ก้าวต่อไปการศึกษาไทยผ่านเลนส์“ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น”

ก้าวต่อไปการศึกษาไทยผ่านเลนส์“ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น”

ทุกวันนี้ใครๆ ก็พูดกันว่าโลกของเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ด้วยอิทธิพลของเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นคลาวด์ เอไอ หรือการสร้างสรรค์โลกเสมือนจริง

จนทำให้ “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น (Digital Transformation)” กลายเป็นคำติดปากไปโดยปริยาย...

แน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นอยู่แต่ในโลกธุรกิจหรือชีวิตประจำวันทั่วไปเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงภาคการศึกษา ทั้งในและนอกห้องเรียน ขณะเดียวกันยังมีผลกระทบที่กว้างขวางเกินกว่าที่หลายคนคิดไว้

ยกตัวอย่างกันง่ายๆ กับเรื่องของการหัดเล่นกีฬา แน่นอนครับว่าหากเด็กคนหนึ่งต้องการจะตีเทนนิสอย่างจริงจัง เขาก็คงต้องไปหัดเรียนจากครูตัวจริงกันบนคอร์ท แต่หากเราพูดถึงแค่ทักษะหรือเทคนิคเฉพาะด้านบางอย่าง เด็กก็สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้จากการหาดูวีดิโอที่อัพโหลดอยู่บนเว็บไซต์ต่างๆ โดยไม่ต้องออกจากบ้านเสียด้วยซ้ำ

นอกจากจะทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นนอกห้องเรียนได้ทุกเวลาแล้ว เทคโนโลยียังเข้ามาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกระบวนการการเรียนรู้ จนทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้จากแพลตฟอร์มอื่นๆ ได้ทุกเวลาและง่ายดาย ดังนั้นบุคลากรครูและสถานศึกษาเองจึงต้องหันมาพิจารณากันใหม่ว่าภาคการศึกษาในปัจจุบันใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ในมือได้ดีพอหรือยัง?

หากมองกันในด้านระบบ เราต้องเริ่มพัฒนาการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ที่เข้ากับพฤติกรรมและความสนใจของคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในชีวิตประจำวันอย่างโซเชียลเน็ตเวิร์คและดีไวซ์รูปแบบใหม่ที่มีความคล่องตัวสูง หรือนวัตกรรมที่ดูอย่างกับหลุดออกมาจากหนังอย่างเอไอ รวมไปถึงโลกเสมือนจริงแบบผสมผสาน (Mixed Reality) 

ยกตัวอย่างเช่น สถานศึกษาแห่งหนึ่งในฮ่องกง ที่ได้ทดลองนำเทคโนโลยีเอไอมาพัฒนาเป็นบอทเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยครู คอยตอบคำถามของนักเรียน จนสามารถทำคะแนนการประเมินผลความพึงพอใจได้ดีกว่าผู้ช่วยครูที่เป็นมนุษย์ 

ขณะที่มหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกานำอุปกรณ์ “Mixed Reality” อย่าง “โฮโลเลนส์ (HoloLens)” มาเสริมการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์ด้วยภาพโฮโลกราฟฟิกสามมิติ เพื่อเสริมศักยภาพการเรียนรู้จากการจำลองเหตุการณ์จริง

ส่วนในด้านบุคลากร ทั้งครูผู้สอน ผู้บริหารสถานศึกษาต้องหันมาพิจารณาถึงบทบาทของตนเองที่เปลี่ยนแปลงไป ในยุคที่การสอนความรู้พื้นฐานหรือเนื้อหาแบบท่องจำอาจไม่จำเป็นต้องมีมนุษย์มาเป็นสื่อกลาง ครูอาจารย์อาจต้องหันมาทำหน้าที่เป็นโค้ช เพื่อแนะนำทิศทางในการพัฒนาฐานความรู้และฝึกให้เด็กๆ มีทักษะที่สำคัญสำหรับความสำเร็จในอนาคต เช่น การแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อน 

นอกจากนี้ การป้อนเนื้อหาตามหลักสูตรให้กับเด็กก็คงไม่เพียงพออีกต่อไป ในยุคที่นักเรียนนักศึกษาสามารถเลือกเข้าถึงเนื้อหาความรู้ได้ด้วยตนเอง หรือแม้แต่คิดค้นและประยุกต์ใช้นวัตกรรมใหม่เองได้

เทรนด์ต่างๆ เหล่านี้อาจฟังดูน่ากลัวสำหรับผู้ที่ทำงานในภาคการศึกษาจนบางคนคงเริ่มคิดว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่ครูในอนาคตเลยหรือไม่ ผมขอบอกตรงนี้เลยว่า อย่าเพิ่งแตกตื่นกันไปครับ เพราะไม่มีเทคโนโลยีไหนที่สามารถแทนที่ครูอาจารย์ที่มีวิสัยทัศน์และความทุ่มเทในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ 

แต่หากขาดวิสัยทัศน์นี้ไป เทคโนโลยีในโลกการศึกษาก็คงเป็นได้เพียงแค่ไม้เท้าที่ค้ำยันให้เรายืนไหว แต่ไม่สามารถพาเราเดินหน้าสู่ความสำเร็จได้อย่างที่ควรจะเป็น