สตาร์ทอัพ M&A ทางลัดหรือ (ทางหลัก)?

สตาร์ทอัพ M&A ทางลัดหรือ (ทางหลัก)?

ในยุคที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมวิ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ไม่เพียงแค่องค์กรธุรกิจทั่วไปที่จำเป็นต้องปรับตัว

บริษัทชั้นนำระดับโลกที่เป็นฟันเฟืองในการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัลก็ต้องปรับตัวเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพราะ Disruption ที่เกิดจากคลื่นของ Social Network, Mobile, Analytics และ Cloud ถาโถมเข้ามาอย่างรวดเร็วจนทำให้คำว่า “Speed to market” ขององค์กรใหญ่กลายเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากเสียแล้วในวันนี้ เบื้องหลังการเติบโตของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกในวันนี้ คือการเข้าซื้อกิจการบริษัทสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพบนพื้นฐานของความเป็นจริงในยุคนี้ที่ว่า “ซื้อ” ย่อมเร็วกว่า “สร้าง”

เมื่อเร็วๆ นี้นิตยสารเทคโนโลยีชั้นนำของโลกได้ตีพิมพ์บทความหนึ่งที่เนื้อหาบอกไว้ว่า หรือจะหมดยุคของสตาร์ทอัพแล้ว เพราะองค์กรใหญ่ล้วนมีทรัพยากรและมีความสามารถที่จะสร้างเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นได้ล้ำหน้ามากกว่าและดูเหมือนว่าโลกของ Technology Disruption น่าจะอยู่ในมือขององค์กรใหญ่เท่านั้น มุมมองนี้ก็อาจจะไม่ผิด แต่อาจจะต้องลองวิเคราะห์ลึกลงไปว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา อะไรเป็น Source of growth หรือ กลยุทธ์ในการสร้างการเติบโตขององค์กรใหญ่เหล่านั้น M&A หรือการเข้าซื้อกิจการเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักของยักษ์ใหญ่ในซิลิคอนแวลีย์ ไม่ว่าจะเป็น Google, Apple, Facebook หรือยักษ์ในธุรกิจ IT ไม่ว่าจะเป็น IBM, CISCO, Oracle หรือ SAP

ในทศวรรษที่ผ่านมา Google ได้เข้าซื้อกิจการของสตาร์ทอัพเกินกว่า 200 บริษัท Facebook ก็เช่นกันที่เข้าซื้อกิจการของสตาร์ทอัพกว่า 60 บริษัท ยังไม่รวมเทคโนโลยีที่ใช้งานกันอยู่ทุกวันนี้ เช่น Siri AI Assistant หรือ Music Streaming ที่ล้วนเป็นนวัตกรรมที่ได้มาจากนอกองค์กร และเป็นการได้มาด้วยการซื้อบริษัทอื่นและเอามาควบรวมกับธุรกิจหลัก ล่าสุดกับกระแสของ AI เราได้เห็น Google เข้าซื้อ Kaggle ซึ่งเป็นคอมมิวนิตี้ ของ Data Scientist และมีอีกหลายบริษัททางด้าน AI ที่ถูกซื้อกิจการโดย IBM และ SAP เบื้องหลังของนวัตกรรมที่เราเห็นองค์กรใหญ่ทำออกมา Disrupt บางสิ่ง จริงๆ แล้วอาจจะมาจากบริษัทเล็กๆ หรือสตาร์ทอัพนั่นเอง

ย้อนกลับมามองวงการเทคโนโลยีบ้านเรา ถึงแม้ทิศทางสตาร์ทอัพไทยจะยังไม่ก้าวไปถึงระดับที่มีสเกลที่ชัดเจนจนเป็นที่หมายตาของยักษ์ในระดับโลกและระดับภูมิภาค เราก็พอได้เห็นการลงทุนในสตาร์ทอัพสายคอนเทนต์และอีคอมเมิร์ซจากองค์กรใหญ่ข้ามชาติหลายแห่ง รวมถึงยังมีแนวโน้มการควบรวมกิจการระหว่างสตาร์ทอัพไซต์ใหญ่และเล็กเกิดขึ้นแบบประปราย โดยเฉพาะสายสื่อออนไลน์และกลุ่ม Payment Solution ภาพเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นตัวบ่งชี้อะไรบางอย่างว่าท้ายที่สุดแล้ว M&A อาจจะเป็นมากกว่าแค่ทางลัดในการสร้างการเติบโตและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน แต่มันคือทางสายหลักของการทำให้ธุรกิจอยู่รอดและเดินต่อไปได้บนโลกที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง

สตาร์ทอัพอาจตั้งคำถามว่า แล้วองค์กรใหญ่มองหาอะไร คำตอบไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียวเพราะกลยุทธ์ M&A ของแต่ละธุรกิจแตกต่างกันไป

ในมุมนักวิเคราะห์กลยุทธ์ M&A ยุคนี้มองว่ามันมีอะไรมากกว่าเรื่องของโพรดัคส์ แพลตฟอร์ม หรือมูลค่าธุรกิจ การซื้อกิจการบริษัทสตาร์ทอัพ กลายเป็นเรื่องของ People เป็นหลัก สิ่งที่ยักษ์ใหญ่หมายปองก็คือจะได้ทีม Founder ที่เก่งกาจเข้ามาอยู่ใน Portfolio เพราะทีมงานผู้ก่อตั้งคือกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ นวัตกรรมถูกสร้างขึ้นมาจากคน และหากคนในองค์กรใหญ่มีข้อจำกัดไม่สามารถสร้างนวัตกรรมที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงได้ นวัตกรรมจากข้างนอกคงเป็นทางออกที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้!