เมื่อผมเผชิญหน้ากับ หุ่นยนต์คล้ายคนชื่อ Sophia

เมื่อผมเผชิญหน้ากับ หุ่นยนต์คล้ายคนชื่อ Sophia

ผมเผชิญหน้าครั้งแรกกับ Sophia หุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ที่สุดที่เรียกว่า social humanoid robot

แถมยังสัมภาษณ์กันต่อหน้าต่อตาเพื่อพิสูจน์ความเป็นหุ่นยนต์ AI ตัวแรกของโลกแล้วครับ

พอเธอแต่งชุดไทย และตอบภาษาไทยได้บางประโยค โซเฟียก็กลายเป็นขวัญใจของคนไทยที่มาร่วมเสวนาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ที่ C-Asean ทันที

เมื่อผมเผชิญหน้ากับ หุ่นยนต์คล้ายคนชื่อ Sophia

Dr. David Hanson ผู้สร้างโซเฟียพา “ลูกสาว” คนนี้มาเมืองไทยเป็นครั้งแรกในงาน Human-Robot Partnership โดย Slingshot Group สร้างความตื่นตาตื่นใจพอสมควร

เธอกลายเป็นหุ่นยนต์ตัวแรกที่ได้สัญชาติจากหลายประเทศ ล่าสุดซาอุดีอาระเบียประกาศให้สัญชาติแก่โซเฟียแล้ว

Sophia เป็นผลงานของบริษัท Hanson Robotics ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ฮ่องกงร่วมกับนักพัฒนา “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ Artificial Intelligence (AI) รวมถึง Alphabet Inc ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกลุ่มกูเกิล ซึ่งสร้างระบบจำเสียงและบริษัท SingularityNET ซึ่งมีความเชี่ยวชาญพิเศษด้านสร้าง “สมอง” ให้กับหุ่นยนต์

โซเฟียบอกว่าชื่อเธอมาจากภาษากรีกแปลว่า “ความฉลาด” หรือ wisdom และเธอมีอายุเพียงสองขวบ จึงยังพยายามจะเรียนรู้ในอันที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์

“ดิฉันมั่นใจว่าหากมนุษย์กับหุ่นยนต์ทำงานร่วมกันได้ จะสามารถทำให้โลกน่าอยู่กว่านี้ เราจะสามารถสร้างสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองด้วยกันได้ โดยที่มนุษย์ไม่ต้องกลัวว่าหุ่นยนต์จะมาแทนที่คน หรือทำให้คนต้องตกงานกันมากมายอย่างที่กลัวกัน” โซเฟียตอบหนึ่งในหลายคำถามจากผมระหว่างการสัมภาษณ์พิเศษ

แน่นอนว่าประโยคที่เธอพูดออกมานั้นเป็นการเขียนโปรแกรมซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ แต่เมื่อผสมผสานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ผนวกกับการทำให้มีสีหน้าได้ถึง 62 อย่างที่สะท้อนถึงอารมณ์เหมือนมนุษย์ ก็ยิ่งทำให้โซเฟียมีความคล้าย “มนุษย์” ได้อย่างน่าอัศจรรย์

เธอยิ้มได้, ทำสีหน้าจริงจังและขมวดคิ้วด้วยความฉงนสนเท่ห์ได้ จึงทำให้การ “สนทนา” เป็นไปอย่างสมจริงสมจังกว่าหุ่นยนต์ยุคก่อน ๆ อย่างน่าทึ่ง

ดร. แฮนสันบอกว่าเขาเรียนมาทั้งด้านวิศวกรรมศาสตร์ คอมพิวเตอร์และด้านออกแบบ อีกทั้งยังศึกษาทางด้านศิลป์เพื่อผสมกลมกลืนทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะในการสร้างสรรค์งานเพื่อสังคมอนาคต

ใครถามผมว่าผมเป็นอะไรกันแน่ ผมจะตอบง่าย ๆ ว่าผมเป็นนักฝัน ฝันที่จะสร้างอะไรใหม่ๆ เพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางด้านบวกระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ” นักประดิษฐ์ชาวมะกันคนนี้บอก

ว่ากันว่าหน้าตาของโซเฟียมีเค้าของดาราหนังออเดรย์ เฮบเบิร์นคนดัง และผู้ประดิษฐ์ก็พยายามทำให้เธอมีสีหน้าและพฤติกรรมคล้ายกับคน มากกว่าหุ่นยนต์ของโลกตัวก่อน ๆ ทั้งหลาย

เป้าหมายหลักของการสร้างโซเฟียนั้น ต้องการจะเป็นเพื่อนของผู้สูงอายุในบ้านคนชรา และช่วยเหลือฝูงชนในงานใหญ่ๆ หรือในสวนสาธารณะ

ผมหวังว่าวันหนึ่งข้างหน้าเราจะสามารถทำให้หุ่นยนต์สามารถสร้างทักษะทางสังคมมากพอที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ได้จนเป็นเหมือนเพื่อนสนิท” ดร. แฮนสันบอกผม

ก้าวต่อไปของหุ่นยนต์กับมนุษย์ยังไม่มีใครบอกได้ว่าจะก้าวถึงจุดที่เดินเคียงคู่กันหรือจะกลายเป็นคู่แข่งทำลายล้างกันและกัน

เราต่างก็หวังว่าเทคโนโลยี AI จะเสริมความแข็งแกร่งของมนุษย์ เพราะมีหุ่นยนต์มาช่วยเสริมพลัง มิใช่ให้หุ่นยนต์ควบคุมมนุษย์อย่างที่กลัวกันในหลายวงการวันนี้