ซินซินนาทัส: ขุนพลผู้รักษาโรมให้รอดวิกฤติ

ซินซินนาทัส: ขุนพลผู้รักษาโรมให้รอดวิกฤติ

458 ปีก่อนคริสตกาล Cincinnatus ใช้ชีวิตทำไร่ทำนาอยู่ในกรุงโรม วันหนึ่งในขณะที่เขากำลังดูแลไร่นาของเขา เขาได้ยินเสียงควบม้าอึกทึกตรงมาที่เขา

เหล่าคนที่ขี่ม้ามานั้น คือ วุฒิสมาชิกสภาเซเนต (สภาสูงของโรม) คนเหล่านั้นได้แจ้งให้เขาทราบว่า โรมกำลังอยู่ในภาวะคับขันอย่างยิ่ง เพราะเหล่าศัตรูกำลังรวมตัวยกทัพมาโจมตีโรม และด้วยภาวะวิกฤตินี้ ทำให้สภาจำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษเพื่อให้มีการแต่งตั้งผู้นำที่มีอำนาจสมบูรณ์เบ็ดเสร็จเด็ดขาดเป็นเวลา 6 เดือนในการจัดการกับศัตรูภายนอก และทำให้โรมกลับมาสงบร่มเย็น และผู้ที่สภาตัดสินใจแต่งตั้งก็คือ Cincinnatus นั่นเอง

ข้อเสนอดังกล่าวนี้ เป็นสิ่งที่คนรักบ้านเกิดเมืองนอนอย่าง Cincinnatus ไม่สามารถปฏิเสธได้ สาเหตุที่สภาเซเนตตัดสินใจแต่งตั้งเขาก็เพราะว่า เดิมทีเขาเคยดำรงตำแหน่งกงสุลอันเป็นตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายบริหารในการปกครองโรมัน และในช่วงเวลาที่เป็นกงสุล เขาได้รับยกย่องว่าทำหน้าที่ได้อย่างสุจริตเที่ยงธรรม 

คุณสมบัติดังกล่าวนี้เองที่ทำให้สภาเซเนตลงความเห็นว่าเขาคือ ผู้นำที่ดีที่สุดที่จะนำพาให้โรมรอดพ้นวิกฤติได้ หลังจาก Cincinnatus เข้าทำหน้าที่ ภายในระยะเวลาเพียง 15 วัน เขาก็สามารถรักษาโรมไว้ได้จากสภาวะที่ง่อนแง่นใกล้เพลี่ยงพล้ำ และได้ทำในสิ่งที่ผู้นำทางการเมืองในโลกสมัยใหม่ส่วนใหญ่มักไม่ทำกัน นั่นคือ รีบลงจากตำแหน่งและกลับไปทำนาตามเดิม

อีก 20 ปีต่อมา ในวัย 80 กว่าๆ Cincinnatus ก็ต้องออกจากไร่นา มารับตำแหน่งผู้นำสูงสุดในสถานการณ์พิเศษตามมติของสภาเซเนตอีกครั้งหนึ่ง เพราะมีการก่อการโดย Spurius Maelius ที่หวังจะยึดอำนาจและสถาปนาตัวเองเป็นจักรพรรดิ ครั้งนี้ Cincinnatus ก็สามารถจัดการกับกบฏนั้นได้อย่างรวดเร็ว และเหมือนเดิม เขารีบลาออกทันทีและกลับบ้านไปทำนา

เรื่องราวของ Cincinnatus ได้กลายเป็นตำนานเล่าขานของชาวโรมันและสืบต่อๆ มาจนถึงโลกปัจจุบัน อันเป็นที่มาของการตั้งชื่อเมืองหนึ่ง ในอเมริกาตามชื่อของเขาด้วย นั่นคือ เมือง Cincinnati และเรื่องราวของเขาก็เป็นแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งในการสร้าง “พระเอก” ที่ชื่อ Maximus ในภาพยนตร์เรื่อง The Gladiator เพราะโดยทั่วไป ผู้นำมักจะไม่สามารถทนทานต่อความยั่วยวนของการครองอำนาจเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ได้ แต่ Cincinnatus หนักแน่นพอที่จะไม่ปล่อยให้ตัวเขาหลงและถูกอำนาจทำให้เสียคน เขาอยู่ในอำนาจไม่นานเกินความจำเป็น และกลับไปทำไร่ไถนา โดยไม่สนใจกับชื่อเสียงความยิ่งใหญ่ในทางการเมือง

ในโลกสมัยใหม่ บางประเทศก็มีผู้นำทหารที่เป็นแบบ Cincinnatus อยู่บ้าง ผู้นำทหารเหล่านั้นล้มรัฐบาลเผด็จการและพาตัวเองขึ้นสู่อำนาจเบ็ดเสร็จในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ด้วยการมีอำนาจเบ็ดเสร็จนี้จำเป็นอย่างยิ่งในการประคับประคองชาติบ้านเมืองให้กลับคืนสู่ความสงบ ก่อนจะสถาปนากระบวนการประชาธิปไตยและผ่องถ่ายอำนาจไปสู่ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง ประเทศที่ว่านี้ได้แก่ โปรตุเกส ในช่วงปี ค.ศ. 1974 ที่ผู้นำทหารทำรัฐประหาร โค่นล้มจอมเผด็จการที่ยืนยาวที่สุดในยุโรป และการทำรัฐประหารครั้งนั้น ประชาชนต่างต้อนรับด้วยความปีติชื่นชม

ในประวัติศาสตร์การเมืองของโลกจนถึงปัจจุบัน หากเราสำรวจเรื่องราวทำนองนี้ของประเทศต่างๆ ตั้งแต่ประเทศมาลี, อียิปต์. โคลอมเบีย. บูกีนา ฟาโซ, ตุรกี และอเมริกา หรือย้อนไปถึงยุคกรีกโบราณจนถึงอัฟริกาปัจจุบัน จะพบว่า มีคนหลายคนที่เคยเป็นทหารธรรมดาๆ แต่ต้องแปรเปลี่ยนไปเป็นผู้นำทางการเมืองหรือนักการเมืองในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย บางคนก็ประสบความสำเร็จ แต่บางคนก็ล้มเหลว แต่ขณะเดียวกัน ก็มีผู้นำที่โหดร้ายเจ้าเล่ห์และทรยศประชาชนของเขา โดยการมุ่งมั่นครองอำนาจเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ และก็มีผู้นำทหารแบบ Cincinnatus ที่คืนอำนาจให้ประชาชนทันที หลังจากที่การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยสำเร็จเสร็จสิ้น ซึ่งก็คือการรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จในการนำพาชาติไปสู่ประชาธิปไตย !

 แต่ขณะเดียวกัน ก็มีผู้นำที่โหดร้ายเจ้าเล่ห์และทรยศประชาชนของเขา โดยการมุ่งมั่นครองอำนาจเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ และก็มีผู้นำทหารแบบ Cincinnatus ที่คืนอำนาจให้ประชาชนทันที หลังจากที่การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยสำเร็จเสร็จสิ้น ซึ่งก็คือการรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จในการนำพาชาติไปสู่ประชาธิปไตย !

คำว่า “สำเร็จ” นี้ เราอาจจะต้องใช้ความหมายที่กว้างมากหน่อย เพราะมีรัฐประหารเพื่อประชาธิปไตยที่ล้มเหลว แต่เป็นความล้มเหลวในบางด้าน บางประเทศ ทหารสามารถทำให้การเมืองกลับฟื้นคืนมาได้หลังจากที่ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้ความสงบนิ่งอยู่พักใหญ่ และก็มีบางประเทศที่ในช่วงที่ต้องรักษาความสงบนิ่งที่ว่านี้ ทหารได้เข้าไปละเมิดสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่การห้ามการชุมนุมประท้วงไปจนถึงลิดรอนสิทธิ์เสรีภาพของปัจเจกบุคคล 

  แต่ก็ยังมีกรณีอื่นๆ ที่แม้ว่าหลังจากที่ทหารกลับสู่กรมกองแล้ว ผลพวงของการทำรัฐประหารก็ยังคงอยู่ต่อไปอีกหลายปี ด้วยทหารยังคงมีอิทธิพลต่อการเมือง การมีประชาธิปไตยไม่ได้หมายความว่า หมดปัญหาแล้ว การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยทุกแห่งในโลกนี้ ไม่ว่าจะมีผู้นำที่เป็นพลเรือนหรือทหาร ต่างเป็นช่วงเวลาแห่งความสับสนวุ่นวาย และจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องคิดคำนึงถึงความหมายของคำว่า “สำเร็จ” ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง 

เราจะคิดถึง “ความสำเร็จ” ในระดับไหน ? อุดมคติสูงสุดเลย? แม้แต่ขุนพล Cincinnatus ชาวนาผู้พิทักษ์รักษากรุงโรมเอง ก็มีอีกด้านหนึ่งในตัวเขา นั่นคือ เขาเป็นคนที่ไม่สนับสนุนสิทธิของชนชั้นล่าง และเช่นเดียวกัน การรัฐประหารเพื่อประชาธิปไตยก็มีลักษณะบางอย่างแบบนี้ด้วยเช่นกัน 

ดังนั้น การใช้การรัฐประหารเป็นตัวเยียวยาวิกฤติบ้านเมือง จึงถือเป็นการใช้ยาแรง ซึ่งย่อมไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่ตามมาจากการพยายามรักษาการเมืองให้พ้นจากวิกฤติร้ายแรงได้....(เนื้อหาที่กล่าวมานี้ คัดมาจากบทสุดท้ายของหนังสือ “รัฐประหารเพื่อประชาธิปไตย” [Democratic Coup d’etat] ของ Ozan Varol หนังสือเล่มนี้ พัฒนาจากงานวิจัยชื่อเดียวกันที่ออกมาในปี ค.ศ. 2012 ที่ผู้เขียนเคยนำเสนอไว้ในกรุงเทพธุรกิจวันที่ 10 ก.ค.2557 ภายใต้ชื่อ “ฝรั่งกับรัฐประหาร”)

จากที่กล่าวไปข้างต้น ก็เพื่อจะให้คิดกันว่า ผู้นำการทำรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 จะลงเอยแบบใด ?