ธุรกิจไต้หวันตื่นตัวสุดๆ BCorp ผสานธุรกิจเปลี่ยนแปลงสังคม

ธุรกิจไต้หวันตื่นตัวสุดๆ BCorp ผสานธุรกิจเปลี่ยนแปลงสังคม

เมื่อเร็วๆนี้มีโอกาสร่วมการประชุมประจำปี ของเครือข่ายธุรกิจสร้างคุณประโยชน์สังคมแห่งเอเชีย Asia Pacific B Corp Association หรือ Bcorp เอเชีย

ที่เมือง ไท่จง ไต้หวัน พบความตื่นตัวของภาครัฐ ธุรกิจ ภาคการศึกษา คนรุ่นใหม่ ของไต้หวัน ในการขับเคลื่อนให้ธุรกิจได้มีส่วนร่วมกันสร้างคุณประโยชน์ให้สังคมมากขึ้น

สำหรับ BCorp มีความหมายว่า ธุรกิจสร้างคุณประโยชน์สังคมหรือ (Benefit Corporation) ส่งเสริมให้ธุรกิจได้สะท้อนมาตรฐานที่ดีในการบริหารธุรกิจ ที่สะท้อนการสร้างคุณประโยชน์ในมิติสังคม 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ ธรรมาภิบาล พนักงาน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม โดยธุรกิจที่สามารถเข้าร่วมขับเคลื่อนได้นั้น สามารถเป็นได้ทั้งบริษัทข้ามชาติ บริษัทจดทะเบียนมหาชน SME ขนาดใหญ่มากไปจนถึงขนาดเล็ก วิสาหกิจเพื่อสังคม สหกรณ์ และรวมถึงรัฐวิสาหกิจซึ่งมีกระบวนการดำเนินงานขององค์กรและการบริหารจัดการแบบธุรกิจ ปัจจุบันในประเทศไทย วิสาหกิจเพื่อสังคมไนส์คอร์ปได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ก่อตั้งการขับเคลื่อน BCorp ในประเทศไทย มีการทำงานเชื่อมโยงกับทาง BCorpเอเชีย ที่ไต้หวัน และ BCorpโลก

จากเวทีประชุมประจำปี BCorp เอเชีย ที่เมืองไท่จง ไต้หวัน ซึ่งนายกเทศมนตรีของเมือง ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ พบความน่าสนใจหลายประการ โดยเฉพาะความร่วมมือร่วมใจ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของภาครัฐ และภาคธุรกิจ รวมถึงสื่อสารมวลชน และคนรุ่นใหม่ ซึ่งคุณสกุลทิพย์ ​กีรติพันธวงศ์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการวิสาหกิจเพื่อสังคมไนส์คอร์ป มองว่า เป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ และจะต้องเร่งให้ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของมาตรฐานและเครือข่ายบีคอร์ปในประเทศไทย “วันนี้ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งคือผู้บริโภคหรือพลังของผู้บริโภค BCorp ก็จะเป็นอีกอันหนึ่งที่จะเป็นตัวสื่อสารให้กับผู้บริโภคเข้าใจถึงการดำเนินงานของธุรกิจที่ดี และผู้บริโภคก็เป็นคนเลือกหรือเป็นผู้ที่ทำให้เกิดสังคมของผู้ผลิตสินค้าที่ดีขึ้นมา

ด้านคุณวรวัฒน์ ศรียุกต์ ผู้อำนวยการด้านบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด (มหาชน) สะท้อนว่าในประเทศไทยเริ่มมีตัวอย่างดีๆของธุรกิจสร้างคุณประโยชน์สังคมมากขึ้น แต่ก็ยังขาดปัจจัยบางอย่าง เช่นการสนับสนุนให้มีวิสาหกิจเพื่อสังคมให้มากขึ้นนั้น นอกจากการให้ความรู้ การช่วยการจัดการแล้ว บางครั้งธุรกิจขนาดใหญ่ก็อาจจะพิจารณาช่วยสนับสนุนเงินทุนบ้างเพื่อให้เขาเติบโตได้

ส่วนคุณพฤฒิ เกิดชูชื่น กรรมการผู้จัดการบริษัทแดรี่โฮม ซึ่งผลิตและจำหน่ายนมออแกนิกส์ และทำร้านอาหารออแกนิกส์ ที่ มวกเหล็ก สระบุรี ให้ความเห็นว่า ความประทับใจหนึ่งคือ เห็นพลังทำงานของคนหนุ่มสาวไต้หวัน ที่มาช่วยขับเคลื่อนการรวมพลัง และขับเคลื่อน BCorp ซึ่งคึกคักและเยอะมากแต่ละส่วนมีความตื่นตัวที่จะแบ่งปันทำให้สังคมมันดีขึ้น มีความพยายามชักชวนกันทำให้สังคมมันดีขึ้นได้ โดยไม่แบ่งว่าเป็นองค์กรเล็กองค์กรใหญ่คือทำได้ทั้งหมด SEก็ทำได้ SMEsก็ทำได้ เพื่อเป้าหมายเดียวกันคือทำให้โลกมันน่าอยู่ขึ้น

คุณวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เล่าว่า ได้เห็นแนวคิดใหม่ๆ โดยเฉพาะเรื่องของการเป็น Network ทั่วโลก ในการทำธุรกิจเพื่อให้เกิดผลกระทบที่ดีทางสังคม และได้เห็นเครือข่ายขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นโดยคนหนุ่มสาว รวมถึงคนที่เห็นคุณค่าของการอยู่ร่วมกันในโลกนี้ให้เกิดความสุขอย่างยั่งยืน

ด้านนักวิชาการ ดร. สันติ เติมประเสริฐสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมองว่า BCorpเป็นโอกาสที่ดี และสามารถนำมาใช้เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ของผู้ประกอบการใหม่ๆได้ เพราะการใช้ BCorpจะเป็นเหมือนตัวการันตีคุณภาพว่าธุรกิจเพื่อสังคมของเราได้มาตรฐานเช่นเดียวกับธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศอื่นๆในด้านการศึกษา เมื่อมีความตื่นตัวในเรื่องนี้ ก็คงจะต้องมีการบรรจุ เรื่องการประเมินผลกระทบทางสังคมในหลักสูตรให้มากขึ้น

ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า แนวคิดพลังธุรกิจเปลี่ยนแปลงสังคม BCorpในประเทศไทยจะถูกขับเคลื่อนเพื่อสร้างผลกระทบที่ดีและสานสุขให้สังคมต่อไปอย่างไร