ความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง

ความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง

คนในสังคมไทยมีความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างของผู้อื่นน้อยลงไปทุกขณะ (intolerance)

การปะทะระหว่างผู้ที่มึความคิดเห็นและพฤติกรรมแตกต่างกัน ปรากฏให้เห็นในชีวิตประจำวันมากขึ้นและเกือบจะทุกมิติ หากมองให้กว้างมากขึ้น ปรากฏการณ์ความขัดแย้งในชีวิตประจำวัน เช่นนี้สะท้อนว่า สังคมไทยได้ขาดพลังของความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างเช่นเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในชีวิตผู้คน

เรากำลังเคลื่อนไปสู่สังคมที่ปั่นป่วนวุ่นวายมากขึ้น เพราะปราศจากเป้าหมายการอยู่ร่วมกันอย่างยอมรับซึ่งกันและกัน (Intolerance Society)

เมื่อก่อนนี้ เราอยู่กันอย่างไร

เมื่อสังคมไทยค่อยๆ เคลื่อนสู่ความเป็นสมัยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ปัญญาชนในสมัยนั้นได้พยายามปรับความคิดทางศาสนาให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม และได้พยายามทำให้เกิดเจตจำนงค์ในการยอมรับความแตกต่างของผู้คนที่เข้ามาร่วมกันในรัฐสมัยใหม่ ที่สำคัญ ได้แก่ การเน้นหลักคิดในศาสนาพุทธที่ว่าด้วย “ขันติและโสรัจจะ" ทั้งในแบบเรียนหรือคำสอนทั่วไป เพื่อที่จะให้คนสัมพันธ์กันอย่างราบรื่น

แต่ต่อมา “ขันติและโสรัจจะ” ได้ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องของความตั้งใจการกระทำส่วนตัวเท่านั้น ผลที่ได้รับก็เป็นเรื่องส่วนตัว/ส่วนปัจเจกบุคคลไป ไม่ได้ถูกทำให้ขยับขยายออกมาเป็นเรื่องของสังคม จนกลายเป็นเรื่องของใครทำอะไรไว้ก็รับผลนั้นเอง

จนเมื่อมาถึงวันนี้ ความคิดในเรื่อง “ขันติและโสรัจจะ” น่าจะเลือนหายไปจนหมดสิ้นในสังคมไทยแล้ว พร้อมกับความอดทนต่อผู้อื่นก็ลดลงไป

การที่เราอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างคนอื่นได้น้อยลงเกิดขึ้นจากความรู้สึกของเราว่า “มาตรฐานกลาง” ของสิ่งที่คนควรทำ/ควรรู้/ควรตระหนักนั้นถูกละเมิด ดังนั้น คนที่ละเมิดหรือข้ามเส้นที่ควรทำ/ควรรู้/ควรตระหนักก็จำเป็นจะต้องได้รับการตอบโต้

ในอีกด้านหนึ่ง ก็พบว่าคนจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่าการละเมิด “มาตรฐานกลาง” นั้นไม่ใช่เรื่องเสียหายรุนแรงอะไร เช่น คนที่ใส่ไฟท้ายสีสันที่รบกวนการขับรถคนอื่น ก็บอกว่าทำแค่นี้ทำไมถึงโดนด่ามากมาย ไม่ได้ไปฆ่าใครตายสักหน่อย หรือคนที่เอาเปรียบคนอื่นเล็กๆน้อยๆ ก็มักจะอ้างขอ “น้ำใจไทย” จากคนอื่น หากไม่ได้ดังต้องการก็จะกล่าวหาทันทีว่าไม่มีน้ำใจ

แกนกลางของปัญหานี้ คือ “มาตรฐานกลาง” ที่ควรจะยึดโยงผู้คนให้อยู่ร่วมกันนั้น กลายเป็นสิ่งที่กำกวม ไร้ความหมาย และไม่มีผลกำกับความรู้สึกของปัจเจกชนทั่วไป

คนไทยจำนวนมากจะนึกถึงการใช้ “อำนาจรัฐ” เป็นเครื่องมือในการกำกับ “มาตรฐานกลาง​“ ของการดำรงชีวิตในสังคม ซึ่งเราก็รู้อยู่เต็มอกว่าการใช้อำนาจรัฐนั้นไม่ได้ผล ทั้งจากเราเองที่จะพร้อมจะหลบเลี่ยงได้ทำตามกฎหมาย และก็รับรู้อยู่ว่ากลไกอำนาจรัฐมีความฉ้อฉลมากมาย ทำให้เรามี “ความอดทนอดกลั้น” น้อยลงในกรณีที่พบว่าอำนาจรัฐไม่รักษา “มาตรฐานกลาง” ที่ควรจะต้องธำรงไว้

“มาตรฐานกลาง” ทางสังคม ในสังคมที่เข้มแข็งจะทำให้คนไม่กล้าละเมิดสังคม และหากมีการละเมิด “มาตรฐานกลาง” ขึ้นมาบ้าง ก็จะทำให้คนสามารถอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างได้มากขึ้น เป็นสิ่งสำคัญที่สังคมไทยต้องคิดสร้างกันให้ชัดเจนในวันนี้ เพราะหากไม่มี “มาตรฐนากลาง”นี้ ความแตกต่างของคนที่เราเข้าไปสัมพันธ์ด้วยไม่ว่าทางใดจะส่งผลกระทบใจเราอย่างรวดเร็วและที่สำคัญ เราเองก็จะตอบโต้ออกไปอย่างรวดเร็วและทันที อันยิ่งทำให้ความขัดแย้งทวีสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น

“มาตรฐานกลาง” ของสังคมไทยที่ผ่านมานั้นกำกวม ไร้ความหมายและไม่มีผลกำกับความรู้สึกของผู้คน ก็เพราะว่าเป็นมาตรฐานการจัดความสัมพันธ์ทางสังคมในลักษณะไม่เท่าเทียมกัน เพราะแกนกลางของการไม่ละเมิดกันนั้นอยู่ที่การจัดลำดับชั้นของความสัมพันธ์ เป็น “ผู้ใหญ่/ผู้น้อย” ซึ่งสัมพันธ์กันอย่างรู้สถานะและบทบาทซึ่งกันและกัน

ผู้ใหญ่จะต้องมีความเมตตาต่อผู้น้อยอย่างเสมอหน้า (ไม่ใช่เสมอภาค) ขณะเดียวกัน ผู้น้อยก็ต้องเคารพผู้ใหญ่ หลีกเลี่ยงการวิพากษวิจารณ์หรือทำให้ผู้ใหญ่เสื่อมเสีย (รวมเสียหน้าด้วย) คุณลักษณะความสัมพันธ์เช่นนี้ทำให้เกิดความอดทนอดกลั้นมาได้ในช่วงเวลาที่ผานมา เพราะด้วยความเมตตาของผู้ใหญ่ ก็ทำให้ไม่ลงโทษทัณฑ์ร้ายแรงต่อผู้น้อยในกรณีการทำผิด เช่น นักศึกษาปีแก่ๆ ทำอะไรผิดก็อ้างว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็จะได้รับความเมตตา ขณะเดียวกัน หากผู้ใหญ่ทำผิดก็จะได้รับการอภัยเมื่อเทียบกับคุณงามความดีที่เคยทำมาก่อนในอดีต

แต่ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ได้ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายทางสังคมลักษณะใหม่ (New Mobilities ) ซึ่งทำให้ความหมายของ “ผู้ใหญ่/ผู้น้อย” นั้นแปรเปลี่ยนไปอย่างมากมาย

การเลื่อนชนชั้น/การไหลเลื่อนพื้นที่ทางสังคม/การเคลื่อนย้ายทางภาพลักษณ์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและกว้างขวางได้ทำให้ความสัมพันธ์แนวดิ่ง แปรเปลี่ยนเป็นแนวระนาบที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอด ทำให้ไม่มีใครตกอยู่ในสถานะผู้ใหญ่หรือผู้น้อยอย่างเดิมตลอดเวลา การจัดความสัมพันธ์ทุกมิติจึงพลวัตรอย่างรวดเร็ว

สังคมไทยอยู่ในการเคลื่อนไหว (on the move) และได้เริ่มลงหลักปักฐานของความเป็นสังคมอีกลักษณะหนึ่งที่ไม่ใช่สังคมไทยแบบที่เรารับรู้กันมา เราควรที่จะสร้าง “มาตรฐานกลาง” กันใหม่เพื่อที่จะทำให้เราทั้งหมดสามารถที่จะอดทนอดกลั้นต่อกันได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะไม่ปล่อยให้ใครเอาเปรียบสังคมอย่างมักง่ายอย่างที่ผ่านมา สังคมไทยควรจะเป็นสังคมที่เอื้ออาทรต่อกันอย่างเสมอภาคไม่ใช่เอื้ออาทรแบบผู้ใหญ่ผู้น้อย

ผมเสนอนะครับว่าหากจะเลือกหยิบมรดกไทยเดิมมาปรับใช้ ก็อยากจะให้มีการสร้าง/ให้ความหมายแก่ “ขันติและโสรัจจะ” ในเชิงสังคมให้ลึกซึ้งขึ้นครับ