Crowdfunding เส้นทางสตาร์ทอัพ(มหาชน)?

Crowdfunding เส้นทางสตาร์ทอัพ(มหาชน)?

จุดแตกต่างของสตาร์ทอัพไทยกับสตาร์ทอัพในต่างประเทศในวันนี้คงอยู่ที่กลไกของตลาดทุน

เมื่อการระดมทุนในการสร้างธุรกิจกลายเป็นความหนักใจของสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ๆ ที่เพิ่งเริ่มเข้ามาในเส้นทางธุรกิจ มักอยู่ในสภาวะมืดแปดด้านเพราะยังไม่มีใครรู้จัก ไม่มีคอนเนคชั่น และที่สำคัญยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะหานักลงทุนที่เรียกว่า Angel Investor ซึ่งคือนักลงทุนที่มักจะลงทุนในสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้นได้จากที่ไหน 

ทางออกที่สตาร์ทอัพไทยทำได้ในวันนี้คือการเดินสายแข่งขันตามโครงการบ่มเพาะต่างๆ เพื่อล่าเงินรางวัลไปใช้เป็นทุนตั้งต้น บางคนจำต้องว่ายเวียนไปหลายเวทีเพราะไม่รู้ว่าจะหาทุนมาทำไอเดียที่มีอยู่ให้เป็นจริงได้อย่างไร 

สำหรับสตาร์ทอัพหน้าใหม่ เงินทุนตั้งต้นจาก VC หรือบริษัทร่วมทุนแทบจะลืมไปได้เลยเพราะ VC ส่วนใหญ่มักเลือกลงทุนกับสตาร์ทอัพที่มี Traction คือเริ่มมีลูกค้าบ้างแล้วและเริ่มก้าวสู่ช่วงเวลาของการเติบโต

จุดแตกต่างของสตาร์ทอัพไทยกับสตาร์ทอัพในต่างประเทศในวันนี้ คงอยู่ที่กลไกของตลาดทุนในการสนับสนุนให้สตาร์ทอัพหรือผู้ประกอบการรุ่นใหม่มีโอกาสในการแสวงหาเงินทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระดมทุนจากมวลชนหรือที่เรียกกันว่า Crowdfunding ซึ่งคือการระดมทุนผ่านแพลตฟอร์มระดมทุนออนไลน์ ที่เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดกรองจากเจ้าของแพลตฟอร์มสามารถนำเสนอไอเดียของสินค้าหรือบริการบนพื้นที่ของแพลตฟอร์มเพื่อให้นักลงทุนหรือกลุ่มทุนที่ได้รับสิทธิ (Accredited Investors) สามารถร่วมลงทุนได้เพื่อแลกกับสัดส่วนการถือหุ้นหรืออื่นๆ ตามที่กำหนด 

ตลาด Crowdfunding ในโลกมีอัตราการเติบโตสูงแบบก้าวกระโดด จากผลการสำรวจของ World Bank คาดว่ามูลค่าตลาดการระดมทุนผ่าน Crowdfunding ในโลกจะเติบโตจากหมื่นล้านเหรียญสหรัฐไปแตะเก้าหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2025

Crowdfunding ยังสามารถใช้เป็นเส้นทางลัดที่พิสูจน์ว่าสตาร์ทอัพรายใดมีแนวโน้มที่จะได้ “เกิด” หรือได้รับความนิยม เพราะหากระดมทุนจากมวลชนได้ตามเป้าหมาย ก็สะท้อนถึงความต้องการในตลาดสำหรับสินค้าหรือบริการนั้น ในต่างประเทศมีสตาร์ทอัพหลายบริษัทใช้เส้นทางการระดมทุนผ่าน Crowdfunding เป็นใบเบิกทางให้ VC รายใหญ่ และ องค์กรใหญ่หันมามองและตัดสินใจร่วมลงทุนด้วยในระยะถัดไป หรือที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือถูกซื้อกิจการจากองค์กรใหญ่ในมูลค่าบริษัทที่สูงลิ่วเมื่อเทียบกับวันที่เริ่มต้น

ยกตัวอย่าง Oculus Rift แว่นตา VR ที่ถูกซื้อกิจการไปโดย Facebook ในราคาสองพันล้านเหรียญฯ และ Anova อุปกรณ์ App-based Precision Cooking ที่เพิ่งถูกยักษ์ใหญ่ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนอย่าง Electrolux ซื้อไปในมูลค่าหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อไม่นานมานี้ ล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจากแพล็ตฟอร์ม Crowdfunding

ย้อนกลับมามองตลาดบ้านเรา ในขณะที่คนในวงการสตาร์ทอัพกำลังเฝ้ารอการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของแพลตฟอร์มระดมทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพของตลาดหลักทรัพย์ที่น่าจะเกิดขึ้นภายในปีนี้ รวมไปถึงการเปิดโอกาสให้ผู้เล่นรายอื่นๆเข้ามาให้บริการแพลตฟอร์มระดมทุนได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นมิติใหม่ที่จะทำให้ตลาดสตาร์ทอัพในเมืองไทยไม่ติดอยู่ในกรอบแคบๆ และเป็นการช่วยแก้ Pain point ของการหาเงินทุนตั้งต้นให้กับสตาร์ทอัพหน้าใหม่ที่กำลังจะเข้ามาเริ่มทำธุรกิจ 

แต่อย่างไรก็ดีสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องมีก็คือ กระบวนการระดมทุนบนแพลตฟอร์มจะต้องมีการสื่อสารให้ข้อมูลที่เป็นจริงและโปร่งใส ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสตาร์ทอัพ “ตัวจริง” ที่ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนจนสามารถไต่เต้าเติบโตไปเป็นสตาร์ทอัพ “มหาชน” ได้ในอนาคต