Fintech กับการเปลี่ยนโฉมธุรกิจการเงิน

Fintech กับการเปลี่ยนโฉมธุรกิจการเงิน

Fintech กับการเปลี่ยนโฉมธุรกิจการเงิน

พัฒนาการของเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน เช่น อินเตอร์เน็ต นาโนเทคโนโลยี หรือพลังงานทางเลือก ต่างช่วยให้การดำเนินชีวิตประจำวันของเราทุกคนสะดวกสบายขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบ (Disruption) ต่อการทำธุรกิจให้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งนับเป็นความท้าทายที่ธุรกิจหลายๆ แห่งต้องมีการปรับตัวเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจภายใต้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปได้ ซึ่งหากธุรกิจไม่สามารถปรับตัวได้ อาจส่งผลให้ต้องออกจากธุรกิจในที่สุด ดังเช่นกรณีของ บริษัท Kodak ที่เป็นผู้ที่ริเริ่มคิดค้นพัฒนา Digital Camera ได้เป็นบริษัทแรกของโลก แต่ยังคงยึดติดกับความสำเร็จของธุรกิจการถ่ายรูปแบบ Film ทำให้ไม่มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับพัฒนาการด้านดิจิตอล จนในที่สุดบริษัท Kodak ต้องล้มละลายในปี 2012 จากภาระขาดทุน

ในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงที่อาจทำให้เกิดผลกระทบอย่างมาก หรือ Disruption ในอุตสาหกรรมการเงิน คือ การเข้ามาของ Fintech (Financial Technology) ซึ่งก็คือการนำเอา Technology ใหม่ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ ให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นกับหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีนและอินเดีย จากข้อมูลของบริษัท Ernst & Young (EY) ซึ่งได้จัดทำ EY Fintech Adoption Index ผ่านการสำรวจความเห็นผู้บริโภค 22,000 รายจาก 20 ประเทศทั่วโลก พบว่ามีจำนวนผู้ใช้บริการ Fintech ในสัดส่วนเฉลี่ยสูงถึง 1 ใน 3 คิดเป็นการเติบโตของผู้ใช้ Fintech ถึง 2 เท่าภายในระยะเวลาเพียง 18 เดือน (16% ในปี 2015) และคาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ประเทศจีนและอินเดียมีสัดส่วนผู้ที่ใช้งาน Fintech สูงถึง 69% และ 52% ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้บริการในรูปแบบการโอนเงิน/ชำระเงิน การซื้อผลิตภัณฑ์ประกัน และการออมการลงทุน

ในส่วนสถิติของประชากรผู้ใช้บริการ Fintech นั้น จากการสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 45 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม Millennial หรือ Gen Me ที่เกิดปีระหว่าง 1980 - 2000 ซึ่งเป็นช่วงที่เทคโนโลยีได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว นอกจากนี้ พฤติกรรมการทำธุรกรรมทางการเงินปัจจุบัน ก็มีแนวโน้มอยู่ในรูปแบบของดิตอลหรือออนไลน์มากกว่าการทำธุรกรรมแบบเดิมที่ต้องไปทำธุรกรรมแบบ Face-to-Face โดยผู้ใช้บริการนิยมที่จะอาศัยเทคโนโลยีทำธุรกรรมด้วยตนเองมากขึ้นทั้งการค้นหาข้อมูลและการทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งแนวโน้มการพึ่งพาตนเองมากขึ้นนี้ ทำให้เกิดการพัฒนาบริการใหม่ๆทางออนไลน์ที่ทำให้ผู้ใช้งาน ทำได้สะดวก รวดเร็ว รวมทั้งยังมีการพัฒนารูปแบบเพื่อให้เป็น Personalize และสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บริการแต่ละคนมากขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้งานมี User Experience ที่ดี และเพิ่มคุณค่าให้กับบริการออนไลน์ของบริษัท และอาจกล่าวได้ว่าในอนาคต การดำเนินธุรกิจที่จะประสบความเร็จได้จะต้องให้ความสำคัญกับ “ผู้ใช้บริการ” หรือ “Customer Centric” มากขึ้นกว่าในอดีต

จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้ภาคธุรกิจการเงิน เช่น ธนาคาร ธุรกิจประกัน บริษัทหลักทรัพย์ ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้เตรียมการรับมือโดยอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ และสร้างบริการลูกค้าแบบใหม่ๆ เช่น ธนาคาร USAA ในประเทศสหรัฐฯ ที่มีธุรกิจหลักในการปล่อยสินเชื่อและขายประกันรถยนต์ ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจของตนมาเป็น One Stop Service ผ่านการพัฒนา Platform Online “Auto Circle” ที่สามารถสร้าง Customer Experience ให้แก่ลูกค้าในการเลือกซื้อรถยนต์อย่างครบวงจร ตั้งแต่การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับรถยนต์เพื่อให้ลูกค้าสามารถเปรียบเทียบรถยนต์รุ่นต่างๆ และเสนอรถยนต์จาก Dealer หลายแห่งเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้า โดยเสนอสินเชื่อและสินค้าประกันจากหลายบริษัทควบคู่กันไป ซึ่งบริษัท USAA ไม่ได้จำกัดที่จะเสนอเฉพาะผลิตภัณฑ์ของตนเองแก่ลูกค้า แต่เปิดโอกาสให้ลูกค้านำผลิตภัณฑ์จากหลายแห่งมาเปรียบเทียบกันได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ลูกค้านิยมใช้ Platform Online ของ USAA เป็นอย่างมาก และช่วยให้ธนาคาร USAA สามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดมาเป็น 40% และขยายฐานลูกค้าได้ถึง 2 เท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

สำหรับประเทศไทยนั้น จะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมา มีการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน โดยในปัจจุบัน ได้มีการให้บริการ Digital Platform ที่สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้บริการแบบ One Stop Service ได้ โดยรวมรวมผลิตภัณฑ์ทางการเงินของผู้ให้บริการหลายรายมาอยู่ภายใต้ Platform เดียวกันและเปิดให้ผู้ใช้บริการสามารถทำธุรกรรมต่างๆ ได้แบบ Online เช่น การที่บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน จัดทำ Platform เพื่อเสนอขายกองทุนรวมของบริษัทต่างๆ ให้แก่ผู้ใช้บริการ (รูปแบบธุรกิจ LBDU: Limited Broker, Dealer, and Underwriter) รวมทั้งยังให้ข้อมูลเปรียบเทียบและคำแนะนำการเลือกผลิตภัณฑ์ได้ ในการทำธุรกรรมได้ในที่เดียว

จากที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนั้น เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการปรับตัวภายใต้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจในปัจจุบัน ซึ่งในอนาคตนั้น เชื่อว่าจะมีการนำเทคโนโลยีอื่นๆ เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของภาคการเงินอีกมากในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น Digital ID การใช้เทคโนโลยี Biometric หรือการใช้ AI (Artificial Intelligent) ซึ่งแนวโน้มเหล่านี้ จะทำให้ทั้งธุรกิจต้องมีการลงทุนและปรับเปลี่ยนเพื่อใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส ทั้งในแง่ของระบบงาน การจัดเก็บข้อมูลเพื่อทำการตลาดดิจิตอลและตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ รวมทั้งบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมการเงินอีกด้วย โดยการปรับเปลี่ยนทั้งหมดนี้ จะเป็นไปได้ จำเป็นต้องอาศัยการที่มีกฏหมายและข้อกำหนดที่จะรองรับ ซึ่งในขณะนี้ทางการกำลังอยู่ระหว่างออกและปรับเปลี่ยนกฏเกณฑ์ในด้านนี้อยู่

ในฐานะผู้ลงทุนนั้น เราจึงควรที่จะต้องปรับตัวและเรียนรู้เทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้การลงทุนของเรานั้นเป็นเรื่องง่ายและทันกับสถานการณ์ หากผู้อ่านสนใจจะอัพเดทข้อมูลด้านเทคโนโลยีสำหรับการเงินการลงทุนแล้ว ขอแนะนำให้ลองแวะไปในงาน SET in The City 2017 ระหว่างวันที่ 16-19 พฤศจิกายนนี้ ที่สยามพารากอน ซึ่งรวมเอานวัตกรรมการลงทุนใหม่ๆ มาให้เรียนรู้และทดลองกัน