Energy Storage สร้างเสถียรภาพไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

Energy Storage สร้างเสถียรภาพไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

Energy Storage สร้างเสถียรภาพไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

เมื่อปลายเดือนก่อนผมนั่งรถเพื่อเดินทางไปต่างจังหวัด  ระหว่างที่นั่งไปผมก็มองข้างทางไปเรื่อยๆ สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตได้คือทางที่รถผมขับผ่านมีต้นไม้ข้างถนนที่โดนตัดหายไปเยอะมาก ตอนแรกก็คิดว่าคงจะมีการขยายถนนให้ใหญ่ขึ้น แต่เมื่อถึงปลายทางก็อดถามผู้ที่นัดกันไม่ได้ว่าทำไมต้นไม้ถูกตัดออกเยอะ จึงได้รับทราบว่าน่าจะมีคนรับจ้างตัดต้นไม้เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าชีวมวล เพราะกิ่งไม้ก็นำไปเป็นเชื้อเพลิงชนิดหนึ่งได้ อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าการตัดไม้ดังกล่าวเป็นการนำไปทำเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าจริงๆ หรือไม่

เรื่องนี้ทำให้อยากเล่าถึงการที่ประเทศต่างๆ มีการใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ แล้วทำให้เกิดเหตุการณ์ 2 เหตุการณ์ในระบบการจ่ายไฟฟ้า

อย่างแรกคือ เหตุการณ์ Duck Curve หรือในภาษาไทยเรียกว่าตกท้องช้าง คือ ในช่วงกลางวันกำลังผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าหลักจะลดต่ำลงระยะหนึ่ง เนื่องจากมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์มาเสริม หลังจากนั้นในช่วงกลางคืนกำลังผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าหลักจะกลับไปสูงขึ้นอีกครั้ง ทำให้ปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้ามีลักษณะเกิดการตกท้องช้างในช่วงกลางวัน

ส่วนเหตุการณ์ที่สอง คือ เหตุการณ์ความไม่แน่นอนของปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ขึ้นอยู่กับความเข้มและความต่อเนื่องของแสงแดดที่แปรเปลี่ยนไปในแต่ละช่วงทั้งในหน้าฝนหรือในช่วงที่ไม่มีแดด

สองเหตุการณ์นี้จึงเป็นที่มาของความคิดที่จะทำให้ระบบการจ่ายไฟฟ้ามีระบบที่เสถียรขึ้น โดยมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าแบบ “Firm” จากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน SPP-Hybrid Firm ที่รัฐเปิดโอกาสให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการที่มีการผสมผสานระหว่างโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์และชีวมวล เพื่อให้โครงการสามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยวันที่มีแดดจะใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากเซลล์แสงอาทิตย์ ส่วนในวันที่ไม่มีแดดก็จะผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล ซึ่งวิธีนี้ก็จะทำให้ไม่เปลืองวัตถุดิบในส่วนของชีวมวลมากนัก แต่ก็ยังมีความเสี่ยงว่าเราจะมีวัตถุดิบ เช่น เศษไม้เพียงพอหรือไม่ หรือเสี่ยงจะเกิดเป็นปัญหาใหม่ทำให้ต้องตัดกิ่งไม้ริมถนนไปใช้หรือไม่

ผมคิดว่าทางออกสำหรับการเพิ่มความ Firm ของไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ควรจะส่งเสริมการใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) มากกว่า เพราะเราสามารถเก็บพลังงานไว้ใน Energy Storage แล้วเอาช่วยจ่ายไฟฟ้าในช่วงที่โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์และลมไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ ซึ่งก็จะช่วยให้เกิดความ Firm ขึ้น

ระบบกักเก็บพลังงานที่ใช้สำหรับพลังงานหมุนเวียนตอนนี้มีหลายประเภท เช่น การใช้โรงไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับร่วมกับโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ หรือแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (Lithium Ion Battery) ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ เช่นที่เพิ่งมีข่าวว่าจะมีการติดตั้งแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่รัฐ Southern Australia โดยการที่แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนได้รับความนิยมมากขึ้นในตอนนี้เป็นเพราะได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและมีราคาถูกลงเรื่อยๆ เป็นอานิสงส์มาจากการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน ที่แทบจะทุกค่ายรถยนต์ไฟฟ้านั้นมีการใช้แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเป็นแหล่งพลังงานหลักของรถแทบทั้งสิ้น

รัฐบาลจึงควรจะมีกลไกสนับสนุนที่เหมาะสม เพื่อช่วยผลักดันให้เกิดการใช้ Energy Storage อย่างแพร่หลายและทำให้การลงทุนของโครงการสามารถแข่งขันได้เร็วขึ้น ซึ่งหากผลักดันให้มีการใช้ Energy Storage ในประเทศไทยในวงกว้างได้จริงก็น่าจะช่วยเพิ่มความ Firm ให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ในระยะยาว และยิ่งทำให้เราสามารถเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยได้สูงขึ้นด้วย

ที่สำคัญคือเราควรจะมีการพัฒนาระบบส่งจ่ายไฟฟ้าเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถที่จะบริหารระบบไฟฟ้าย้ายอิเล็กตรอนจากจุดที่ไม่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าไปยังจุดที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสูง พร้อมทั้งเร่งพัฒนาระบบบริหารการส่งจ่ายไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมให้มีการกระจายตัวของโรงไฟฟ้าไปยังบริเวณใกล้ผู้ใช้ไฟมากขึ้น (Distributed power supply) หรือมีการจัดกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กที่อยู่ใกล้ๆ กัน (Virtual power supply) เพื่อให้สามารถบริหารการจ่ายไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็กได้ดีขึ้น

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ควรจะต้องมีนโยบายสนับสนุนระยะยาว เหมือนกับเมื่อสิบปีก่อนที่ภาครัฐให้การสนับสนุนการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ที่ทำให้ในวันนี้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ระดับเอเชีย สิ่งที่ผมกล่าวข้างต้นจะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มากยิ่งขึ้น