F13 กับอนาคตฟินเทคของคนไทย

F13 กับอนาคตฟินเทคของคนไทย

F13 กับอนาคตฟินเทคของคนไทย

เรามาถึงวันที่ผู้ประกอบการฟินเทคต่างประเทศเข้ามาเหยียบหน้าประตูบ้าน ไม่ใช่สิ เข้ามาถึงในบ้านเรากันแล้วนะครับ วันก่อนเดินผ่านทั้ง Booth และ Seven Eleven ต่างก็รับ Alipay เป็นที่เรียบร้อย แถมในสมรภูมิ e-Commerce ก็ดูเหมือน Lazada จะเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ การซื้อขายของทุกวันนี้ก็ทำผ่าน Social Media กันมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะทาง LINE ซึ่งก็หนีไม่พ้น LINE Pay หรือ Rabbit LINE Pay ที่ใช้เป็นเครื่องยนต์หลักในการทำธุรกรรม แล้วทำอย่างไรเราถึงจะมีผู้ประกอบการฟินเทคคนไทย ได้ทำผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นที่นิยมกันบ้าง

ยุคของการทดสอบและพัฒนา

เดิมเราจะได้ยินคำว่า “วิจัยและพัฒนา (Research & Development” คือการวิจัยและทดสอบผลิตภัณฑ์กันในห้องทดลอง เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ แต่วันนี้ในยุคดิจิทัล เรามาถึงยุคของการ “ทดสอบและพัฒนา (Testing & Development)” นั่นคือการทดสอบผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ กับผู้ใช้งานจริง และนำผลที่ได้รับไปใช้ในการปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป

ยังจำหน้าตาเวบไซต์หรือแอพ facebook เมื่อ 5 ปีที่แล้วกันได้มั้ยครับ วันนั้น ๆ หลัก ๆ มีแต่ news fees หรือเพจก็เพิ่งจะเริ่มมี และมี feature ไม่กี่อย่าง แต่สิ่งที่ facebook )ทำต่อเนื่องคือการทดสอบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวเองกับผู้ใช้งานจริง อันไหนคนชอบก็ขยายผล อันไหนคนไม่ชอบก็ยกเลิกไป จนมาวันนี้ มีทั้ง facebook LIVE, ตลาดซื้อขายของ, facebook workplace ฯลฯ จนทำให้ facebook พัฒนากลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ลำดับต้น ๆ ของโลก

หรือลองดู google สิครับ ทดสอบและพัฒนาผลิตภัณฑ์มาแล้วนับร้อยนับพัน หลาย ๆ อันก็ล้มหายตายจาก หรือไม่ได้รับความนิยมอย่าง google buzz, google wave หรือแม้กระทั่ง google+ แต่ด้วยการลองผิดลองถูกนี่ล่ะครับ ที่นำมาซึ่งการเกิดขึ้นของผลิตภัณฑ์ระดับโลก อย่าง Gmail, google maps หรือ Android

ผม และกรรมการสมาคมฟินเทคประเทศไทย ได้มีโอกาสได้ไปดูการพัฒนาอุตสาหกรรมฟินเทคในหลาย ๆ ประเทศ พบว่าการ “ทดสอบและพัฒนา” คือสิ่งสำคัญจริง ๆ ครับ อย่างกรณีของสิงค์โปร์ ทางรัฐบาล และหน่วยงานการกำกับดูแลมีการใช้งบประมาณมหาศาลหลายพันล้านบาท ในการอำนวยความสะดวกให้เกิดการทดสอบและพัฒนาโครงการฟินเทคจำนวนมาก ผ่าน BASH (ดู www.sginnovate.com/about/bash) หรือโครงการ MAGIC ของรัฐบาลประเทศมาเลเซีย (ดู https://mymagic.my/) รวมไปถึงโครงการของภาคเอกชนเอง เช่น Level 39 ของประเทศอังกฤษ (ดู www.level39.co/) หรือ Boston Sandbox ของประเทศอเมริกา (http://fintechsandbox.org/) ทั้งหมดล้วนเป็นโครงการที่เกื้อหนุนการ “ทดสอบและพัฒนา” ทั้งสิ้น

F13 – ศูนย์ทดสอบและพัฒนาฟินเทคแห่งชาติ
ศูนย์พัฒนาฟินเทคแห่งชาติ หรือ F13 ตั้งอยู่ที่ชั้น 13 ตึก KX (Knowledge Exchange) มีพื้นที่ประมาณ 300 ตารางเมตร โดยจะเป็นแหล่งทดสอบและพัฒนาบริการฟินเทค และสร้างบุคลากร ทีมงาน ให้มีความรู้ความสามารถมากขึ้น และพร้อมกับการแข่งขันในตลาด โดยจะมีระบบไอทีเพื่อสนับสนุนให้ผุ้ประกอบการฟินเทคได้เข้าถึงเทคโนโลยีระดับโลก ทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที และ API สำหรับการเชื่อมการทำงานบนเทคโนโลยีใหม่ ๆ และแหล่งข้อมูลที่สำคัญ

นอกจากนี้ยังมีการทำ Business Matching ระหว่างธนาคารกับผู้ประกอบการฟินเทค เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรมการเงินใหม่ๆ ตลอดจนการรับหน้าที่เป็นตัวกลางในการทำงานร่วมกับหน่วยผู้กำกับดูแลอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เพื่อให้กระบวนการต่างๆมีความสะดวกและง่ายมากขึ้น

โดยศูนย์ทดสอบและพัฒนาฟินเทค F13 มีองค์ประกอบหลัก 4 ด้าน ดังนี้

1. พันธมิตรทางธุรกิจ ภายในศูนย์ F13 จะรวบรวมพันธมิตรจากหลากหลายอุตสาหกรรมเข้ามาช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการฟินเทคสามารถสร้างนวัตกรรมการเงินใหม่ๆออกมาสู่ตลาดได้ โดยขณะนี้มีการจับมือกับไอบีเอ็มประเทศไทย ในการนำแพลตฟอร์ม Bluemix ซึ่งเป็นคลาวด์แพลตฟอร์มที่รวมเอาเทคโนโลยีล้ำสมัยของโลกรวมไว้ในที่เดียว เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีอย่าง Blockchain, Cognitive Computing หรือ Big Data ได้อย่างง่ายดาย

2. ธนาคารและสถาบันการเงิน ศูนย์ F13 จะมีการทำงานร่วมกับธนาคารสถาบันการเงิน เพื่อช่วยกันผลักดันให้ผู้ประกอบการด้านฟินเทคให้สามารถคิดค้นและพัฒนาบริการออกสู่ตลาดได้

3. ผู้ใช้จริง ศูนย์ F13 จะเป็นพื้นที่ที่เปิดให้ผู้ประกอบการฟินเทคสามารถทดสอบบริการต่างๆกับผู้ใช้จริงจำนวนหนึ่งได้

4. หน่วยงานกำกับดูแล ศูนย์ F13 จะทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลทั้ง ธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เพื่อให้ผู้ประกอบการฟินเทคสามารถที่จะดำเนินการตามระเบียบข้อบังคับได้อย่างถูกต้องตามที่กฏหมายกำหนด และอำนวยความสะดวกในการเข้าร่วม Regulatory Sandbox ของหน่วยงานกำกับดูแล

อุตสาหกรรมฟินเทคจะมีมูลค่าสูงหลัก ล้านล้านบาท ใน 5-10 ปีข้างหน้า เห็นได้จากแนวโน้มของผู้บริโภคที่หันมาใช้บริการฟินเทคกันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยภารกิจสำคัญของสมาคมฟินเทคก็คือการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการฟินเทคไทยมีโอกาสในการเติบโตและเพิ่มจำนวนมากขึ้นเพื่อแข่งขันกับฟินเทคจากต่างชาติที่ปัจจุบันเริ่มเข้ามาแข่งขันในตลาดประเทศไทยแล้ว นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการเข้าถึงบริการทางการเงินและการลงทุนใหม่ๆได้มากขึ้นด้วย

หากท่านใดที่เป็นผู้ประกอบการฟินเทค หรือสนใจร่วมโครงการ F13 สามารถติดต่อได้ที่ [email protected] หรือเฟสบุ๊ค Thai FinTech Association ขอบคุณครับ