ชนะผลตอบแทนของ Dollar Cost Average ด้วยกลยุทธ์ Value Average

ชนะผลตอบแทนของ Dollar Cost Average ด้วยกลยุทธ์ Value Average

ชนะผลตอบแทนของ Dollar Cost Average ด้วยกลยุทธ์ Value Average

หลายๆ ท่านคงจะเคยได้ยินกลยุทธ์การลงทุนแบบหนึ่ง ที่เรียกกันว่า Dollar Cost Average ที่เป็นการลงทุนแบบสม่ำเสมอทุกเดือนไปเรื่อยๆด้วยจำนวนเงินเท่าเดิม ซึ่งกลยุทธ์นี้จัดเป็นกลยุทธ์ที่ดีมาก ตรงที่เราไม่ต้องคาดเดาตลาด ลงทุนระยะยาวไปเรื่อยๆ จะทำให้มีต้นทุนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และยังเกิดอัตราผลตอบแทนที่ดีอีกด้วย ซึ่งสำหรับในบทความนี้ผมจะขอแนะนำกลยุทธ์แบบที่มีลักษณะคล้ายๆกัน แต่ให้อัตราผลตอบแทนที่ดีกว่า ซึ่งมีชื่อเรียกว่า Value Averaging (VA)

กลยุทธ์ Value Averaging นี้คิดค้นพัฒนาโดย Dr. Michael E. Edleson อดีต Professor ของมหาวิทยาลัย Harvard ซึ่งเป็นการต่อยอดจากกลยุทธ์ Dollar Cost Average ดังนั้นจึงมีทั้งส่วนที่คล้ายกัน และแตกต่างกัน โดยส่วนที่คล้ายกันคือ เป็นการลงทุนลงอย่างสม่ำเสมอทุกๆเดือนตามวันที่ที่กำหนดเอาไว้ โดยไม่มีการคาดเดาตลาด สำหรับส่วนที่แตกต่างกันคือ ปริมาณเงินที่ลงทุนแต่ละเดือนจะไม่เท่ากัน โดยตัว Dollar Cost Average นั้นจะมีปริมาณเงินลงทุนเท่ากันตลอดทุกเดือน เช่น เดือนละ 1,000 บาทเท่ากันทุกเดือน ส่วน Value Averaging นั้นจะเน้นไปทางด้านของมูลค่าลงทุนรวมโดยจะมีการตั้งเป้ามูลค่าพอร์ตที่ต้องการแทน เช่น พยายามรักษาให้มูลค่าของพอร์ตเพิ่มทีละ 1,000 บาททุกเดือนแทน

ชนะผลตอบแทนของ Dollar Cost Average ด้วยกลยุทธ์ Value Average

จากตารางข้างบนจะเห็นว่า การลงทุนแบบ VA จะใช้เงินลงทุนแต่ละเดือนไม่เท่ากัน โดยเงินที่จะลงทุนในแต่ละเดือนจะคำนวณมาจากมูลค่าของพอร์ตที่ต้องการเพิ่ม โดยดูว่าขาดเท่าไหร่แล้วเพิ่มเข้าไป ตัวอย่างเช่น ในเดือนที่ 2 เราต้องการให้มูลค่าพอร์ตเป็น 2,000 บาท ซึ่งในเดือนแรกเงินที่เราลงทุนไปแล้ว 1,000 บาท แต่เนื่องจากหุ้นราคาตกลง ทำให้มูลค่าของเงินเดือนแรกลดน้อยลงเหลือ 950 ดังนั้นเดือนที่สอง เราจึงต้องลงทุนเป็นเงิน 2,000-950 = 1,050 บาท เป็นต้น

จะเห็นว่าในกรณีหุ้นมีราคาตกลง ปริมาณเงินที่ใช้ลงทุนในกลยุทธ์แบบ VA จะมากกว่ากลยุทธ์ DCA ส่วนในกรณีราคาหุ้นขึ้น ปริมาณเงินที่ใช้จะน้อยกว่าแบบ DCA ซึ่งการที่กลยุทธ์แบบ VA ลงทุนในช่วงราคาต่ำกว่ามากกว่าและลงทุนช่วงราคาสูงน้อยกว่าจึงทำให้ระยะยาวแล้วต้นทุนเฉลี่ยราคาหุ้นของกลยุทธ์ VA จะต่ำกว่า DCA และเมื่อราคาหุ้นได้พุ่งสูงขึ้นไป การที่กลยุทธ์ VA มีต้นทุนที่ถูกกว่าก็ย่อมที่จะสร้างอัตราผลตอบแทนได้มากกว่า DCA นั่นเอง

ที่นี้มาลองดูตัวอย่างการลงทุนจริงๆกันบ้างว่าผลจะเป็นอย่างไร โดยผมขอยกตัวอย่างการลงทุนใน TDEX (ETF ที่ล้อไปตามดัชนี SET50) เปรียบเสมือนลงทุนใน SET50 จริงๆ โดยจะใช้เวลาประมาณ 4 ปีย้อนหลัง(ระยะเวลา  1 มกราคม พ.ศ. 2557 – 1 ธันวาคม พ.ศ. 2560 และสมมติลงทุน DCA, VA ทุกวันที่ 1 ของเดือน) ซึ่งผลเป็นดังนี้ครับ

ชนะผลตอบแทนของ Dollar Cost Average ด้วยกลยุทธ์ Value Average

จากภาพข้างบนจะเห็นว่า ราคาของหุ้น TDEX ณ วันสุดท้าย(1 ธันวาคม พ.ศ. 2560) อยู่ที่ 11.21 บาทและมีต้นทุนของการลงทุนแบบ DCA อยู่ที่ 9.62 บาท แต่มีต้นทุนของการลงทุนแบบ VA อยู่ที่ 9.40 บาท ซึ่งจะเห็นว่า  กลยุทธ์ VA นั้นให้อัตราผลตอบแทนที่ดีกว่า DCA ตามที่กล่าวมาทั้งหมดนั่นเอง

สุดท้ายนี้ผมขอสรุปข้อดีข้อเสียของกลยุทธ์ Value Average นะครับ ข้อดีหลักๆของ Value Average คือให้อัตราผลตอบแทนที่ดีกว่ากลยุทธ์ Dollar Cost Average เหมาะกับคนที่ไม่ชอบคาดเดาทิศทางของตลาด มีวินัยในการลงทุน แต่ข้อเสียของวิธีนี้คือ จะมีความยุ่งยากในการคำนวณเงินที่ต้องลงทุนในแต่ละเดือนที่ไม่เท่ากัน และในบางครั้งเงินที่ต้องใช้ลงทุนอาจจะมากเกินกว่าที่รับไว้ได้ อย่างไรก็ดีหากนักลงทุนมีวินัยการลงทุนที่ดีก็สามารถเก็บสะสมเงินลงทุนที่เหลือในแต่ละเดือนในช่วงราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้น ไว้ในบัญชีกองทุน เพื่อนำมาเติมในเดือนที่ราคาหุ้นปรับตัวลง

นอกจากนี้แล้วการทำกลยุทธ์ VA ยังสามารถ Rebalance Portfolio โดยการขายทำกำไรออกมา ในช่วงที่มูลค่าพอร์ตเกินกว่าที่กำหนดไว้ จากการพุ่งขึ้นของราคาด้วย ดังนั้นจึงสามารถสะสมเงินส่วนดังกล่าวไว้เพื่อเติมในช่วงที่ราคาหุ้นปรับลงได้เช่นกัน 

ผมหวังว่านักลงทุนหลายๆท่านจะได้แนวคิดใหม่ๆในการลงทุนด้วยกลยุทธ์ Value Average ครั้งนี้นะครับ