วิกฤติของภาคการผลิตไม่เป็นทางการ

วิกฤติของภาคการผลิตไม่เป็นทางการ

ปัญหาเศรษฐกิจในขณะนี้คืออะไร

ในขณะที่รัฐบาลมองเห็นเศรษฐกิจดีขึ้น ตัวเลขการประมาณการทางเศรษฐกิจสูงมากขึ้น แต่ชาวบ้านร้านถิ่นทั่วไปกลับรู้สึกว่าการทำมาหากินของพวกเขาฝืดเคืองมากขึ้นกว่าเดิมมาก

พ่อค้าแม่ค้าในตลาดสดหรือผู้ค้าขายอาหารตามสั่งในที่ต่างๆ ล้วนแล้วแต่บ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าลูกค้าลดลงไปมากกว่าครึ่ง

ปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่ภาพรวมของสังคมเศรษฐกิจ หากแต่เป็นปัญหาในส่วนของภาคการผลิตไม่เป็นทางการ

การผลิตภาคไม่เป็นทางการที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาในช่วง 20 ปี กำลังเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจครั้งสำคัญ ซึ่งต้องการการปรับตัวอย่างเร่งด่วน

ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ได้แก่ การเปลี่ยนแบบแผนการบริโภคของคนในสังคม ซึ่งสัมพันธ์อยู่กับปัจจัยหลายประการด้วยกัน

ประการแรก การขยายตัวของครอบครัวเดี่ยว ได้ทำให้การทำอาหารกินกันในบ้าน/ในครอบครัวลดลงอย่างสำคัญ เพราะพบว่าหากซื้อวัตถุดิบจากตลาดมาทำอาหารกินกันในครอบครัวที่มีสมาชิกเพียง 2-3 คนกลับแพงกว่าซื้ออาหารสำเร็จรูป

ที่สำคัญ ในช่วง 10 ปีหลังนี้ คนจะไม่ทำอาหารและไม่ค่อยซื้ออาหารสำเร็จรูปแต่เปลี่ยนไปเป็นการกินอาหารนอกบ้าน จึงส่งผลโดยตรงกับการลดการจับจ่ายในตลาดสดทั่วไป

ผู้ประกอบการร้านอาหารก็ไม่ได้ซื้อวัตถุดิบผักผลไม้จากตลาด หากไปซื้อที่ตลาดกลางผักผลไม้ (ตลาดในเขตเมืองใหญ่จำนวนไม่น้อยต้องปรับตัวมาขายอาหารสำเร็จรูปหรือขายสินค้าอาหารตอบสนองการท่องเที่ยว เช่น ตลาดในเขตเมืองเชียงใหม่ปรับตัวมาขายแคบหมู เป็นต้น )

ประการที่ 2 เมื่อการกินข้าวนอกบ้านในช่วง 20 ปีหลังมานี้ได้เปลี่ยนจาก “ภาวะหรูหรามาสู่ความจำเป็น” ( From Luxury to Necessity ) ได้ทำให้การกินข้าวนอกบ้านถูกลง และมีตัวเลือกที่หลากหลายมากขึ้น

การกินข้าวนอกบ้านจึงไม่ใช่การกินตามหาบเร่แผงลอยหรือตลาดโต้รุ่งแบบเดิมอีกต่อไป แต่จะเจาะจงเฉพาะบางร้านหรือไปตามร้านบุฟเฟต์ระดับกลาง หรือกลางล่าง ส่งผลทำให้แผงลอยขายก๋วยเตี๋ยว หรือข้าวตามสั่งมีลูกค้าน้อยลง

ประการที่ 3 กระบวนการทางสังคมที่ทำให้การกินข้าวนอกบ้านเป็นเรื่องปกติของชีวิต ได้ทำให้การกินข้าวนอกบ้านไม่ใช่เพียงการแสวงหาอาหารใส่ท้องเพื่อยังชีวิตอีกต่อไป หากแต่เป็นพื้นที่การแสดงตัวตนในรูปแบบต่างๆ และตัวชี้บ่งบอกรสนิยมมากขึ้น จึงทำให้เกิดการเสาะแสวงหาที่แปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา

เมื่อก่อนอาจจะมีแค่ “ถนัดศรี” เท่านั้นที่คอยมาชี้ชวนให้ไปกินร้านแสนอร่อย แตในวันนี้ ทุกคนสามารถแสดงบทบาทนี้ได้ผ่านโซเชียลมีเดีย จึงไม่น่าแปลกใจที่ร้านอาหารจำนวนไม่น้อยพร้อมลดราคาให้ผู้เข้ามากินที่ร้าน หากเขาหรือเธอ “เช็คอิน” ร้านในเฟซบุ๊คของเขาและเธอ

ประการที่ 4 ความสามารถในการเดินทางที่ไกลมากขึ้น ด้วยการมีพาหนะต่างๆ ไม่ว่ารถจักรยานยนต์ หรือรถยนต์ ได้ทำให้ขอบเขตการแสวงหาร้านอาหารนอกบ้านที่เหมาะสมกับกระเป๋า หรือตอบสนองความอยากที่หลากหลายมากขึ้นนั้นเป็นไปได้ง่ายยิ่ง ลูกค้าขาประจำของร้านหาบเร่แผงลอยจึงลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน

แน่นอนว่าเมื่อขยายขอบเขตการกินได้กว้างขวางขึ้นก็ย่อมไม่มีใครอยากจะจำเจอยู่กับร้านขาประจำเดิม ร้านอาหารใหม่ๆ ก็กระจัดกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ และใช้พื้นที่นั้นเป็นจุดขายไปด้วย ( ที่เชียงใหม่นั้นมีร้านขายข้าวขาหมูอยู่บนเนินเขา ซึ่งแม้ว่าจะอยู่ไกลไปอีกหนึ่งอำเภอ แต่ก็มีคนขับรถไปกินเป็นอาหารกลางวัน )

ประการที่ 5 การขยายตัวของบริษัทยักษ์ใหม่ที่เข้ามาตอบสนองแบบแผนการบริโภค ด้วยการขยายร้านสะดวกซื้อออกไปทุกหัวระแหง และเน้นการขายอาหารพร้อมกินทุกรูปแบบ ทำให้กลุ่มผู้บริโภควัยรุ่นกลายเป็นลูกค้าประจำแทนที่จะเข้าร้านอาหารตามสั่งแบบคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ (น่าสนใจตรงที่วัยรุ่นผู้หญิงจะนิยมซื้ออาหารพร้อมกินจากร้านสะดวกซื้อมากกว่าวัยรุ่นผู้ชาย และวัยรุ่นผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชาย )

ความเปลี่ยนแปลงแบบแผนการบริโภคของผู้คนในสังคม ทำให้การผลิตภาคไม่เป็นทางการที่ใหญ่ที่สุด คือ อาหารการกิน ตกอยู่ในสภาวะซบเซามาก

ภาคการผลิตไม่เป็นทางการเคยเป็นพลังหล่อเลี้ยงสังคมในช่วงเวลาที่ผ่านมาเพราะมีสัดส่วนการจ้างงานถึง 60% ของกำลังแรงงานและเป็นการผลิตที่เชื่อมต่อกันในเกือบทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ดังนั้น สภาวะความหยุดนิ่งของส่วนการผลิตหนึ่งก็จะส่งผลต่อเนื่องไปสู่ส่วนอื่นๆ ของระบบการผลิตไม่เป็นทางการทั้งหมด

ภาคการผลิตไม่เป็นทางการจำเป็นที่จะต้องแสวงหาแนวทางในการปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงนี้

ผู้ประกอบการในภาคการผลิตไม่เป็นทางการ จะต้องพยายามสร้างจุดเน้นที่แตกต่างของสินค้าภาคไม่เป็นทางการทุกอย่าง อาหารก็จะต้องแปลกใหม่มากขึ้น ของกินเล่นพื้นบ้านก็จะต้องปรับแพ็คเกจให้ดูดีมีราคา ฯลฯ แม้ว่าคนที่เข้ามาสู่การปรับเปลี่ยนเช่นนี้ มักจะเป็นคนรุ่นใหม่ไม่ใช่พ่อค้าแม่ค้าเดิม เช่น เหล้าขาว “หมาใจดำ” ของเชียงใหม่ แต่วันนี้ ผู้ประกอบการทุกคนต้องคิดแล้วครับ

ขณะเดียวกัน รัฐก็จะต้องร่วมกันแสวงหาทางออกให้แก่ภาคการผลิตที่สำคัญต่อสังคมไทย

รัฐและกลไกรัฐท้องถิ่นจะต้องสร้าง “พื้นที่กลาง” ที่กระจายไปตามที่ต่างๆ ให้แก่ผู้ประกอบการทุกกลุ่มสินค้าโดยไม่คิดต้นทุน เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้เกิดการปรับตัวที่ง่ายมากขึ้น เงินงบประมาณ “ประชารัฐ” ควรต้องมาใช่ในการทำให้เกิดการลดต้นทุนคงที่ทุกด้านให้แก่ผู้ประกอบการการผลิตภาคไม่เป็นทางการนี้ ไม่ใช่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำผ่านกลุ่มทุนใหญ่แบบที่ทำกันอยู่นี้

รัฐและกลไกรัฐท้องถิ่นจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายจำกัดการขยายตัวอย่างเสรีของห้างสะดวกซื้อ (เมืองเกียวโตสามารถมีเทศบัญญัติไม่ให้ห้างใหญ่ตั้งอย่างเสรี)

รัฐและกลไกรัฐท้องถิ่นจะต้องคิดถึงกระบวนการการผลิตในท้องถิ่นให้มีการผลิตสินค้าท้องถิ่นที่มีการเชื่อมโยงไปข้างหน้าและย้อนกลับ (forward linkage and backward linkage) ให้มากและกว้างขวางที่สุด ซึ่งต้องเป็นการระดมความคิดกันจากทั้งผู้ประกอบการ คนรุ่นใหม่ และผู้รู้ด้านต่างๆ

วิกฤติที่เกิดในภาคการผลิตไม่เป็นทางการนี้ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะเป็นเรื่องที่ผูกพันอยู่กับคนไทยไม่ต่ำกว่าสิบล้านคนครับ