39 ปีแห่งการคุ้มครองผู้บริโภค

39 ปีแห่งการคุ้มครองผู้บริโภค

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ นอกจากจะมีวันสำคัญที่คนไทยทุกคนต่างรู้จักกันดีอย่างวันจักรีและวันสงกรานต์แล้ว

ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่ายังมีอีกหนึ่งวันสำคัญคือ วันคุ้มครองผู้บริโภคไทยซึ่งตรงกับวันที่ 30 เมษายนของทุกปี เหตุที่ต้องเป็นวันที่ 30 เมษายนนั้นก็เป็นเพราะว่า กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคฉบับแรกของประเทศไทยได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ ทรงลงพระปรมาภิไธยตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2522 นั้นหมายความว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 (พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคฯ) มีอายุครบรอบ 39 ขวบเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมานี้เอง

พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคฯ บัญญัติสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายดังต่อไปนี้ ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ เช่น การโฆษณาต้องไม่เกินจริง และฉลากสินค้าที่เป็นสินค้าควบคุมฉลากจะต้องมีข้อมูลที่ครบถ้วนตามที่คณะกรรมการว่าด้วยฉลากกำหนด, สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการโดยไม่ถูกชักจูงอย่างไม่เป็นธรรม, สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ, สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจที่เป็นธุรกิจควบคุมสัญญา เช่น ธุรกิจให้เช่าอาคารที่อยู่อาศัย และธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องใช้สัญญาที่มีข้อความตามที่คณะกรรมการว่าด้วยสัญญากำหนด และสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองและชดใช้ค่าเสียหายเมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคดังที่กล่าวมา

นอกจากพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคฯ แล้ว ประเทศไทยยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่มีวัตถุประสงค์เป็นการคุ้มครองผู้บริโภค อาทิเช่น พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองผู้บริโภค ในกรณีที่ผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากสินค้าที่เป็น “สินค้าที่ไม่ปลอดภัย” เช่น สินค้าที่มีความบกพร่องในการผลิตหรือการออกแบบ สินค้าที่ไม่ได้กำหนดวิธีใช้หรือวิธีเก็บรักษาเป็นผลให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภค เป็นต้น โดยก่อนหน้าที่กฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ ผู้บริโภคจะเป็นผู้ที่มีภาระในการพิสูจน์ว่าสินค้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายนั้นเป็นสินค้าไม่ปลอดภัย ซึ่งในความเป็นจริงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้บริโภคจะมีข้อมูลเพียงพอที่จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ กฎหมายฉบับนี้จึงได้เปลี่ยนภาระการพิสูจน์ไปอยู่ที่ผู้ประกอบการที่จะต้องนำสืบเพื่อไม่ต้องรับผิด, พระราชบัญญัติขายตรงและการตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ให้ความคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีที่มีการขายสินค้าที่เข้าข่ายเป็นการขายตรง ซึ่งหมายถึงการนำเสนอขายต่อผู้บริโภคโดยตรง ณ ที่อยู่อาศัยหรือสถานที่ทำงานของผู้บริโภคหรือของผู้อื่น หรือสถานที่อื่นที่มิใช่สถานที่ประกอบการค้าเป็นปกติธุระ โดยผ่านตัวแทนขายตรงหรือผู้จำหน่ายอิสระหลายวิธีด้วยกัน เช่น กำหนดให้มีการวางหลักประกันการประกอบธุรกิจขายตรงเพื่อให้เป็นหลักประกันว่าผู้บริโภคจะได้รับความคุ้มครองหากผู้บริโภคได้รับความเสียหายอันเกิดจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ หรือการกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องร่วมรับผิดกับผู้จำหน่ายอิสระต่อผู้บริโภคเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นจากการขายตรง เป็นต้น, พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 คุ้มครองผู้บริโภคโดยการกำหนดให้มีการขออนุญาตเพื่อผลิต จำหน่าย หรือนำเข้าเพื่อจำหน่ายอาหารบางประเภท รวมถึงกำหนดลักษณะของอาหารลักษณะต่าง ๆ ที่ผิดกฎหมาย หรือห้ามผลิต จำหน่าย หรือนำเข้าเพื่อจำหน่าย และพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 คุ้มครองผู้บริโภคโดยการควบคุมการผลิต นำเข้า ขายเครื่องสำอางผ่านข้อกำหนดให้มีจดแจ้งเครื่องสำอางก่อนที่จะผลิต นำเข้า หรือขายได้

กฎหมายดังกล่าวเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีกฎหมายอื่น ๆ อีกมากที่มีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่กำกับดูแลการประกอบธุรกิจบางประเภท เช่น กฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจสถาบันการเงิน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจโทรคมนาคม ต่างก็มีส่วนที่เกี่ยวข้องในการคุ้มครองผู้บริโภคที่ใช้บริการในธุรกิจดังกล่าว

แน่นอนว่ากฎหมายเหล่านี้ยังต้องมีการพัฒนาปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและพฤติกรรมของผู้ผลิตและผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การคุ้มครองผู้บริโภคโดยการกำหนดให้ขอใบอนุญาตก่อนการผลิตหรือการขายอาจจะไม่เพียงพอ แต่ควรเพิ่มการตรวจสอบและติดตามการปฏิบัติตามเงื่อนไขของใบอนุญาต หรือการจดแจ้งดังกล่าว อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าอันที่จริงแล้วประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่ค่อนข้างครอบคลุม แต่เหตุที่ดูเหมือนว่าการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยยังไม่ก้าวหน้าเท่าใดนั้น ผู้เขียนเห็นว่าปัญหาอาจมาจากสองส่วนด้วยกัน ส่วนแรก เป็นปัญหาด้านการบังคับใช้กฎหมายที่ยังไม่เข้มแข็งเท่าไหร่ ทำให้บางครั้งผู้บริโภคต้องไปพึ่งสื่อต่าง ๆ แทนที่จะเป็นกฎหมาย ทำให้กฎหมายขาดความศักดิ์สิทธิ ส่วนที่สอง อาจเป็นเพราะว่าผู้บริโภคอย่างพวกเราไม่ออกมาปกป้องสิทธิของตนตามสมควร การไปพึ่งสื่อแม้ว่าจะทำให้ได้รับการเยียวยา แต่ก็เป็นเพียงการเยียวยาระยะสั้นเท่านั้น ผู้เขียนเชื่อว่าหากผู้บริโภคใช้สิทธิของตนที่ผ่านกระบวนการตามกฎหมายแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าน่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการเกรงกลัวต่อกฎหมายและปฏิบัติตามกฎหมายมากขึ้น

แล้วพบกันใหม่โอกาสหน้า สวัสดีค่ะ

โดย... 

ภูริตา ธนโชคโสภณ

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด

[email protected]