อารมณ์ขัน กับ บรรยากาศแห่งความกลัว

อารมณ์ขัน กับ บรรยากาศแห่งความกลัว

นสังคมอำนาจนิยมที่การปิดกั้นความคิดและการแสดงออกอันไม่ลงรอยกับผู้ครองอำนาจได้กลายมาเป็นบรรทัดฐานใหม่

ช่องทางหนึ่งในการหลบเลี่ยงการควบคุมและแสดงจุดยืนทางอุดมการณ์อยู่ในรูปของการใช้อารมณ์ขัน

อารมณ์ขัน กับ บรรยากาศแห่งความกลัว

ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย นักเขียนการ์ตูนทางการเมืองที่รู้จักกันดีในนามของ ซูนาร์ (Zunar) ซึ่งกำลังถูกฟ้องดำเนินคดีหมิ่นประมาทจากนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัคของมาเลเซียได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า

เสียงหัวเราะเป็นการประท้วงชั้นเลิศและทรงพลังที่สุด

นอกจากจะถูกนายกรัฐมนตรีฟ้องในคดีหมิ่นประมาทจากการ์ตูนเสียดสีเรื่องที่นายนาจิบถูกกล่าวหาว่าทุจริตเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจมาเลเซียระยะยาวแล้ว ซูนาร์ยังถูกฟ้องในคดีปลุกระดมให้ต่อต้านรัฐบาล (Sedition Act) ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษรุนแรงมากในมาเลเซีย โดยเป็นกฏหมายโบราณตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491ที่มาเลเซียยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และอังกฤษใช้เพื่อปิดปากผู้ที่ปลุกระดมให้เกิดการกระด้างกระเดื่องต่อผู้ครองอาณานิคม

แม้จะถูกจับกุมมาแล้ว 4 ครั้ง ถูกฟ้องในคดีปลุกระดมถึง 9 กระทง แถมด้วยคดีหมิ่นประมาท และยังถูกห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ซูนาร์ก็ยังคงสื่อสารทางการเมืองผ่านการ์ตูนของเขาซึ่งเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งเว็บไซต์และเฟซบุ๊ก ต่อไปอย่างไม่ลดละ

ท่ามกลางสื่อกระแสหลักของมาเลเซียที่มักจะชื่นชมรัฐบาล หรือเน้นข่าวประชาสัมพันธ์มากกว่าข่าววิเคราะห์เจาะลึกหรือการแสดงทัศนะในเชิงวิพากษ์ ซูนาร์กลับสวนกระแสด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจในรัฐบาลอย่างเผ็ดร้อนผ่านภาพเขียนล้อเลียน การประชดประชัน เสียดสี โดยมักจะพุ่งเป้าไปที่การคอร์รัปชั่นในแวดวงรัฐบาลมาเลเซีย

อารมณ์ขัน กับ บรรยากาศแห่งความกลัว

ในหน้าเฟซบุ๊คแฟนเพจของเขา ซูนาร์มีผู้ติดตามมากว่า 140,000 คน นอกจากจะใช้สื่อออนไลน์เพื่อเผยแพร่เนื้อหาที่ต้องห้ามทางการเมืองแล้ว ซูนาร์ยังใช้แพลทฟอร์มดังกล่าวในการหารายได้เพื่อระดมทุนเป็นค่าใช้จ่ายในการต่อสู้ในศาลของเขา ผู้สนใจสามารถบริจาคเพื่อสนับสนุนเขาหรือซื้อสินค้าที่นำเสนอภาพการ์ตูนฝีมือของเขาก็ได้

ในการให้สัมภาษณ์ของเขากับหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์เมื่อปีกลาย ซูนาร์ให้เครดิตกับความเปิดกว้าง และลักษณะอันเป็นเครือข่ายข้ามโลกของอินเทอร์เน็ตและชี้ว่า เป็นการเปิดมิติใหม่ทางการสื่อสารที่ส่งตรงถึงผู้รับที่สนใจโดยไม่ต้องอาศัยสื่อกลาง โดยทำได้ในหลากรูปแบบทั้งตัวหนังสือ ภาพ เสียงและวีดิโอ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ที่เปิดให้ผู้ใช้สามารถมีส่วนร่วมทั้งในแง่การแสดงความคิดเห็น หรือแม้แต่การผลิตเนื้อหา

ซูนาร์บอกด้วยว่า พรสวรรค์(ในการวาดการ์ตูน)ของเขา ทำให้เค้ามีภาระรับผิดชอบที่จะต้องแสดงจุดยืนเพื่อสร้างการรับรู้ถึงความไม่ชอบมาพากลใดๆหรือความอยุติธรรมทางสังคม และสิ่งที่เขากลัวมากที่สุดไม่ใช่การถูกจองจำหรือลงโทษแต่เป็นการเซ็นเซอร์ตัวเองที่จะทำให้สังคมมืดมิดและตีบดันเพราะเท่ากับผู้ครองอำนาจได้ครอบงำความคิดของประชาชนอย่างสมบูรณ์แล้ว

ย้อนกลับมาดูในกรณีของสังคมไทยที่คณะผู้ปกครองจากการรัฐประหารได้ใช้ทั้งกฎหมายเดิม กฎหมายพิเศษ และกฎหมายใหม่ในการควบคุมทางการสื่อสารในช่องทางต่างๆมากกว่า 3 ปีมาแล้ว แนวโน้มหนึ่งที่สังเกตเห็นได้คือ การพยายามควบคุมเนื้อหาในพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ นอกจากการปิดกั้นและกลั่นกรองเนื้อหาแล้ว ทั้งพรบ.คอมพิวเตอร์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาอีกหลายตัวได้ถูกนำมาบังคับใช้กับผู้สร้างและเผยแพร่เนื้อหาที่ผิดกฏหมายด้วยโทษที่สูงกว่าเดิม นำไปสู่บรรยากาศแห่งความกลัวที่ผู้ใช้ออนไลน์ต้องระมัดระวังและไม่สามารถใช้เสรีภาพในการแสดงออกได้เท่ากับก่อนรัฐประหาร

อย่างไรก็ดี ในแง่ของการใช้อารมณ์ขันโดยเฉพาะในรูปของการ์ตูนล้อเลียนเสียดสีทางการเมือง มีปรากฎการณ์ที่น่าสนใจหนึ่งในการ์ตูนบนเพจในเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “ไข่แมว” แม้จะเปิดเพจมาเพียงปีเศษๆแต่สามารถดึงดูดผู้ติดตามได้มากกว่า 100,000 คนภายในเวลาไม่ถึงสองเดือน ปัจจุบันเพจไข่แมวมีผู้ติดตามมากกว่า 370,000 คน ซึ่งมากกว่าผู้ติดตามเพจของซูนาร์เสียอีก

การ์ตูนในเพจ ไข่แมวเป็นการ์ตูนเงียบแบบ4 ช่อง ไม่มีคำพูดหรือบัลลูนความคิดที่มักจะเห็นกันในการ์ตูนทั่วไป แต่จะสร้างมุกและสื่อสารผ่านตัวละครที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์หรือตัวแทนของกลุ่มหรือขั้วอำนาจทางการเมือง หรือผ่านการปฎิสัมพันธ์ของตัวละคร โดยอาจมีป้ายที่บรรยายถึงบริบทของเหตุการณ์อยู่ในพื้นหลัง ส่วนใหญ่จะเป็นเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวในแวดวงทางการเมือง และบางครั้งการสื่อสารแบบเสียดสีจะอาศัยมุกจากการ์ตูนญี่ปุ่นที่เป็นที่รู้จักกันดีอย่าง ดราก้อนบอล มาเสริมด้วย

ตัวอย่างตัวละครที่มักปรากฎบ่อยก็เช่น นายทหารที่ใส่ชุดเครื่องแบบและมีหนวดเล็กๆละม้ายคล้ายผู้นำของเยอรมนีในอดีตคือ อดอลฟ์ ฮิตเลอร์ ซึ่งเข้าใจกันในหมู่คนติดตามเพจว่าน่าจะหมายถึงนายกรัฐมนตรีหรือหัวหน้าคสช.คือ พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา โดยเป็นตัวแทนของรัฐบาลทหาร หรืออีกตัวละครคือ ผู้หญิงผมยาวที่มีก้านตาเหมือนปู และมีมือเป็นก้ามปูซึ่งเข้าใจได้ว่าน่าจะหมายถึง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยเป็นตัวแทนของกลุ่มการเมืองขั้วตรงข้ามกับรัฐบาลทหาร หรือตัวละครผู้ชายวัยกลางคนค่อนข้างท้วมใส่เสื้อฮาวายซึ่งเข้าใจได้ว่าคือ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงศ์สุวรรณ เป็นต้น

ตัวอย่างการ์ตูนจากหน้าเพจไข่แมว ภายหลังเหตุการณ์ที่นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรหลบหนีไปไม่มาฟังคำพิพากษาที่ศาล

เจ้าของเพจไข่แมวไม่เปิดเผยตัวต่อสาธารณะ แต่เคยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ประชาไทแบบไม่แสดงตัวตนว่า การทำเพจการ์ตูนไข่แมวเป็นเหมือนการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองก็จริง แต่การสื่อสารด้วยการ์ตูนทำให้ดูไม่รุนแรงเท่าการใช้ภาษาพิมพ์ และยังมีความน่าสนใจมากกว่าตัวหนังสือ

ในการออกแบบให้การ์ตูนเป็นการ์ตูนเงียบ เจ้าของเพจอธิบายว่าเพราะทุกคนในสังคมไทยมีความคิดและความเชื่อทางการเมืองไปในรูปแบบและทิศทางที่ชัดเจน และน่าจะนำเอาต้นทุนนั้นมาใช้ในการตีความและอ่านการ์ตูน เขาจึงไม่อยากชี้นำหรือผูกมัดผู้เสพการ์ตูนไปในทางใดทางหนึ่ง เพราะเชื่อว่าการตีความที่เป็นอิสระจะสะท้อนให้เห็นธงในใจของแต่ละคน ซึ่งฝังรากไปแล้ว

บ่อยครั้งที่คนอ่านอาจจะไม่ “get” (เข้าใจหรือเข้าถึง) มุกของการล้อเลียนเสียดสีในเพจ ซึ่งผู้วาดและเจ้าของเพจมองว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้อ่านไปค้นคว้าหรือสอบถามเพื่อหาข้อมูลเพิ่ม ก็นับเป็นการทำให้เกิดความตื่นตัวทางการเมืองเพิ่มขึ้นมาได้นอกจากนี้ เจ้าของเพจไข่แมวยังบอกผ่านเว็บไซต์ประชาไทด้วยว่า เพจของเขาอาจเป็นเสมือนตัวแทนของความคิดทางการเมือง ในสถานการณ์แห่งความกลัวที่คนไม่กล้าพูด เพราะสุ่มเสี่ยงก็สามารถเลือกที่จะแชร์เนื้อหาจากเพจไปได้ เพราะปลอดภัยกว่า

อย่างไรก็ดี เมื่อผู้เขียนได้นำเรื่องของเพจไข่แมวมาพูดคุยกับนิสิตระดับปริญญาโทในชั้นเรียน ปรากฏว่ากว่าครึ่งไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่พอรู้จักแล้วก็สนใจและอาจจจะกดติดตาม แต่พอถามว่าแล้วจะกดไลค์หรือแชร์มาที่หน้าเพจส่วนตัวของตนหรือไม่ มีนิสิตน้อยกว่าหนึ่งส่วนสี่ของห้องที่บอกว่าจะทำเช่นนั้น ด้วยเหตุผลคือ “กลัว”

บางทีการต่อรองกับบรรยากาศแห่งความกลัวอาจจะต้องใช้มากกว่าการ์ตูนเสียดสีและการใช้สัญลักษณ์เสียกระมัง