First Mover Advantage แค่ภาพลวงตา

First Mover Advantage แค่ภาพลวงตา

ทำไมบริษัทมากมายที่เข้ามาในตลาดเป็นรายแรกๆ กลายเป็นบริษัทที่ถูกลืมไปแล้วในวันนี้

สตาร์ทอัพส่วนใหญ่มักมองว่า การเร่งพัฒนาไอเดียธุรกิจหรือเทคโนโลยีเพื่อรีบนำออกสู่ตลาด จะเป็นตัวแปรสำคัญที่สร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งขันและจะพาให้ไปถึงเป้าหมายในการสร้างมูลค่าและครอบครองตลาดก่อนคนอื่น

คำว่า “First Mover Advantage” หรือความได้เปรียบจากการเข้าสู่ตลาดก่อนคู่แข่งขันจึงมักเป็นคำพูดที่สตาร์ทอัพนำมาใช้และอ้างอิงเสมอ โดยเฉพาะในการ Pitch กับนักลงทุน ซึ่งนักลงทุนมักจะถามต่อในทันทีว่า แล้วการเข้ามาในตลาดก่อนมันทำให้มีข้อได้เปรียบอย่างไรบ้าง สตาร์ทอัพบางรายอาจจะแปลกใจกับคำถามแบบนี้เพราะเข้าใจว่าการออกสตาร์ทได้ก่อนน่าจะเป็นการนำหน้าคู่แข่งและชิงความได้เปรียบไปก่อนแล้ว แต่การแข่งขันในโลกสตาร์ทอัพทุกวันนี้ ไอเดียกับความเร็ว ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ แต่ “Execution” หรือการลงมือทำให้สำเร็จเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าย่างมีประสิทธิภาพต่างหากที่ทำให้สามารถสร้างฐานลูกค้า ก่อให้เกิดการใช้งานจริง สร้างผลตอบรับในเชิงธุรกิจจนสามารถครอบครองตลาดในแบบที่คู่แข่งรายอื่นจะเข้ามาได้ยาก

บทเรียนที่สตาร์ทอัพควรจะเรียนรู้ก็คือ ทำไมบริษัทมากมายที่เข้ามาในตลาดเป็นรายแรกๆ กลายเป็นบริษัทที่ถูกลืมไปแล้วในวันนี้ Yahoo และ Lycos คือตัวอย่างของ Search Engine รายแรกๆ ที่ต้องพบกับความล้มเหลวในการสร้างฐานผู้ใช้งานจนในที่สุดถูก Google แซงหน้าไปแบบไม่เห็นฝุ่น หรือเรื่องราวสุดคลาสสิคของ Facebook ที่เป็นผู้เล่นรายหลังแต่เข้ามาพลิกโฉมวงการโซเชียลเน็ตเวิร์คและมีเดียให้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ด้วยฟีเจอร์การใช้งานที่เข้าใจและเข้าถึงผู้ใช้ จนประสบความสำเร็จไปทั่วโลก เบื้องหลังของแต่ละความสำเร็จอยู่ที่ความสามารถของ Founder และทีมผู้ร่วมก่อตั้งที่จะสามารถขับเคลื่อน “Execution” ของแผนงานและไอเดียให้เกิดขึ้นจริงได้ “สตาร์ทอัพไม่ใช่แค่เรื่องของไอเดียและเทคโนโลยีแต่มันคือคือเรื่องของการลงมือทำล้วนๆ” สตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จหลายคนได้เคยกล่าวเอาไว้

Execution หรือการลงมือทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้นจริงได้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด สำคัญมากกว่าไอเดียหรือโมเดลธุรกิจ การทำไอเดียให้เกิดขึ้นจริงในแบบที่สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้นั้น ต้องอาศัยหลายสิ่ง แนวทางสำคัญที่ต้องคำนึงอยู่เสมอคือ 1) Customer Centric: มุ่งเป้าไปที่กลุ่มเป้าหมายมากกว่าเปรียบเทียบตัวเองกับคู่แข่ง ลูกค้าเท่านั้นคือตัวชี้วัดว่าเราตอบโจทย์ได้ดีหรือยัง การลงมือทำและพูดคุยกับลูกค้า จะทำให้สตาร์ทอัพเข้าใจความต้องการ และปรับปรุงแพลตฟอร์มหรือบริการให้ตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าได้อย่างราบรื่นและตรงใจที่สุด 2) Validate และ Validate: อย่ากังวลกับ Fast Follower หรือการลอกเลียนแบบ ในทางตรงกันข้าม หากไม่มีใครเลียนแบบเลย อาจเป็นเรื่องที่น่ากังวลกว่า ใช้เวลาเพื่อทดสอบการใช้งานจริงและวัดผลเพื่อจะเข้าใจว่าแพลตฟอร์มหรือสินค้าของเรามีสิ่งไหนที่ต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น 3) Team และ KPIs: บทบาทของทีมงานเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ ต้องกำหนดบทบาทเป้าหมายและตัวชี้วัดให้ชัดเจน ต้องติดตามความคืบหน้าของงานเพื่อเปรียบเทียบกับเป้าหมายรวมถึงสร้างแรงจูงใจให้ทีมงานมีใจเต็มที่กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ 4) Fail fast Learn Fast: การลองผิดลองถูกถือเป็นวีถีของสตาร์ทอัพ ยิ่งสามารถนำความผิดพลาดมาแก้ไขได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นตัวเร่งให้ไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้นเท่านั้น

Jack Ma ผู้ก่อตั้ง Alibaba เคยพูดไว้ว่า สตาร์ทอัพอย่าคิดเพียงแค่จะไล่ตามความฝัน เพราะความฝันต่างหากที่ไล่ล่าคนที่มีความมุ่งมั่นและพร้อมที่จะลงมือทำฝันนั้นให้กลายเป็นจริง ก่อนที่จะถามตัวเองว่าวันนี้เราวิ่งไปข้างหน้าได้ไกลกว่าคู่แข่งหรือเปล่า ให้ถามตัวเองว่าวันนี้เราพัฒนาสิ่งที่มีคุณค่าและตอบโจทย์ในชีวิตประจำวันของผู้ใช้งานได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าคำตอบคือเราสามารถทำให้วิถีชีวิตของผู้คนง่ายขึ้น สะดวกขึ้นและมีความสุขขึ้น นั่นจะเป็นบทพิสูจน์ของการที่จะทำให้เราอยู่เหนือการแข่งขันและยากที่ใครจะวิ่งไล่ตามได้ทัน