การใช้แพลตฟอร์มจีนเพื่อทำการตลาดท่องเที่ยว

การใช้แพลตฟอร์มจีนเพื่อทำการตลาดท่องเที่ยว

เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า จีนเป็นตลาดสำคัญของการท่องเที่ยวไทย การเติบโตของตลาดท่องเที่ยวประเทศจีนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั่วโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบอิสระ ที่ปัจจุบันจีนส่งออกนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวไปสู่ตลาดโลกมากกว่า 65 ล้านคนครั้ง จากจำนวนนักท่องเที่ยวรวม 130 ล้านคนครั้งในปี 2560 ที่ผ่านมา ข้อมูลต่อไปนี้ ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ ซึ่งทำวิจัยโครงการการศึกษาพฤติกรรมและความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวจีนเพื่อรองรับการท่องเที่ยว 4.0 เป็นผู้รวบรวม โครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวอันมหาศาล ดึงดูดให้ผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการท่องเที่ยวออนไลน์ชื่อดังจำนวนมาก พยายามเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยวจีน ทั้งในส่วนการให้บริการรับจองตั๋วเดินทาง โรงแรมที่พัก แพ็คเกจท่องเที่ยว ตลอดจนบริการอื่นๆ เพื่อการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น Agoda.com, Booking.com, Airbnb, Trip advisor เป็นต้น อย่างไรก็ดี การเข้าสู่ตลาดประเทศจีนกลับเต็มไปด้วยอุปสรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความไม่เข้าใจในพฤติกรรมของคนจีน และต้องเผชิญหน้ากับบริษัทให้บริการท่องเที่ยวออนไลน์ในประเทศจีน ที่มีทั้งความเข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้บริการที่ดีกว่า รวมถึงมีนวัตกรรมทางเทคโนโลยีไม่แตกต่างจากคู่แข่งจากต่างประเทศ

การใช้แพลตฟอร์มจีนเพื่อทำการตลาดท่องเที่ยว

ปัจจัยดังกล่าวจึงทำให้ผู้ให้บริการ Application เพื่อการท่องเที่ยวจีนสามารถรักษาฐานลูกค้าชาวจีนเอาไว้เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการบริการท่องเที่ยวในประเทศ-ต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น ความล้มเหลวของ Airbnb ในการเข้าสู่ตลาดจีน เพราะไม่สามารถแย่งฐานตลาดกลุ่มผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการจาก Application ท้องถิ่น เช่น  “เสี่ยวจู” Airbnb สัญชาติจีน (รูปที่ 1) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการที่พักในแบบบ้านและคอนโดมิเนียม ซึ่งในปัจจุบันก็มีผู้ให้บริการบ้านและคอนโนมิเนียมใน จ.เชียงใหม่ ใช้แพลตฟอร์มเสี่ยวจูเจาะตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่ต้องการแสวงหาห้องพักในรูปแบบที่พักที่แตกต่างจากโรงแรมทั่วไป

เสี่ยวจู เป็น Mobile Application ที่พัฒนาขึ้นในประเทศจีน ก่อนจะขยายขอบเขตการให้บริการออกสู่ต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นให้บริการแก่นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางออกต่างประเทศเป็นหลัก จึงทำให้นักท่องเที่ยวจีนสามารถเลือกสรรบริการ Application ต่างๆ ที่ให้บริการเพื่อการท่องเที่ยวในต่างประเทศ ด้วย Application ต่างๆ เช่นเดียวกันกับเมื่อท่องเที่ยวหรือใช้ชีวิตประจำวันในประเทศ ดังนั้นการเรียนรู้ช่องทางที่นักท่องเที่ยวเลือกใช้ เพื่อกิจกรรมต่างๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าถึงตลาดผู้บริโภคจีน

การใช้แพลตฟอร์มจีนเพื่อทำการตลาดท่องเที่ยว

รูปที่ 2 แสดงช่องทางการตลาดออนไลน์แบบต่างๆ ที่ผู้ประกอบการไทยสามารถพิจารณาสำหรับการเข้าถึงตลาดผู้บริโภคจีน ประกอบด้วย 1.ช่องทางสังคมออนไลน์ ได้แก่ Wechat, QQล Weibo และ Meipai 2.ช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ Taobao Tmall ช่องทาง E-commerce แบบ C2C และ B2C 3.ช่องทาง O2O ได้แก่ Dianping Meituan และ Baidu Waimai 4.ช่องทาง Search Engine เช่น Baidu Sogou Yahoo Sohu 5.ช่องทาง OTA ได้แก่ Ctrip Qunar Fliggy Qiongyou Tuniu Mafengwo Lvmama Qyer 6.Web VDO เช่น Qiyi Youku Tudou รวมถึง 7.ช่องทาง Startup Business จีน ที่เข้ามาเปิดตลาด Mobile Application ให้บริการทั้งข่าวสาร และ Application OTA ทั้งนี้ในการทำการตลาดผ่านช่องทางต่างๆ ข้างต้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเข้าใจรูปแบบหรือผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับการใช้ในช่องทางต่างๆ ตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการที่เป็นท่องเที่ยว ร้านอาหาร หรือกิจกรรมสันทนาการ จะเหมาะสมกับการใช้ช่องทาง O2O Dianping มากกว่า Ctrip เพราะ Dianping มีช่องทางขายตั๋วเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวราคาถูก ขณะที่ Ctrip จะเน้นการให้บริการเส้นทางท่องเที่ยวมากกว่าการขายตั๋วเข้าชมแบบเดี่ยวๆ

อีกทางเลือกหนึ่งที่ผู้ประกอบการสถานที่ท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการช่องทางการตลาดคือ ช่องทาง OTA ของ Startup Business จีนในประเทศไทย ที่มีพนักงานประจำในประเทศไทยและนิยมนำเอาผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวของผู้ประกอบการ ไปทำแพ็คเกจกับสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ

ครั้งต่อไป เรามาคุยเรื่องขนาดของตลาดออนไลน์ของจีนต่อนะคะ