุผลความจำเป็น นายทหารที่ได้เงินเดือนหรือบำนาญจากรัฐอยู่แล้ว ถ้าจำเป็นต้องไปควบตำแหน่งอื่นอีก(ซึ่งควรมีจำนวนน้อยมาก) ควรได้รับเงินตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งเท่านั้น

ในยุคนี้ไม่มีภัยคุกคามทางการทหารจากต่างประเทศเหมือนยุคโบราณแล้ว สงครามยุคนี้คือสงครามทางเศรษฐกิจ และการแข่งขันกันในเรื่องการพัฒนาประเทศ ไทยควรทำกองทัพให้เล็กลง ลดสัดส่วนนายพลและทหารทั้งกองทัพลงมา (ทหารมี 3 แสนคน มีนายพลราว 1,500 คน อัตราส่วนนายพลน่าจะสูงที่สุดในโลก) และปรับตัวฝึกอบรมคนของกองทัพให้มีความรู้ ความสามารถ ไปทำงานด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคมมากขึ้น เช่น ไปช่วยปราบปรามยาเสพติด การค้าของเถื่อนชายแดน ช่วยดูแลป่าไม้และทรัพยากรอื่นๆ การพัฒนาแหล่งน้ำ ถนนหนทาง ฯลฯ ในชนบท เราควรปฏิรูปทั้งองค์กรทหาร ตำรวจ และหน่วยราชการอื่นอย่างจริงจัง ถ้าจะทำให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นอบ

การที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีการศึกษาน้อย มีการรวมกลุ่มและการตื่นตัวทางการเมืองน้อย เปิดโอกาสให้นักการเมืองซื้อเสียงขายเสียง หาเสียงแบบประชานิยมและอื่นๆ เข้ามาหาผลประโยชน์ได้ และทำให้ทหารมีข้ออ้างที่จะเข้ามาแทรกแซงรัฐบาลที่มีปัญหาแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวสูง แต่ทหารควรแทรกแซงเฉพาะช่วงวิกฤติทางการเมืองที่จำเป็นจริงๆ เป็นการชั่วคราว เสร็จแล้วทหารก็ควรถอนตัว ไปเป็นคนกลางผู้กำกับเรื่องความสงบมั่นคง หรือกำกับการเลือกตั้งให้ยุติธรรม ไม่ใช่การเข้ามาเป็นรัฐบาลระยะยาว การจะปฏิรูปหรือแก้ไขปัญหาของประเทศได้อย่างแท้จริง คือต้องพัฒนาให้ประชาชนมีทรัพย์สิน รายได้ การศึกษา จิตสำนึกการเป็นพลเมืองที่รับผิดชอบ มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม องค์กรเพื่อสร้างอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น ประชาชนจะรู้จักเลือกและตรวจสอบรัฐบาลและผู้แทนในสภาได้ดีขึ้น