โรงกลั่นสตาร์เมื่อไร้ปตท. ไม่กระทบธุรกิจและหุ้น

โรงกลั่นสตาร์เมื่อไร้ปตท. ไม่กระทบธุรกิจและหุ้น

พิธีกร Stock Gossip by Money Wise ติดตาม live จ-ศ 13.30-14.00 น.

หลังการขายหุ้นทั้งหมดที่ บริษัท ปตท . จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ถือใน บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด หรือ SPRC จำนวน 234 ล้านหุ้น หรือ 5.41 % ทำให้ปตท. ได้รับเงินก้อนใหญ่ไปถึง 3,700 ล้านบาท และลดกระแสการผูกขาดธุรกิจกลุ่มพลังงานไปได้ด้วย

การขายหุ้นออกมาในครั้งนี้เมื่อหันมาดูทาง สตาร์ ปิโตรเลียม ฯ จะเจอผลกระทบอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะผลกระกอบการ เพราะปัจจุบัน ปตท. เป็นคู่ค้าสำคัญในการดำเนินธุรกิจให้กับทางบริษัท

จากการดำเนินธุรกิจหลักคือโรงกลั่นเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ไม่ว่าจะเป็น ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วเกรดพิเศษและเกรดธรรมดา เป็นต้น รวมไปถึงโพรพลีนเกรดโพลิเมอร์ แนฟทาเกรดปิโตรเคมี ฯ ซึ่งมีกำลังการกลั่นอยู่ที่ 165,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งคิดเป็น 13.4 % ของกำลังการกลั่นน้ำมันดิบของประเทศ ที่ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ด้วยการนำเข้าน้ำมันดิบเพื่อทำการกลั่น ก่อนจะกลายมาเป็นน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ซึ่งในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทั้ง เชฟรอนฯ และ ปตท. ต่างเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทได้ทั้งสิ้น เนื่องจากเป็นผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ด้วยทั้งคู่สามารถจัดหาแหล่งวัตถุดิบป้อนให้กับบริษัท แต่ปตท. จะได้เปรียบในเรื่องของสายส่งที่มีเครือข่ายมากกว่าและครอบคลุมได้ทั่วประเทศ

ขณะเดียวกันกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทก็ยังเป็น เชฟรอนฯมากที่สุด 53-54 % ปตท. 30-31 % และรายอื่นๆ อีก 16 % โดยมีคู่แข่งในอุตสาหกรรมที่สำคัญถึง 5 โรงกลั่น ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นบริษัทลูกในกลุ่มปตท. แทบทั้งสิ้น เช่น บริษัท ไทยออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP บริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เป็นต้น

ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่าบริษัทต้องพึ่งพาธุรกิจปตท. เป็นหลักแต่ก็ต้องแข่งขันไปพร้อมกัน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการยืนยันจากผู้บริหารทางบริษัทว่าแม้ปตท . จะมีการขายหุ้นออกไปทั้งหมดแต่ความสัมพันธ์ทางการค้าสำหรับการซื้อผลิตภัณฑ์และการจัดหาวัตถุดิบยังคงมีอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจแต่อย่างใด

นอกจากประเด็นการพึ่งพิงกลุ่มปตท. อย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้แล้ว บริษัทยังมีปัจจัยด้านราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีผลต่อการดำเนินงานเช่นเดียวกัน ซึ่งตามผลประกอบการ 9 เดือน ปี 2560 ที่ประกาศมาล่าสุด บริษัทมีรายได้ 3,639 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 16.29 % จากปีก่อน โดยมีกำไร 183 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 10 % จากปีก่อน

โดยมีผลจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวบวกขึ้นท้ายไตรมาส 3 ทำให้รับรู้กำไรจากสต็อกน้ำมันเข้ามา บวกกับการแข็งค่าของเงินบาททำให้บริษัทในฐานะนำเข้าสินค้าได้กำไรจากค่าเงินไปด้วย จึงทำให้กำไรในช่วงดังกล่าวปรับตัวขึ้นมาดีขึ้นชัดเจนจากช่วงไตรมาส 2 ยังรับรู้ขาดทุนสต็อกน้ำมัน 726 ล้านบาท

ด้านค่าการกลั่นถือว่าเป็นปัจจัยมีผลต่อธุรกิจเป็นหลัก ซึ่งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาบริษัทสามารถบริหารค่าการกลั่นตลาดของบริษัทได้สูงกว่าค่าการกลั่นในตลาดโลก ซึ่งจะเห็นได้ว่ายิ่งในไตรมาส 3 ค่าการกลั่นตลาดของบริษัท อยู่ที่ 8.91 เหรียญต่อบาเรล เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ถึง 30 %

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ มองว่าบริษัทแทบจะไม่ได้รับผลกระทบจากการขายหุ้นออกมาของ ปตท. แม้อาจจะมีการรับซื้อสินค้าตามสัดส่วนที่น้อยลง แต่ปริมาณที่ขายให้กับเชฟ รอนฯ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ก็จะยังรับซื้อในสัดส่วนที่สูงขึ้น 60-65 % จากช่องทางการขายน้ำมันค้าปลีกของปั๊ม คาลเท็กซ์

ดังนั้นการขายหุ้นออกในครั้งนี้ของปตท . จึงไม่ได้เป็นการบ่งบอกว่าหุ้น SPRC เต็มมูลค่าแล้ว ซึ่งหากย้อนไปในอดีต ปตท. เลยขายหุ้นใน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ในปี 2558 ที่ 36 บาทต่อหุ้น ซึ่งหลังจากนั้นราคาหุ้น BCP ปรับขึ้นสูงสุดที่ 44.50 บาท จึงมองราคาหุ้น SPRC ที่เหมาะสม 19.40 บาท

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ประเมินแนวโน้มผลประกอบการปกติ (ไม่รวมรายการพิเศษและผลจากสต็อก)ไตรมาส 4 ปี 2560 คาดจะอ่อนตัวลงตามค่าการกลั่น อยู่ที่ 7.4 เหรียญต่อบาเรล ซึ่งมองว่าแนวโน้มค่าการกลั่นได้ผ่านจุดสูงสุดในปีนี้ไปแล้ว

รวมถึงการหยุดเดินเครื่องหน่วยแตกโมเลกุล (RFCCU) นอกแผนเป็นระยะเวลา 20 วัน ซึ่งมีผลต่อค่าการกลั่นมีแนวโน้มชะลอลงแรงกว่ากลุ่ม ซึ่งคาดว่ากำไรในปีนี้อยู่ที่ 7,975 ล้านบาท ลดลง 8.2 % จากปีก่อน จึงมองราคาเป้าหมายในปี 2561 ที่ 17.10 บาท