ราชนีติ : วิถีพระราชา มรรคาผู้นำ

ราชนีติ : วิถีพระราชา มรรคาผู้นำ

ในตอนที่แล้วนั้น ได้เสนอคาถาบทที่ 74-85 แสดงแนวทางทรงความยุติธรรมแด่พระราชา ในเรื่องใช้พระราชอำนาจสร้างคุณและโทษแก่ราษฎร

การให้ความเสมอภาคแก่ทุกชนชั้นไม่ว่ารวยหรือจน การตัดสินและส่งเสริมคนด้วยความดีมิใช่ชาติกำเนิด ซึ่งสรุปว่าเป็น “การปกครองอย่างทั่วถึง” ซึ่งจะสร้างความสุขแก่ราษฎรโดยทั่วกัน บัดนี้ เราจะได้ร่วมกันศึกษาคาถาที่น่าสนใจในบทต่อๆ ไป นั่นคือ

คาถาบทที่ 89 ต้นไม้กิ่งก้านคดเคี้ยวรกรุงรัง แห้งห้อย สูงเกิน แห้งโกร๋น มีอยู่ในสวน เจ้าของควรตัดออกเสีย ต้นไม้มีผลดีมีรสอร่อย เจริญงอกงาม เจ้าของต้องรดน้ำพรวนดิน เติมปุ๋ยบำรุงรักษาฉันใด พระเจ้าอยู่หัวก็เปรียบเสมือนเจ้าของสวน ทรงรำพึงอยู่ทุกเมื่อฉะนั้น

คาถาบทที่ 90 มาลาการควรปลูกต้นไม้ที่ตัดตอนแล้ว ควรเก็บดอกไม้ที่บานสะพรั่ง พึงบำรุงไม้เล็กๆ ให้งดงาม พึงค้ำไม้ที่ง้อมลงจวนล้ม พึงแผ้วถางหญ้าและกาฝากที่ปกคลุม พึงแยกไม้อ่อนและไม้แข็งไว้นอกกอ ต้นไม้ที่ปลูกได้ระเบียบดีแล้ว มาลาการย่อมปลาบปลื้มฉันใด พระเจ้าอยู่หัวก็พึงทรงชื่นชมประชาราษฎร์ของพระองค์ เหมือนนายมาลาการฉะนั้น

คาถาบทที่ 91 พระเจ้าอยู่หัวต้องมีข้าเฝ้าร่วมชีพที่เป็นคนมีตระกูล แกล้วกล้า ศึกษาเล่าเรียนมาก คงแก่เรียน เป็นผู้ดี มีความจงรักภักดี รู้หลัก นักปราชญ์ ชำนาญนิติศาสตร์ โดยแท้

คาถาบทที่ 92 ได้เล่าเรียนดี1 มีศีลาจารวัตร1 กล้าศึก1 มีความเพียร1 ทำกิจการสำเร็จด้วยดี1 มีกำลังสามารถ1 ไม่มักได้1 รูปกำยำสันทัด1 ท่านกล่าวว่าคุณสมบัติทั้ง 8 นี้เหมาะแก่มนตรี

คาถาบทที่ 93 พระเจ้าอยู่หัวทรงปรึกษาผู้รู้หลายครั้งหลายหนแล้ว ภายหลังจึงทรงประชุมกันทำเรื่องที่ได้ปรึกษากันดีแล้วนั้น

คาถาบทที่ 94  พระเจ้าหัวต้องทรงให้การศึกษาแก่พสกนิกร ทรงตัดความสงสัยด้วยคนที่ศึกษาดีแล้ว ความคิดที่คิดใหม่ ต้องแสดงความวิเศษของความคิดนั้นให้ชัด

คาถาบทที่ 95 พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใด ทรงวินิจฉัยราชกิจได้ถูกต้องเป็นนิตย์ พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น ชื่อว่าทรงสมบูรณ์ดีแล้ว ทรงพระกำลังยิ่งกว่าศัตรู จะไม่ต้องทรงล่มจม แม้ในบางครั้งบางคราว

คาถาบทที่ 96 ข้าเฝ้าควรหาโอกาสห้ามพระเจ้าอยู่หัวจากความชั่ว ต้องประกอบเกื้อกูล ต้องปกปิดความลับ ทำแต่สิ่งที่เป็นคุณ ไม่ละทิ้งในยามอันตราย ต้องช่วยในโอกาสอันควร ลักษณะเช่นนี้ท่านเรียกว่ามิตรแท้

คาถาบทที่ 97 ความเป็นมิตรทำได้ง่าย เมื่อไรๆ ก็ทำได้ แต่การรักษาความเป็นมิตรนั้นทำได้ยากเย็น เหตุนั้นใครมีลักษณะมิตรแท้ ถึงผู้นั้นจะขัดสนหรือมั่งคั่งก็ตาม พระเจ้าอยู่หัวผู้ฉลาดเฉียบแหลม ต้องทรงบำรุงมิตรนั้นไว้

คาถาบทที่ 98 การป้องกันมิตรในยามอันตราย ควรประทานความชอบ เพราะผู้ไม่ดูดายในมิตรทั้งหลาย ย่อมบรรลุวิบุลผล  (คัดจาก ราชนีติ ฉบับแปลโดย นายทอง หงส์ลดารมภ์) 

พิจารณาคาถาที่ยกมานี้ สามารถแยกประเด็นสังเขปได้ 3 เรื่องคือ

1.การเอาใจใส่คนในปกครอง คนในปกครองของพระราชาก็คือราษฎรทั้งหลาย ส่วนผู้นำประเทศก็คือประชาชนในประเทศของตน ส่วนผู้นำองค์กรก็คือพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ในองค์กร ซึ่งพระราชา ผู้นำประเทศ ผู้นำองค์กร ต้องเอาใจใส่ดูแลทุกสุขของคนเหล่านั้น เปรียบดังคนสวนหรือนายมาลากรดูแลบำรุงรักษาพืชพันธุ์ในสวนของตนนั่นเอง

2.การคัดเลือกและบริหารจัดการคนทำงานและที่ปรึกษาหรือข้าเฝ้าทั้งหลาย ว่าต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง และยังแนะนำถึงสิ่งที่ที่ปรึกษาหรือข้าเฝ้าต้องทำ หากทำได้ครบถ้วนก็เชื่อว่าจะส่งผลดีแก่อาณาจักร ประเทศชาติ และองค์กร

3.การคบมิตรและรักษามิตร คนทุกระดับจะต้องมีมิตรดี เพราะมิตรนั้นต่างอาศัยและเกื้อกูลกันและกัน ให้คำแนะนำที่ดีแก่กัน ใครมีมิตรดีย่อมเกิดผลดีแก่คนผู้นั้น ดังคาถาที่ 98 กล่าวว่า “การป้องกันมิตรในยามอันตราย ควรประทานความชอบ เพราะผู้ไม่ดูดายในมิตรทั้งหลาย ย่อมบรรลุวิบุลผล” นั่นเอง

ทั้ง 3 ประการนี้ไม่เพียงแต่พระราชาเท่านั้นที่จำเป็นต้องมี ผู้นำทุกระดับก็จำเป็นต้องมีคนในบังคับบัญชา ที่ปรึกษา และมิตรที่ดีด้วยกันทั้งสิ้น การที่จะมีได้ก็ต้องบำรุงรักษา นั่นคือ ดูแลทุกข์สุขของคนในบังคับบัญชา ที่ปรึกษา และมิตรให้ดี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงทำแบบอย่างไว้เป็นประจักษ์แก่ชนทั้งหลายในโลก ทั้งการบำรุงรักษาราษฎร ทั้งการคัดเลือกที่ปรึกษา เช่น องคมนตรี และคนทำงานระดับต่างๆ เพื่อทำงานในโครงการส่วนพระองค์ที่มุ่งสร้างความสุขแก่ราษฎร ทั้งการคบมิตรและบำรุงมิตร ทั้งมิตรประเทศและมิตรส่วนพระองค์ เช่น ทรงมีพระสหายเป็นชาวบ้าน เป็นต้น พระองค์จึงทรงเป็นแบบอย่างแก่ชาวโลก เป็นพระมหากษัตริย์ที่ ทรงวินิจฉัยราชกิจได้ถูกต้องเป็นนิตย์ พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น ชื่อว่าทรงสมบูรณ์ดีแล้ว ทรงพระกำลังยิ่งกว่าศัตรู จะไม่ต้องทรงล่มจม แม้ในบางครั้งบางคราว  ดังที่ปรากฏในคาถาที่ 95 นั่นเอง

หมายเหตุ: ผู้เขียนขอข้ามบางคาถาไป เพราะเป็นคาถาที่ขยายความคาถาบทก่อนจึงมีใจความซ้ำกัน