ICO เหรียญสองด้านกับการระดมทุน

ICO เหรียญสองด้านกับการระดมทุน

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ICO แนวทางการระดมทุนในรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาได้กลายมาเป็นเครื่องมือในการระดมทุน

 ถ้าเปรียบเทียบกับการระดมทุนในรูปแบบอื่นๆ ในตลาด ICO (Initial Coin Offering)ก็คือการระดมทุนแบบ Crowdsourcing ที่ใช้ Token หรือเหรียญดิจิทัลเป็นการแลกเปลี่ยนแทนที่จะแลกกับสินค้าหรือแลกกับหุ้นในบริษัท 

กระแสที่ร้อนแรงของ ICO ส่งผลให้การระดมทุนรูปแบบนี้กลายมาเป็นวาระสำคัญ ที่ทั้งนักลงทุน สตาร์ทอัพ และภาครัฐที่มีบทบาทในการกำกับดูแลต้องเข้ามามีส่วนร่วม ในมุมนักลงทุนและภาครัฐคือการบริหารโอกาสและความเสี่ยงในการลงทุน ในขณะที่ สตาร์ทอัพจะมอง ICO เป็นเสมือนทางเลือกใหม่ของการระดมทุนที่มีต้นทุนต่ำกว่าและใช้เวลาน้อยกว่า รวมถึงการได้เงินทุนโดยไม่ต้องเสียสัดส่วนหุ้นและยังได้มวลชนมาเป็นแนวร่วมในการสนับสนุนแพลตฟอร์ม ธุรกิจ หรือ เทคโนโลยี

จนถึงวันนี้ที่การเกิดขึ้นและดับไปของ ICO ในตลาดโลกมีจำนวนสูงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลจากการสำรวจของนิตยสาร Fortune ระบุว่าในปีที่ผ่านมา 59% ของโครงการที่ออก ICO ประสบความล้มเหลว สิ่งเหล่านี้สร้างความวิตกกังวลให้กับนักวิคราะห์และนักลงทุนว่า ICO อาจจะกลายเป็นฟองสบู่และจะนำไปสู่ความล่มสลายในด้านความน่าเชื่อถือกับคนส่วนใหญ่ แต่เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ เพราะนักวิเคราะห์บางกลุ่มก็ตั้งคำถามว่าสัดส่วนของโครงการ ICO ที่ล้มเหลวเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับธุรกิจที่ระดมทุนในรูปแบบอื่น เช่น เงินลงทุนของ VC ที่ลงในสตาร์ทอัพ คำตอบก็คือมีสตาร์ทอัพจำนวนจำนวนมากถึงกว่า 70% ที่ได้รับเงินลงทุนจาก VC แต่ไม่สามารถขยายธุรกิจได้จริงและจบลงด้วยการไม่ได้ไปต่อเช่นกัน ดังนั้นปัจจัยเรื่องความสำเร็จและล้มเหลวมันคือเรื่องของโมเดลธุรกิจ และ Execution ล้วนๆ การระดมทุนเป็นแค่กระบวนการที่ทำให้ธุรกิจมีทรัพยากรเพียงพอในการพัฒนาเทคโนโลยี และเข้าถึงลูกค้าเท่านั้น ถ้าจะวัดว่า ICO คือโอกาสหรือความเสี่ยงมากกว่าแนวทางการระดมทุนในรูปแบบอื่น ตัวเลขสถิติใดๆ คงยังบอกอะไรได้ไม่มากนักเพราะเกมนี้คงต้องดูกันยาวๆ

เมื่อนักลงทุนและสตาร์ทอัพยังเสียงแตกเมื่อมองภาพของ ICO เปรียบเทียบกับการระดมทุนในรูปแบบอื่น คำตอบสุดท้ายที่ว่าการใช้ ICOs จะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการระดมทุนเพื่อตอบโจทย์ของการสร้างธุรกิจนวัตกรรมของวันนี้และอนาคตหรือไม่ จึงยังคงเป็นความคลุมเครือที่ทุกคนอาจจะต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับการเตรียมตัวรับผลกระทบ การบริหารความเสี่ยงสำหรับทุกภาคส่วนน่าจะอยู่ที่กระบวนการคัดกรองโครงการที่จะเข้ามาระดมทุนจากนักลงทุน และการสร้างมาตรฐานของการทำ White Paper หรือหนังสือชี้ชวนของแต่ละโครงการให้สามารถสร้างเข้าใจให้กับมวลชน ก่อนการตัดสินใจลงทุน เพราะการลงทุนใน ICO ส่วนใหญ่คือการนำเงินลงทุนไปพัฒนาเทคโนโลยี หรือการสร้าง Ecosystem ใหม่ซึ่งยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง และอาจมีความซับซ้อนที่ยากทำให้เห็นภาพชัดเจนได้ การตัดสินใจลงทุนควรเกิดจากการทำการบ้านมากเพียงพอเพื่อเข้าใจตลาดนั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษา Problems และ Solutions ที่ระบุไว้บน White Paper อย่างละเอียด มากกว่าแค่การประเมินอย่างผิวเผินจากข้อมูลในอดีตหรือลงทุนกับสิ่งที่อยู่ในกระแส การเข้าถึงข้อมูลและวิเคราะห์โมเดลธุรกิจจึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญอันดับต้นๆ

ในจุดที่สังคมกำลังจับตามอง ICO ว่าจะเดินไปในทิศทางใดและลงเอยอย่างไร ICO จะเป็นเครื่องมือในการระดมทุนที่มีประสิทธิภาพสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ หรือจะกลายเป็น Money Game ที่มุ่งเพียงเพื่อสร้างความมั่งคั่งชั่วข้ามคืน ทุกคนที่อยู่ในระบบนิเวศของสตาร์ทอัพควรต้องช่วยกันมองเรื่องนี้อย่างมีนัยสำคัญและช่วยกันคนละไม้คนละมือในการสร้างกลไกในการคัดกรอง ตรวจสอบ และติดตามความเคลื่อนไหวของแต่ละ ICO 

เพราะความผิดพลาดอาจหมายถึงวิกฤติศรัทธาที่มีโอกาสจะนำไปสู่จุดผลิกผันที่กระทบความเชื่อมั่นกับธุรกิจที่มุ่งเน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีทั้งระบบ!