ทำ SE ไม่ต้องรอกฎหมาย

ทำ SE ไม่ต้องรอกฎหมาย

แม้ในบ้านเรา จะมีความเคลื่อนไหวของการประกอบวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise -SE) มานาน แต่ก็ยังไม่ On ในระดับที่จะสร้างผลกระทบต่อสังคม

เหตุผลที่ถูกยกมาอ้างถึงความไม่คืบหน้าของการพัฒนา SE มาโดยตลอด คือ การที่ไม่มีกฎหมายรองรับสถานะของกิจการประเภท SE จึงทำให้ไม่เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบการในลักษณะดังกล่าว

การผลักดันเรื่องการพัฒนา SE ของไทย จึงไปฝากความหวัง (ทุกสิ่งอย่าง) ไว้กับการคลอด พรบ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม

ผมเป็นคนหนึ่ง ที่ไม่เชื่อว่า อุปสรรคดังกล่าว มาจากเรื่องกฎหมาย และแม้การมีกฎหมายรองรับสถานะของ SE จะเป็นเงื่อนไขหนึ่ง แต่มิใช่ปัจจัยหลักของการพัฒนา SE ไปสู่ฝั่งฝันได้

เพราะอะไรหรือครับ โดยส่วนตัว ผมมองว่าพื้นฐานของ SE ไม่ได้แตกต่างจาก SME ที่ใช้รูปแบบทางธุรกิจในการประกอบการ คือ ต้องมีการผลิตสินค้า สร้างบริการ หาตลาด หาลูกค้า ขายหรือให้บริการ และมีกำไร เลี้ยงตัวเองให้อยู่รอดได้

วันนี้ ใครที่ต้องการประกอบกิจการหรือดำเนินการเพื่อสังคม ก็สามารถตั้งบริษัท เพื่อทำธุรกิจ โดยมีความมุ่งประสงค์ทางสังคม หรือ Social Purpose ที่จะแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อม ภายใต้สถานะกิจการแบบ SME ได้

วิธีคิดของผู้ประกอบการสังคม คือ แทนที่จะผลิตสินค้าหรือสร้างบริการที่ตอบสนองต่อกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในแบบธุรกิจหากำไรทั่วไป ก็ปรับให้เป็นการออกแบบสินค้าหรือบริการของตน ให้ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนหรือสังคมกลุ่มเป้าหมาย หรือตอบสนองต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเด็นที่ตนเองต้องการเข้าไปแก้ไขและพัฒนา

และแทนที่จะกำหนดส่วนตลาด (Market Segment) ที่เป็นกลุ่มลูกค้าทั่วไปในแบบธุรกิจปกติ ก็พิจารณาให้น้ำหนักในส่วนตลาดที่ยังมิได้รับการตอบสนอง (Unserved Market) หรือที่ยังตอบสนองได้ไม่เต็มที่ (Underserved Market) เช่น การออกแบบและพัฒนาสินค้าและบริการตามกำลังซื้อของคนในระดับฐานราก เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตหรือความจำเป็นขั้นพื้นฐาน

ทั้งหมดที่ว่านี้ จริงๆ ไม่มีข้อห้ามในกฎหมายข้อใด ที่การจดทะเบียนแบบ SME จะทำธุรกิจช่วยเหลือชุมชน สังคม ในแบบเดียวกับที่ SE ทำ ไม่ได้

อ้าว แล้วเรายังต้องการกฎหมาย SE ไปเพื่ออะไรครับ

มี 2 ข้อหลัก ครับ ข้อแรก คือ สิทธิประโยชน์ทางภาษี พูดง่ายๆ คือ ต้องการเว้นภาษี เพราะการทำ SE เป็นการประกอบกิจการหรือการดำเนินการเพื่อสังคมส่วนรวม ข้อสอง คือ การอุดหนุนจากภาคส่วนต่างๆ หลักๆ คือ จากภาครัฐ เพราะการทำ SE ให้สำเร็จนั้น ยากกว่าทำธุรกิจทั่วไป ตรงที่การเข้าถึงตลาดมีความหินกว่า ลูกค้ามีกำลังซื้อต่ำกว่า จึงต้องมีการให้แต้มต่อ เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้เข้ามาประกอบการในแบบ SE มากขึ้น

เรื่องการเว้นภาษีของ SE ผมขออนุญาตใช้ตรรกะว่า ในเมื่อคิดจะมาเป็นผู้ประกอบการสังคม การเสียภาษี คือ หน้าที่ของผู้ประกอบการภาคเอกชน ที่จะจัดสรรกำไรส่วนหนึ่งให้แก่รัฐ เพื่อทำหน้าที่ดูแลพัฒนาสังคมส่วนรวมแทนเรา การเสียภาษี จึงเป็นบทบาทที่พึงกระทำของผู้ประกอบการสังคมอยู่แล้ว (ส่วนรัฐ จะเอาเงินภาษี ไปบริหารจัดการ ดูแลพัฒนาสังคม อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ต้องปรับแก้ที่ตรงนั้น ไม่เกี่ยวกับว่า หากรัฐบริหารจัดการไม่ดี เราเลยจะเลี่ยงจ่ายภาษี)

ส่วนเรื่องการอุดหนุนให้แก่ SE ผมขออนุญาตใช้ตรรกะว่า ถ้าจะทำ SE ให้สำเร็จ ก็ต่อเมื่อต้องมีแต้มต่อหรือพึ่งพาการสนับสนุนจากภายนอกเป็นหลัก แสดงว่า SE ที่ได้รับการสนับสนุนนั้น อาจจะไม่สามารถอยู่รอดได้ด้วยตัวเอง หรือเป็นไปอย่างยั่งยืน (ความสำเร็จหรือความอยู่รอดของ SE ต้องเกิดจาก คน-ของ-โมเดลทางธุรกิจ จากภายในกิจการเป็นหลัก)

เมื่อใดที่การสนับสนุนที่ SE ได้รับนั้น ต้องมีอันยุติลง กิจการก็อาจไม่สามารถอยู่ต่อไปได้ หรือหากต้องการให้ดำเนินต่อไป ก็ต้องคงการสนับสนุนนั้นไปตลอด ซึ่งไม่ตอบโจทย์การพัฒนากิจการให้ไปสู่ความเข้มแข็งในระยะยาวได้

มาถึงตรงนี้ ท่านที่กำลังผลักดันเรื่องการส่งเสริม SE อาจแย้งว่า เราจำเป็นต้องส่งเสริมในช่วงเริ่มต้น เมื่อ SE ที่ตั้งขึ้นอยู่รอดแล้ว จะปล่อยให้เขาเติบโตได้ด้วยตัวเอง การส่งเสริมและสนับสนุนที่ว่านี้ ก็จะหันไปให้กับ SE ที่ยังไม่เข้มแข็งรายใหม่ๆ ต่อไป เป็นวงรอบ เพื่อขยายจำนวนกิจการ SE ให้เพิ่มมากขึ้น

ถ้างั้น เรามาส่งเสริม SME ที่มีกว่า 3 ล้านราย จากการทำธุรกิจหากำไรในแบบปกติ ปรับเปลี่ยนให้มีความมุ่งประสงค์ทางสังคม หรือ Social Purpose ที่จะแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อม ในแบบ SE (ที่ไม่ต้องยกเว้นภาษีเพิ่ม และไม่จำเป็นต้องได้รับการอุดหนุน เพราะอยู่รอดและแข็งแรงในระดับหนึ่งแล้ว) ทำได้ซัก 1% ก็ได้ 3 หมื่นรายแล้ว จะดีกว่าไหมครับ

การส่งเสริม SE ให้สำเร็จนั้น ต้องเริ่มจาก Mindset ของการเปิดวงให้มีผู้เล่นในแบบ Inclusive ไม่ใช่การขีดวงให้เกิดผู้เล่นในแบบ Exclusive หรือไม่